หลายคนรู้ดีว่าการวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาคือการ “เจาะเลือด” ที่ต้องทำบ่อย ๆ มักทำให้รู้สึกเจ็บและเครียดจนไม่อยากทำ จึงเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่มาทดแทนการเจาะเลือด อย่างเครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด (CGM) แต่ปัจจุบันยังเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่แพร่หลาย แต่จะดีหรือไม่ดีนั้น มาพิจารณากันค่ะ
เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด คืออะไร?
เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด หรือ CGM (Continuous Glucose Monitoring) หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นเครื่องวัดน้ำตาลแบบแปะแขนเฉย ๆ แต่แท้จริงแล้วตัวเครื่องวัดน้ำตาล หรือเครื่องตรวจเบาหวานชนิดนี้ จะฝังเซนเซอร์เข้าไปใต้ผิวหนัง เพื่อวัดค่าน้ำตาลจากของเหลวระหว่างเซลล์ โดยส่วนมากจะฝังไว้บริเวณแขนหรือหน้าท้อง ลึกลงไปประมาณ 5 มิลลิเมตร
เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด จะสามารถแสดงผลแบบเรียลไทม์ได้ 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 7 วัน โดยจะต้องติดเครื่องไว้ตลอดเวลา (ใส่อาบน้ำได้) ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งผ่านบลูทูธไปยังมือถือ แล้วแสดงค่าและบันทึกผลผ่านแอปพลิเคชันของเครื่องตรวจเบาหวานยี่ห้อนั้น ๆ
ในขณะที่เครื่องตรวจเบาหวานแบบเจาะปลายนิ้ว หรือ BGM (Blood Glucose Monitoring) จะใช้วิธีเจาะตัวอย่างเลือดโดยตรงจากเส้นเลือดฝอยบริเวณปลายนิ้วมาทำการทดสอบ (DTX) ค่าที่ได้จึงมีความแม่นยำสูงมากกว่า ส่วนเรื่องของการแสดงผลและบันทึกค่า ก็สามารถทำได้ทั้งตัวเครื่อง หรือแอปพลิเคชันบนมือถือเช่นกัน (ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อ)
เปรียบเทียบเครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด ดีกว่าเจาะปลายนิ้วจริงเหรอ?
สำหรับใครที่ลังเลว่าจะใช้เครื่องวัดน้ำตาลประเภทไหนดี ระหว่างเครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด หรือแบบเจาะเลือดจะดีกว่า? บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสีย มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพว่าเครื่องตรวจเบาหวานแบบไหนที่เหมาะสมกับการใช้งานของคุณมากที่สุด
เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด CGM
ข้อดีของ CGM
- ไม่ต้องเจาะเลือด ใช้วิธีฝังเซนเซอร์ไว้ใต้ผิวหนัง
- อ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้แบบต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
- แสดงผลและบันทึกผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ
- ดูแนวโน้มค่าระดับน้ำตาลเพื่อปรับยาได้อย่างรวดเร็ว
- ใช้งานสะดวก แค่เพียงติดเครื่องที่แขนหรือหน้าท้อง โดยการติดหนึ่งครั้งอยู่ได้ 7-15 วัน
ข้อเสียของ CGM
- วัดกลูโคสจากของเหลว จึงมีความคลาดเคลื่อนสูง โดยเคลื่อนจากค่าระดับน้ำตาลจากวิธีเจาะปลายนิ้ว (BGM) อยู่ ±10-20% (ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ)
- ค่าน้ำตาลที่แสดงผล จะมีความ Delay จากค่าจริง 15-20 นาที
- ยังคงต้องมีการตรวจยืนยันผล ด้วยเครื่องตรวจเบาหวานแบบเจาะปลายนิ้วเสมอ
- จะต้องทำการเปลี่ยนตัวเซนเซอร์ทุกๆ 7-15 วัน และเปลี่ยนตัวส่งสัญญาณ (Transmitter) ทุก ๆ 1-2 ปี
- เสี่ยงต่อการแพ้ หรือติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ฝังเซนเซอร์ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ผิวแพ้ง่าย
- รู้สึกรำคาญ ไม่สบายตัว หรือเจ็บตรงบริเวณที่มีเครื่องติดอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรไปสัมผัส
- ราคาสูง และการหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากยังไม่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย
เครื่องตรวจเบาหวานแบบเจาะปลายนิ้ว BGM
ข้อดีของ BGM
- วัดกลูโคสจากเลือดโดยตรง จึงมีความแม่นยำสูง คลาดเคลื่อนจากผลตรวจในแลปโรงพยาบาลเพียง ±10-15% จึงเป็นวิธีการที่ได้รับความเชื่อถือที่สุด
- บันทึกผลการตรวจวัดเพื่อดูประวัติย้อนหลังภายในตัวเครื่อง และในบางรุ่นสามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชันบนมือถือได้
- เป็นวิธีการตรวจน้ำตาลที่ถูกเลือกใช้ในโรงพยาบาล (DTX) และสามารถตรวจด้วยตนเองได้ที่บ้าน
- หนึ่งเครื่องสามารถแบ่งใช้งานได้หลายคน (แต่ต้องแยกเข็มและแผ่นตรวจ)
- อายุการใช้งานยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับ CGM ที่ต้องเปลี่ยนตัวเครื่อง (Transmitter) ทุก 1-2 ปี
- แผ่นตรวจและเข็มหาซื้อง่าย สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าโรงพยาบาล ร้านยา และร้านอุปกรณ์การแพทย์ ทั้งหน้าร้านและออนไลน์
- ราคาและค่าใช้จ่ายค่อนข้างย่อมเยา
ข้อเสียของ BGM
- ต้องใช้ตัวอย่างเลือดจากปลายนิ้ว หากปรับระดับความลึกของปากกาไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด
- ไม่สามารถวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงได้ (แต่สามารถเลือกตรวจวัดได้บ่อยตามต้องการ)
เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด เหมาะกับคุณจริงหรือเปล่า?
นอกจากจะพิจารณาว่า เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือดและแบบเจาะเลือด อันไหนมีข้อดีข้อเสียมากกว่ากันแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ “ความเหมาะสมและความจำเป็น” เพราะผู้ที่ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนใช้เพราะเป็นโรคเบาหวาน บางคนใช้เพราะแค่ต้องการหาความเสี่ยงไว้ก่อน หรือบางคนใช้แค่ในช่วงระยะเวลาที่ตั้งครรภ์เท่านั้น
ซึ่งผู้ใช้งานแต่ละคนก็มีความเข้มงวดในการติดตามระดับน้ำตามที่ต่างกัน กล่าวโดยสรุปคือ เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด CGM นั้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องเช็กระดับน้ำตาลต่อเนื่องตลอดเวลา มักถูกใช้ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงมาก ทั้งนี้ ตามคู่มือแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน ได้แนะนำผู้ที่ควรใช้เครื่องวัดน้ำตาลไม่ต้องเจาะเลือดไว้ดังนี้
เครื่องตรวจเบาหวาน CGM เหมาะกับใครบ้าง
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ 2 ที่ได้รับการฉีดอินซูลินแบบเข้มงวดวันละหลายครั้ง และใช้อินซูลินปั๊ม แต่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย แม้จะมีการตรวจยืนยันผลด้วยเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว (BGM) อย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม
- ผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถสื่อสารได้เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยเด็กที่ต้องรับการฉีดอินซูลินแบบเข้มงวดวันละหลายครั้ง หรือใช้อินซูลินปั๊ม
- ผู้ป่วยเบาหวานที่เคยมีประวัติน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
- เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
สรุป
เครื่องตรวจเบาหวานไม่ต้องเจาะเลือด CGM เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการติดตามระดับน้ำตาลตลอดเวลาแบบเข้มงวด หรือเป็นผู้ที่มีภาวะน้ำตาลไม่คงที่ในระดับอันตราย ในขณะที่เครื่องตรวจเบาหวาน BGM เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องติดตามระดับน้ำตาลต่อเนื่องแต่ไม่เข้มงวด และผู้ที่ต้องการตรวจหาความเสี่ยงทั่วไป กล่าวโดยสรุปคือ หากไม่ใช่ผู้ป่วยเบาหวานอันตรายที่จำเป็นต้องติดตามระดับน้ำตาลแบบเข้มงวด แนะนำให้ใช้ BGM จะดีที่สุด