ปัญหา โรคกระดูกพรุน ในผู้สูงอายุ และแนวทางการดูแลอย่างเหมาะสม

โรคกระดูกพรุน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

          เมื่ออายุมากขึ้น มักจะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาเสมอ โดยเฉพาะปัญหาทางกายภาพ สภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมลง ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนอย่างเคย ในขณะที่ผู้สูงอายุบางราย มีอาการป่วยโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย ยิ่งทำให้การใช้ชีวิตยากมากขึ้นไปอีก ซึ่งผู้สูงอายุที่กระดูกพรุน ควรจะต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการเคลื่อนไหวร่างกาย จากภาวะของ โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน

สารบัญเนื้อหา

1. โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

2. สาเหตุการเกิดโรคกระดูกพรุน

3. การดูแลป้องกันโรคกระดูกพรุน

4. การรักษาโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน ในผู้สูงอายุ

         ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากที่สุดก็คือ ผู้สูงอายุ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูก ทำให้กระดูกบางลง เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดรุนแรง แต่ก็ทำให้เกิดภาวะกระดูกหักหรือแตก ได้ง่ายกว่าคนปกติ         

         โรคกระดูกพรุน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุเพศหญิง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง หรือวัยหมดประจำเดือน โดยพบว่าผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะเป็นโรคกระดูกพรุน รวมไปถึงผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไวผิดปกติ และผู้หญิงที่มีการผ่าตัดรังไข่ทิ้ง ก่อนอายุ 45 ปี ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน ฉะนั้นเรื่องของอายุจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเป็นโรคกระดูกพรุน        

         โรคกระดูกพรุน มักเกิดในผู้สูงอายุเพศหญิง แต่ในผู้สูงอายุเพศชาย ก็สามารถเกิดได้เช่นเดียวกัน แต่อาจจะพบได้น้อยกว่า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค คือ การขาดฮอร์โมนเพศชาย และการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง

         เมื่อผู้สูงอายุกระดูกพรุน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่รุนแรง แต่ก็ส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของผู้สูงอายุได้ เช่น เสี่ยงต่อการกระดูกหัก บางครั้งแค่ไอ หรือจาม ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหักได้ หรือเมื่อผู้สูงอายุหกล้ม แล้วใช้มือยันพื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะกระแทกกับพื้น ก็อาจทำให้กระดูกข้อมือหักได้เช่นกัน ในผู้สูงอายุบางราย ก็มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลัง หลังค่อม และเคลื่อนไหวช้าลง

โรคกระดูกพรุน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 : ระยะเริ่มต้นที่มวลกระดูกเริ่มลดลง มักเกิดกับผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการอะไรออกมา ซึ่งสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของการเกิดโรคได้โดยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก
  • ระยะที่ 2 : ระยะกระดูกพรุนชนิดรุนแรง มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ในระยะนี้กระดูกจะมีความโปร่งบางมาก กระดูกสันหลังหักยุบ หรือกระดูกสะโพกหัก จะมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม และสังเกตได้ว่าส่วนสูงจะลดลง ในบางครั้ง อาการปวดหลังอาจจะร้าวมาถึงหน้าอก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทานข้าวได้น้อยลง ท้องอืด แน่นท้อง รวมไปถึงกระดูกแตกหักง่ายกว่าปกติ

ผู้สูงอายุกระดูกพรุน

สาเหตุการเกิด โรคกระดูกพรุน

สาเหตุหลักของการเกิดโรคกระดูกพรุน มีหลายปัจจัย ฉะนั้น เมื่อเราทราบถึงสาเหตุถึงการเกิดโรคแล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต         สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่

  1. การขาดแคลเซียม ไม่ได้รับแคลเซียมที่เพียงพอต่อความเหมาะสมของร่างกาย โดยเริ่มตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก จนถึงวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ควรสร้างความหนาแน่นของกระดูกมากที่สุด
  2. พันธุกรรม จะต้องพิจารณาถึงคนในครอบครัว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ว่ามีอาการของโรคกระดูกพรุนปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนหรือไม่ ถ้ามี โอกาสที่ลูกหลานจะมีอาการเช่นกันนั้น จึงสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล
  3. การใช้ยา การใช้ยารักษาโรคบางชนิด อาจนำไปสู่การลดความหนาแน่นของกระดูก เช่น ออร์ติโซน สำหรับโรคไขข้ออักเสบ โรคหืด ยาเฮปาริน สำหรับโรคหัวใจ และความดันโลหิต การรักษาโดยการฉายรังสี หรือการให้สารเคมีก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่มีส่วนในการทำลายเซลล์กระดูก ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
  4. การสูบบุหรี่และการดื่มสุราเป็นประจำ สองสิ่งนี้ จะลดประสิทธิภาพการดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมในร่างกาย ทำให้กระดูกเสื่อมลงและหดลงเร็วกว่าคนปกติ ที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา
  5. คาเฟอีน การดื่มกาแฟมาก ๆ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา โกโก้ เป็นต้น ก็ทำให้กระดูกเสื่อมง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน

เครื่องดื่มทำให้กระดูกพรุน

6. ฮอร์โมน การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

7. อาหารที่มีแคลเซียมต่ำ การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำในผู้สูงอายุ จะทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

8. การสูญเสียแคลเซียม ทางปัสสาวะและการอุจจาระ หรือทางผิวหนัง ฉะนั้นเมื่อสูญเสียไป จึงต้องมีการทดแทนแคลเซียมเหล่านั้น โดยการทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมสูง เพื่อรักษาระดับแคลเซียมในกระดูกในอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

9. การไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย เมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคกระดูกพรุนในระยะรุนแรง มักจะขาดการออกกำลังกาย ทำให้สูญเสียความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก เช่น ในขณะนั่งรถเข็น หรือนอนพักฟื้น

10. การขาดวิตามินดี ในวิตามินดีจะมีส่วนสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ แต่ในประเทศของเราจะไม่พบปัญหาในเรื่องของการขาดวิตามินดีมากนัก เนื่องจากมีแสงแดดตลอดทั้งปี

โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ ถ้ารู้จักดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

การดูแลป้องกัน โรคกระดูกพรุน

         การดูแลตัวเอง หรือคนรอบข้าง ให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ นับว่าเป็นการป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ และครอบครัวใดที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน แม้ว่าผู้สูงอายุ จะไม่ได้มีภาวะของโรคกระดูกพรุน หรือไม่มีอาการของโรคกระดูกพรุนเลย แต่การดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้นะคะ

การดูแลป้องกันโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้ดังนี้

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก นอกจากจะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของกระดูก และกล้ามเนื้อด้วย
  • รับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี ที่เป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างมวลกระดูก ให้มีความแข็งแรง ร่างกายจึงควรได้รับแร่ธาตุเหล่านี้อย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก และได้รับอย่างเพียงพอในตลอดทุกช่วงวัย เพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน
  • ความเจ็บป่วย เมื่อได้มีอาการเจ็บป่วยจากโรคอื่น ๆ หรือได้รับอุบัติเหตุ ควรรีบทำกายภาพบำบัดอย่างรวดเร็ว และตามความเหมาะสม เคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ร่างกายชินกับการอยู่เฉย ๆ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้
  • ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะในยาบางชนิด อาจมีส่วนผสมของเสตียรอยด์ที่ไปทำลายกระดูก ทำให้กระดูกพรุน เช่น ยาลูกกลอน
  • ตรวจสุขภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เข้าตรวจกระดูก เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนไว้ก่อน
เครื่องตรวจระดับน้ำตาล ตรวจเบาหวาน

การรักษา โรคกระดูกพรุน

การรักษาโรคกระดูกพรุน โดยหลัก ๆ สามารถทำได้ 2 วิธี แต่หัวใจสำคัญ ก็ต้องขึ้นอยู่สภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับคำแนะนำ และแนวทางการรักษาที่ถูกต้องจะดีที่สุด โดยวิธีการรักษา ได้แก่

1.การรักษาโดยไม่ใช้ยา ทำได้โดยการดูแลสุขภาพตนเอง ตามหลักการที่นำเสนอไว้ในหัวข้อข้างต้น ดูแลในเรื่องของการรับประทานอาหาร เลือกอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี ที่มากพอต่อความต้องการของร่างกาย รวมไปถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวช้า ๆ ก็ได้ ยังดีกว่าที่เราอยู่เฉย แล้วรอให้โรคกระดูกพรุนมาเยี่ยมเยือน

2.การรักษาโดยการใช้ยา วิธีการนี้จะต้องได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เฉพาะทาง เพราะในร่างกายแต่ละคน อาจตอบสนองต่อการใช้ยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ซึ่งยารักษาโรคกระดูกพรุน จะมีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หรือความเหมาะสม ตามที่แพทย์แนะนำ

สรุป

ปัญหาของโรคกระดูกพรุน อาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่การดูแลป้องกันไม่ให้เกิดย่อมดีกว่า ฉะนั้น อย่าลืมดูแลตัวเองและคนในครอบครัว ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และอย่าลืมไปตรวจสุขภาพประจำปีกันด้วยนะคะ

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup