สำหรับการระบาดของ โรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ทางภาครัฐได้ออก มาตรการเยียวยาโควิด-19 สำหรับประชาชนถึง 7 มาตรการด้วยกัน โดยมีทั้งมาตรการเก่าที่ใช้ในระลอกที่แล้วอย่าง เราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน ก็ได้มีการนำมาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้เพิ่มมาตรการใหม่ ๆ ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิ์ในการเยียวยานี้ เรามาดูกันว่ามาตรการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และทำอย่างไรเราถึงจะได้รับสิทธิ์นั้นกันค่ะ
สารบัญ
- เราชนะ – ม33 เรารักกัน และอีก 5 มาตรการเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- คนละครึ่ง เฟส 3 และอีก 3 มาตรการ เตรียมพร้อมเยียวยาหลังหมด เราชนะ – เรารักกัน
เริ่มแล้ว! “ เราชนะ – ม33 เรารักกัน ” และอีก 5 มาตรการเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการเยียวยาโควิด ที่ถูกนำมาใช้ในการระบาดระลอกที่ 1 – 2 อย่าง เราชนะ – ม33 เรารักกัน ยังคงอนุมัติให้ใช้ต่อเนื่องในระลอกที่ 3 นี้ อีกทั้งยังมีมาตรการใหม่เพิ่มเข้ามา เพื่อเยียวยาและบรรเทาภาระประชาชนได้หลายกลุ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลให้สามารถดำเนินการเยียวยาประชาชนได้ทันที นับตั้งแต่บัดนี้ (5 พ.ค.64) รวมทั้งสิ้น 7 มาตรการ
1.เราชนะ อนุมัติให้เพิ่มวงเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิ์เราชนะอยู่แล้ว (ผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ ยังไม่มีมติเปิดรับลงทะเบียนเพิ่มเติม) อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมตลอดโครงการเป็นเงินทั้งสิ้น 9,000 บาท (เดิม 7,000 บาท) โดยให้สิ้นสุดระยะเวลาการใช้จ่าย จากเดิมคือวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยจะโอนจ่ายให้ดังนี้
- ผู้ที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- วันที่ 21 พ.ค.2564 จำนวนเงิน 1,000 บาท
- วันที่ 28 พ.ค.2564 จำนวนเงิน 1,000 บาท
- ผู้ที่ใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
- วันที่ 20 พ.ค.2564 จำนวนเงิน 1,000 บาท
- วันที่ 27 พ.ค.2564 จำนวนเงิน 1,000 บาท
2.ม33 เรารักกัน มาตรการสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งอนุมัติให้เพิ่มวงเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิ์เรารักกันเดิม รวมทั้งขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเช่นเดียวกับโครงการเราชนะ ซึ่งจะโอนจ่ายเงินให้ในวันที่ 20 และ 27 พ.ค. 2564 รวมตลอดโครงการเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 บาท ส่วนประชาชนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์เรารักกัน ยังไม่มีมติให้เปิดรับลงทะเบียนเพิ่มเติมเช่นเดียวกับเราชนะ
3.ลดค่าไฟฟ้า – ค่าน้ำประปา สำหรับประชาชนที่อยู่บ้านพักอาศัยทั่วไป และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ โดยจะลดค่าไฟ – ค่าน้ำ ให้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2564 ดังนี้
- ค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป ใช้ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะได้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก หากเกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะได้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ค่าไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดเล็ก ได้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
- ค่าน้ำประปา สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ได้สิทธิ์ลดค่าน้ำประปา 10% เป็นเวลา 2 เดือน
4.สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีวงเงินสูงสุดรายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อปี มีระยะเวลาชำระคืน ไม่เกิน 3 ปี ปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก
5.พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ ตามความสมัครใจ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระและเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
6.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขยายระยะเวลาช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยลดเงินต้น เบี้ยปรับ อัตราดอกเบี้ย และชะลอการฟ้องให้กับลูกหนี้ตามที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
7.ชดเชยผู้ประกันตน ม.33 ที่ว่างงาน ทั้งจากการลาออกและถูกเลิกจ้าง เนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยจะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน โดยจะต้องส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน หรือใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน
“คนละครึ่ง เฟส 3” และอีก 3 มาตรการ เตรียมพร้อมเยียวยาหลังหมด เราชนะ – เรารักกัน
มาตรการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นมาตรการเยียวยาระยะที่ 1 ซึ่งดำเนินการจริงแล้ว โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 จะเริ่มใช้มาตรการเยียวยาในระยะที่ 2 โดยมีทั้งหมด 4 มาตรการด้วยกัน
1.คนละครึ่ง เฟส 3 แจกสิทธิ์เงินจำนวน 3,000 บาท ใช้จ่ายวันละไม่เกิน 150 บาท เริ่มใช้จริงในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยผู้ที่มีสิทธิ์อยู่แล้วในเฟส 1 และ 2 ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ให้กดยืนยันสิทธิ์ที่แอปพลิเคชันเป๋าตังได้เลย ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมต่อไป
2.เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมทั้งสิ้น 1,200 บาท โดยจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564
3.เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนเองได้ โดยจะให้สิทธิ์เป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาท ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 เช่นเดียวกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
4.ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นโครงการที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ สำหรับเยียวยาผู้ที่มี่รายได้ปานกลางถึงสูง โดยใช้จ่ายกับร้านค้า/บริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งร้านค้าต้องเข้าร่วมแอปพลิเคชันถุงเงิน ส่วนประชาชนใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยเมื่อใช้จ่ายจะได้เงินคืนในรูปแบบ E-Voucher หรือบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ ในมูลค่าไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน
สรุป
มาตรการเยียวยาโควิด-19 ในระลอก 3 นี้ รวมทั้งสิ้น 11 มาตรการด้วยกัน ซึ่งแต่ละมาตรการมีรายละเอียดการรับสิทธิ์และใช้สิทธิ์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ให้ติดตามข่าวสารและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิ์เยียวยาที่ประชาชนคนไทยทุกคน พึงได้รับนะคะ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์บริการข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี หรือเว็บไซต์ รัฐบาลไทย