บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สถานการณ์โควิด-19 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ ซ้ำร้าย วงการแพทย์ยังค้นพบโรค MIS-C ในเด็กที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทย พบโรคนี้ในเด็กหลายราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น มาทำความรู้จักว่า โรค MIS-C คือ อะไร เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็ก ๆ ในครอบครัวกันค่ะ
สารบัญ
- โรค MIS-C คือ อะไร? ทำไมเด็กถึงควรระวัง!
- โรค MIS-C มีอาการอย่างไร? หากเป็นแล้วรักษาได้ไหม?
- เด็กฉีดวัควีนได้ไหม? อันตรายหรือเปล่า?
โรค MIS-C คือ อะไร? ทำไมเด็กถึงควรระวัง!
โรค MIS-C คือ ภาวะที่ร่างกายของเด็กเกิดอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) เช่น ปอด หัวใจ ไต มักพบในเด็กที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ประมาณ 2-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยพบมากในเด็กอายุตั้งแต่ 5 – 19 ปี
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มีสมมติฐานว่า โรค MIS-C เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็ก มีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) โดยไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะหลายระบบ ในรายที่รุนแรงอวัยวะจะเกิดการล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
มีรายงานการพบโรค MIS-C ครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2563 โดยพบเด็กจำนวน 8 ราย เกิดอาการช็อกหลังจากป่วยเป็นโรคโควิด-19 อีกทั้งยังมีภาวะหัวใจล้มเหลว และมีค่าการอักเสบของอวัยวะในร่างกายสูงมาก ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) แต่รุนแรงมากกว่า
ต่อมาไม่นาน ในอีกหลายประเทศ พบว่ามีจำนวนเด็กที่มีอาการของโรคคาวาซากิสูงขึ้นผิดปกติ จากการตรวจสอบพบว่า เด็กเหล่านี้เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 มาก่อน โดยตรวจพบภูมิคุ้มกันของโรคโควิด-19 ในร่างกายสูง ซึ่งบ่งบอกว่าเคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว แต่คนป่วยบางคนอาจไม่รู้ตัว จึงอนุมานได้ว่า อาการของโรคคาวาซากิที่พบนั้น แท้จริงแล้วคืออาการของโรค MIS-C
ส่วนในประเทศไทยนั้น กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวว่ามีเด็กไทยป่วยเป็นโรค MIS-C ประมาณ 20 – 25 คน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2564) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แพทย์ได้มีการเน้นย้ำว่า ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หลังจากเด็กหายป่วยจากโรคโควิด-19 ด้วย
โรค MIS-C มีอาการอย่างไร? หากเป็นแล้วรักษาได้ไหม?
โรค MIS-C เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคคาวาซากิมาก แต่โรค MIS-C นั้นมีความรุนแรงมากกว่า หรือหากเป็นแล้วเด็กจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่านั่นเอง ซึ่งโรคคาวาซากินั้นมักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนโรค MIS-C นั้นมักพบในเด็กโตอายุ 5 – 19 ปี ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคโควิด-19
อาการและจุดสังเกตของโรค MIS-C (พบในเด็กเพิ่งหายป่วยจากโควิด-19)
- มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
- มีผื่นขึ้น มือ-เท้าแดง
- ตาแดง แต่ไม่มีขี้ตา
- ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
- หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันต่ำ
- ซึม รู้สึกตัวน้อยลง
- ช็อก มีอาการหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออาการหลอดเลือดสมอง
หากพบเด็กมีอาการข้างต้นมากกว่า 2 อาการขึ้นไป แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะปัจจุบัน โรค MIS-C ยังไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ทำได้เพียงแค่รักษาแบบประคับประคองตามอาการที่พบเท่านั้น หากรักษาไม่ทันเวลา ก็อาจตรายถึงขั้นเสียชีวิตสูงเลยค่ะ ดังนั้น แม้เด็กจะหายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ก็ยังไม่สามารถชะล่าใจได้นะคะ ต้องสังเกตและเฝ้าระวังอาการกันต่อไปค่ะ
เด็กฉีดวัควีนได้ไหม? อันตรายหรือเปล่า?
วิธีการป้องกันภัยร้ายอย่างโรค MIS-C ได้ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เด็กติดโควิด ซึ่งวิธีป้องกันโควิดก็สามารถทำได้เหมือนผู้ใหญ่เลยค่ะ คือการหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน หากจำเป็นต้องออกก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พยายามล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า เด็กสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?
มีงานวิจัยจากหลายประเทศในยุโรป ได้มีการอนุมัติให้สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 บางยี่ห้อให้กับเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้แล้ว โดยในอนาคตก็จะมีการพัฒนาวัคซีนให้ปลอดภัยมากขึ้นจนสามารถฉีดในเด็กที่อายุต่ำกว่านี้ได้ แต่ ณ ปัจจุบันยังคงแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก 12 ปีขึ้นไปได้ 2 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นชนิด mRNA ทั้งสองชนิด โดยจะเริ่มมีการนำร่องการฉีดวัคซีนให้เด็กครั้งแรก ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะนำให้ฉีดในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ
- เด็กที่เป็นโรคอ้วน (มี BMI มากกว่า 35 หรือมีน้ำหนักตั้งแต่ 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12-18)
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ฯลฯ
- มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาท พัฒนาการช้า หรือกลุ่มอาการดาวน์
ในประเทศไทยได้มีการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA อย่างจำกัด ดังนั้น เด็กที่มีความแข็งแรง มีความเสี่ยงน้อย หรือมีอายุน้อยกว่า 12 ปี จึงอาจจะยังไม่ได้รับวัคซีนในล็อตแรกนี้ ซึ่งระหว่างรอ ผู้ปกครองอาจพาเด็กเข้ารับวัคซีนที่ช่วยเสริมการป้องกันและลดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้แนะนำว่า หากมีโอกาสผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กมักได้รับเชื้อโควิด มาจากการใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในครอบครัวทั้งสิ้น ดังนั้น การป้องกันตนเองไม่ให้ติดหรือสัมผัสเชื้อ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันเด็กจากเชื้อโควิดนะคะ
วิธีที่ดีที่สุด คือการดูแลเด็กในครอบครัวให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ลดการกอดหอมเด็กทันทีเมื่อกลับมาจากนอกบ้าน สวมหน้ากากอนามัยให้เด็กทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และพยายามล้างมือบ่อย ๆ นะคะ
สรุป
โรค MIS-C เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ควรเฝ้าจับตามอง แม้ในตอนนี้จะยังไม่พบเด็กป่วยเป็นโรคนี้เยอะมาก แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทางที่ดีผู้ปกครองควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการของเด็กหายป่วยจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ส่วนเด็กที่ยังไม่เคยติดเชื้อนั้น ก็ควรป้องกันและฉีดวัคซีนเมื่อมีโอกาส เพื่อป้องกันภัยร้ายนี้ไว้ก่อนที่จะเกิดขึ้นนะคะ