วิกฤติหนัก! เตียงผู้ป่วยโควิด-19 เต็มต้องทำอย่างไร? เอาตัวรอดด้วยวิธีไหนหากติดโควิด-19

เตียงผู้ป่วยโควิด

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเฉลี่ย 4,000 – 5,000 คนต่อวัน ส่งผลให้ประเทศไทยในตอนนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 270,921 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 2,147 ราย (ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เมื่อวันที่ 2 ก.ค.64)

         โดยในช่วงแรกผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อมักเป็นผู้ที่มาจากต่างประเทศหรือมาจากพื้นที่เสี่ยง แต่ปัจจุบัน แทบจะทุกจุดในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น จึงมีโอกาสสูงที่เราหรือคนใกล้ชิด อาจจะได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว แล้วถ้าติดโควิด ต้องทำอย่างไร? ต้องติดต่อที่ไหน? ยิ่งในสถานการณ์ขาดแคลน เตียงผู้ป่วยโควิด แบบนี้ ถ้าไม่มีเตียงรองรับจะทำอะไรได้บ้าง? บทความนี้มีคำตอบค่ะ

สารบัญ

สินค้า COVID ลดราคา สั่งซื้อผ่านไลน์ คลิก

ติดโควิด ต้องทำอย่างไร? ติดต่อที่ไหน? ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

         แน่นอนว่า การดูแลรักษาตนเองไม่ให้ติดโควิดนั้น เป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการไหนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ดังนั้น ทุกคนยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อเสมอ ซึ่งหากติดเชื้อโควิดขึ้นมา เคยสงสัยไหมคะว่า เราต้องทำอย่างไรต่อ? เดินทางไปโรงพยาบาลได้เองไหม? ต้องติดต่อหน่วยงานไหน?

เตียงผู้ป่วยโควิด

         หลังจากที่มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่รับตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว หากผลตรวจออกมาพบว่าติดเชื้อโควิด โรงพยาบาลหรือหน่วยงานนั้น จะโทรติดต่อกลับมาแจ้งผล เพื่อให้ผู้ติดเชื้อนั้นทำการกักตัวแยกจากผู้อื่น และควรชี้แจงไทม์ไลน์ของตัวเองในช่วง 14 วันก่อน ให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือเคยใกล้ชิดกันในช่วงเหล่านี้ทราบ เพื่อที่จะได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดและกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

         ในระหว่างนั้น ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยงานจะมีการส่งรถพยาบาลมารับ เพื่อนำตัวไปทำการรักษาค่ะ ซึ่งในช่วงที่รอรถพยาบาลมารับนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้แนวทางในการปฏิบัติตัวไว้ดังนี้ค่ะ

หลังทราบว่าติดโควิด-19 ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • เตรียมเอกสารสำคัญให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
  • โทร 1330 (สำนักงานหลักประกันสุขภาพ), 1668 (กรมการแพทย์) หรือ 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) เพื่อแจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตน หรือกรอกข้อมูลในไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต)
  • งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด (ฝ่าฝืนมีโทษผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34)
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว หากเป็นไปได้ให้แยกห้องน้ำกับผู้อื่น
  • หากมีไข้สูงให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้

         ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อธิบายว่าทางภาครัฐ ได้มีการแบ่งอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เตียงสีเขียว เตียงสีเหลือง เตียงสีแดง ตามระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย เพื่อให้สามารถจัดสรรเตียงผู้ป่วยให้ได้อย่างเหมาะสม

  1. กลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการโควิด-19 หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น มักเป็นผู้ป่วยที่มาจากการไปค้นหาในชุมชน (การตรวจเชิงรุก) หรือตรวจในระบบบริการ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจส่วนล่าง ทางภาครัฐจะนำตัวผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือใน Hospitel (โรงแรมที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานพยาบาลเฉพาะกิจ)
  2. กลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเจ็บป่วย แต่ไม่รุนแรงมากนัก โดยมักมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว และเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงในอนาคต เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ (ทำไมผู้สูงอายุถึงเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่น ๆ Click!!!) หรือเป็นผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ เป็นต้น
  3. กลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง โดยจะมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 96% หรือมีการลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% หลังออกแรง (โดยเทียบกับค่าออกซิเจนก่อนออกแรง)
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด จำเป็นอย่างไรในยุคโควิด-19 คลิกอ่านเลย!

หากต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ควรเตรียมอะไรไปบ้าง?

  • เสื้อผ้าจำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนวันที่เข้าพักรักษา
  • จัดเตรียมของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู แปรงสีฟัน และในผู้หญิงให้เตรียมผ้าอนามัยติดไว้ด้วย
  • ยารักษาโรคประจำตัว ข้อมูลส่วนตัว และประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม (ถ้ามี)
  • โทรศัพท์มือถือและสายชาร์จ สำหรับติดต่อสื่อสารขณะรักษาตัว
  • สามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้
  • หากระหว่างเตรียมตัว มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือสายด่วน 1422, 1668

ดูแลตนเองอย่างไร หาก เตียงผู้ป่วยโควิด-19 เต็ม!?

         โดยปกติแล้ว หากมีการแจ้งผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ทางโรงพยาบาลที่รับเรื่อง จะส่งรถพยาบาลมารับผู้ป่วยเพื่อไปทำการรักษาภายใน 1-2 วัน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันละหลายพันคนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเตียงผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยต่อจำนวนผู้ป่วยนั้นไม่เพียงพอ ทำให้ในช่วงนี้มีผู้ป่วยโควิดที่กำลังรอเตียงว่างมากกว่า 400 – 500 ราย (มิถุนายน 64)

ติดโควิดทำยังไง

         กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้จัดทำ สายด่วนเฉพาะกิจกรมการแพทย์ 1668 ทำงานคู่ขนานกับสายด่วน สปสช. 1330 เพื่ออำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยวิด เพื่อให้คลายความกังวลและให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น รวมทั้งประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลต่อไป

วิธีดูแลตนเองในขณะที่กำลังรอเตียงผู้ป่วย (คำแนะนำจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)

  • กักตัวในห้องส่วนตัว ไม่อยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่หากจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่มีห้องส่วนตัวแยก ให้เปิดหน้าต่างไว้ เพื่อให้อากาศถ่ายเทมากที่สุด
  • หากระหว่างกักตัวจำเป็นต้องออกมานอกห้องหรือต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่กดลิฟต์ด้วยมือโดยตรง ควรใช้ปากกาหรือวัสดุอื่น ๆ  เป็นที่กดลิฟต์ และไม่ยืนพิงลิฟต์หรือสัมผัสลิฟต์
  • กรณีอยู่คอนโด อพาร์ทเมนท์ หรือที่พักที่มีผู้อื่นร่วมด้วย ให้แจ้งเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 กับนิติบุคคล
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว เช่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร แก้วน้ำ หากสั่งสินค้า Delivery ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้ง ไม่ควรรับส่งของโดยตรงกับผู้อื่น
  • แยกขยะ หากเป็นไปได้ควรแยกการใช้ห้องน้ำกับผู้อื่น แต่ในกรณีที่แยกไม่ได้ ให้พยายามใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างห้องน้ำหลังใช้ทุกครั้ง
  • ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย
  • ดูแลตนเองให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวัน ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง พยายามทำจิตใจให้สบาย เพื่อลดความวิตกกังวล
  • หากมีอาการเจ็บป่วยมากหรือรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ให้ติดต่อสายด่วน 1669 , 1668 , หรือโหลดแอปพลิเคชัน EMS 1669 เพื่อกดเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน

การมีเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจะช่วยให้ผู้ที่รอเตียงสามารถประเมินความรุนแรงของอาการได้ โดยดูจากค่าออกซิเจนที่วัดได้ หากต่ำกว่า 90% ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ติดโควิดทำอย่างไร

หากเตียงผู้ป่วยโควิดเต็ม แต่มีอาการเจ็บป่วยให้ดูแลเบื้องต้นดังนี้ (ข้อมูลจากแฟนเพจ เราต้องรอด)

1.ไข้ขึ้นสูง (มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส)

  • พักผ่อนมาก ๆ อย่างน้อย 7-8 ชม. ต่อวัน
  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาดเพียงพอ สังเกตจากปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน
  • ทานยาพาราเซตามอล ทุก 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1 เม็ด หรือตามน้ำหนักตัว
  • เช็ดตัวเพื่อลดไข้

2.มีอาการไอ

  • หลีกเลี่ยงการนอนราบ ให้นอนตะแคงหรือนอนหมอนสูง
  • รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ
  • จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น (ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนดื่มเด็ดขาด)

3.หายใจลำบากหรือหายใจไม่สะดวก

  • เปิดหน้าต่าง พยายามอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก
  • นั่งหลังตรง ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่ เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ทางจมูก และผ่อนลมหายใจทางปาก (เหมือนเป่าเทียน)
  • พยายามไม่เครียดหรือวิตกกังวล
  • เวลานอนให้นอนในท่าตะแคง หรือนอนหมอนสูง

4.มีอาการท้องเสียและอาเจียน

  • งดอาหารประเภท นม โยเกิร์ต ผลไม้สด และอาหารย่อยยาก
  • ชงเกลือแร่ ผสมน้ำสะอาดต้มสุก จิบเรื่อย ๆ ทั้งวัน (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
  • หากรับประทานอาหารไม่ได้ ให้พยายามรับประทานน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง

รู้จักกับ Home Isolation มาตรการรับมือใหม่ในกรณี เตียงผู้ป่วยโควิด เต็ม

         ในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 64 นี้ ประเทศไทยประสบวิกฤตการขาดแคลนเตียงผู้ป่วย แม้แต่ห้องไอซียูก็ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอเตียงมากมาย

         ทางภาครัฐจึงได้มีมาตรการในการรักษาผู้ป่วยโควิดแบบใหม่ เพื่อแก้วิกฤติขาดแคลนเตียงผู้ป่วยโควิด ด้วยมาตรการการรักษาแบบ “Home Isolation” หรือการให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แทนการใช้เตียงโรงพยาบาล โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

เตียงผู้ป่วยโควิด

เกณฑ์การคัดกรองผู้ป่วยเพื่อรักษาแบบ Home Isolation

  • ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี
  • เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว มีอาการเจ็บป่วยน้อยหรือไม่มีอาการเลย
  • ต้องพักอาศัยคนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน โดยมีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการกักตัว เช่น มีห้องนอนส่วนตัว มีห้องน้ำแยกการใช้งานจากคนอื่นในบ้าน เป็นต้น
  • หากมีโรคประจำตัว ต้องสามารถควบคุมอาการของโรคได้คงที่ และต้องไม่มีภาวะอ้วน ไม่ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยยินยอมที่จะแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด

         เมื่อผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ยินยอมที่จะเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation แล้ว แพทย์จะทำการส่งอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลตนเองมาให้ที่บ้าน คือ เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายและเครื่องวัดออกซิเจน ระดับ Medical Grade โดยจะมีทีมแพทย์คอยโทรสอบถามอาการวันละ 1 ครั้ง พร้อมให้คำปรึกษาเพิ่มเติม

         หากไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟ้าทลายโจรให้กับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยใดหรือมีโรคประจำตัว (ที่สามารถควบคุมได้) แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้แทน

         นอกจากนี้ยังมีบริการส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายในการรักษาที่โรงพยาบาล

ข้อปฏิบัติระหว่างรักษาแบบ Home isolation

  • ห้ามผู้อื่นมาเยี่ยมที่บ้าน และไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด
  • แยกห้องพัก ห้องน้ำ และของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น
  • ควรรับประทานในห้องของตนเองเพียงคนเดียว
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องออกจากห้องพัก
  • ล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์
  • แยกซักเสื้อผ้าและเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก

         สิ่งสำคัญในระหว่างรักษาแบบ Home isolation นั้น คือผู้ป่วยโควิดต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ วัดอุณหภูมิของตนเองทุกวัน หากมีอาการแย่ลง เช่น หอบ ไข้สูงลอย ไม่สามารถทำอะไรเองได้ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่โดยเร็ว

         และหากจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว พร้อมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีผู้ร่วมเดินทางมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อให้อากาศถ่ายเท

วิธีการรักษาแบบ Home isolation มีการเริ่มทดลองใช้กับโรงพยาบาลราชวิถี กับผู้ป่วยโควิดจำนวน 18 ราย โดยพบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 ราย มีอาการแย่ลง โดยถูกส่งกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแล้ว (29 มิถุนายน 64) อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ได้เริ่มถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่สีแดงเข้มอย่างกรุงเทพฯแล้ว


สรุป

         ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ สิ่งที่เรายังทำได้ดีที่สุดในตอนนี้คือการดูแลป้องกันตนเอง และหากเป็นไปได้ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน แม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดงได้ ซึ่งหากจำนวนผู้ป่วยกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้เตียงลดลง ปัญหาการขาดแคลนเตียงผู้ป่วยและห้องไอซียูนั้นก็จะลดลงเช่นกันค่ะ โดยหวังทางภาครัฐจะสามารถจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยทุกคนได้ในเร็ววันนะคะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup