การอาบน้ำ เป็นกิจวัตรประจำวันที่เราจะต้องทำทุกวัน โดยเฉพาะในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เพราะช่วยให้คลายร้อนและรู้สึกสดชื่นสบายตัว แต่สำหรับผู้สูงอายุ เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างใจ ทำให้รู้สึกไม่อยากอาบน้ำ เช่น กลัวลื่นล้ม แต่ถ้าจะให้ใครมาอาบน้ำให้ ก็รู้สึกอายจนไม่อยากอาบน้ำ ALLWELL จึงมีวิธีการจัด ห้องอาบน้ำผู้สูงอายุ และวิธีการอาบน้ำผู้สูงอายุที่เหมาะสม มานำเสนอคุณผู้อ่านค่ะ
สารบัญ
- ห้องอาบน้ำผู้สูงอายุ จัดอย่างไรจึงจะเหมาะสม?
- หากอาบน้ำอุ่น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนนะ!
- วิธีการอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ อาบอย่างไรให้ปลอดภัย
- วิธีการอาบน้ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
ห้องอาบน้ำผู้สูงอายุ จัดอย่างไรจึงจะเหมาะสม?
การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องน้ำ ผู้สูงอายุสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา และเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด ดังนั้น การเตรียมห้องอาบน้ำให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อีกทั้งยังช่วยคลายความกลัวให้ผู้สูงอายุสามารถอาบน้ำได้อย่างสบายใจและมีความสุขมากขึ้น โดยในห้องน้ำควรประกอบไปด้วย
- ขนาดห้องน้ำ ควรมีความกว้างประมาณ 150-200 เซนติเมตร ไม่ควรแคบเกินไป เพราะจะเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ควรแยกระหว่างส่วนเปียกกับส่วนแห้ง ไม่เป็นพื้นต่างระดับกัน และเลือกใช้กระเบื้องที่มีความฝืดที่ผิวกระเบื้อง เพื่อกันลื่น
- ประตูห้องน้ำ ควรเป็นแบบประตูบานเลื่อน หรือเป็นลักษณะเปิดออกไปด้านนอก โดยที่มือจับที่ใช้เปิดประตู ควรเป็นแบบก้านโยก หรือแกนผลัก เพราะผู้สูงอายุอาจจะกำลูกบิดไม่ถนัด และไม่มีแรงในการเปิดประตู
- เก้าอี้อาบน้ำ เพื่อให้ผู้สูงอายุนั่งขณะอาบน้ำ เพื่อช่วยไม่ให้ล้มและทำความสะอาดได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยเลือกเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับขาได้หรือเลือกที่ระดับไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไป และติดจุกยางที่ปลายขา เพื่อกันลื่น
- ติดราวจับไว้ที่ผนังห้องน้ำ ให้ผู้สูงอายุใช้จับทรงตัว เพื่อลดความเสี่ยงในการลื่นล้ม และยังช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจขณะอาบน้ำมากขึ้น
- ฝักบัว ควรเลือกใช้เป็นชนิดแรงดันต่ำ และสามารถปรับระดับความสูงได้ หากเลือกใช้แบบมีสวิตช์เปิด – ปิด ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
- หากเลือกใช้อ่างอาบน้ำ ควรเลือกอ่างที่มีความสูงจากพื้นห้องน้ำขึ้นไปประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้ขึ้นลงได้สะดวก อ่างอาบน้ำควรหนาประมาณ 5 เซนติเมตร ช่วยให้จับยึดได้ง่าย
- ถ้าพื้นห้องน้ำลื่นง่าย ควรปูแผ่นกันลื่นไว้บริเวณที่อาบน้ำ
หากอาบน้ำอุ่น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนนะ!
ผู้สูงอายุบางคน หากอาบน้ำเย็น อาจจะส่งผลให้หนาวและไม่สบายตัวได้ น้ำอุ่นจึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ อีกทั้งน้ำอุ่น ยังช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีอีกด้วย แต่อุณหภูมิของน้ำอุ่น อาจทำให้เกิดข้อเสียได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนอาบน้ำอุ่น ผู้สูงอายุควรเตรียมตัว ดังนี้
- ตรวจเช็กร่างกายว่ามีอุณหภูมิสูงกว่า 34 องศาเซลเซียส อัตราการเต้นของหัวใจและค่าความดันเลือดปกติ สีหน้าไม่ซีดเซียว ไม่เป็นหวัดหรือมีบาดแผลที่ผิวหนัง และควรขับถ่ายให้เสร็จเรียบร้อยก่อน
- ดื่มน้ำเปล่าก่อนอาบน้ำ เพราะระหว่างอาบน้ำอุ่น เหงื่อจะออกเยอะขึ้น ร่างกายจึงเสียน้ำมาก จึงควรดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนอาบน้ำ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- เตรียมพื้นที่อบอุ่น เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะเวลาถอดเสื้อผ้าออก อุณหภูมิร่างกายจะลดลง หากที่บ้านติดแอร์ ควรปิดแอร์บริเวณหน้าห้องอาบน้ำ เพื่อให้อุณหภูมิหน้าห้องน้ำกับในห้องน้ำไม่ต่างกันมาก
- บอกให้คนในบ้านรู้ก่อนอาบน้ำ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ จะได้มีคนเข้าไปช่วยเหลือได้ทันเวลา
- หากแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ ควรตรวจเช็กอุณหภูมิน้ำก่อน เพราะการแช่น้ำอุ่นทำให้เส้นเลือดขยายตัว ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นควรให้น้ำมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไป ประมาณ 34 – 36 องศาเซลเซียส
วิธีการอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ อาบอย่างไรให้ปลอดภัย
สำหรับผู้สูงอายุที่ร่างกายปกติ สามารถให้เขาอาบน้ำเองได้ เพื่อเป็นการฝึกออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการขยับแขนขา แต่ต้องระวังการลื่นล้มด้วย
- ให้ผู้สูงอายุจับราวให้ แล้วค่อย ๆ นั่งลงบนเก้าอี้อาบน้ำ หากร่างกายไม่ได้แข็งแรงมาก อาจจะให้ผู้ดูแลพาไปนั่งที่เก้าอี้อาบน้ำ หรืออาจใช้เก้าอี้อาบน้ำที่มีล้อ เข็นเข้าไปบริเวณที่อาบน้ำได้
- เมื่อนั่งบนเก้าอี้อาบน้ำแล้ว ให้วางเท้าทั้งสองข้างให้ติดพื้น เพื่อให้นั่งได้อย่างมั่นคง มือข้างหนึ่งยึดราวจับไว้ แล้วทำความสะอาดร่างกาย หากเอื้อมถูหลังไม่ถนัด ให้ใช้ผ้าขนหนูสำหรับถูหลัง ซึ่งมีช่องให้ใส่สบู่ พาดไปข้างหลัง แล้วใช้มือจับปลายทั้งสองข้างดึงสลับไปมา
- หากผู้สูงอายุ ไม่สามารถทำความสะอาดบริเวณก้นเองได้ อาจจะให้ผู้ดูแลช่วย โดยการให้ผู้สูงอายุยืนจับเก้าอี้อาบน้ำ แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ส่วนผู้ดูแลไปยืนข้างลำตัว ใช้ผ้าขนหนูเช็ดทำความสะอาด
- หากผู้สูงอายุขัดหลังไม่ถึง ให้ผู้สูงอายุทำเหมือนตอนทำความสะอาดก้น สิ่งสำคัญคือผู้ดูแลไม่ควรใช้เวลาทำความสะอาดนานเกินไป เพราะการอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ ทำให้ผู้สูงอายุปวดหลังหรือเหนื่อยได้ และควรเช็ดเบา ๆ เพื่อไม่ให้ผิวหนังถูกกระตุ้นมากเกินไป
แต่หากผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกหรือผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง พอช่วยเหลือตนเองได้บ้าง ก็สามารถให้เขาอาบน้ำด้วยวิธีการเดียวกับผู้สูงอายุที่ร่างกายปกติได้ แต่ถ้าหากทำความสะอาดในส่วนของแขนขาซีกที่เป็นปกติไม่ได้ ผู้สูงอายุสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลได้ โดยยังนั่งอยู่บนเก้าอี้อาบน้ำในท่าที่สบาย
วิธีการอาบน้ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ก็ต้องการการอาบน้ำเช่นกัน เพื่อทำให้ร่างกายสะอาด และยังช่วยลดโอกาสการเกิดแผลกดทับได้อีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยติดเตียงอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้น ผู้ดูแลต้องช่วยอาบน้ำให้ โดยมีวิธีการดังนี้ค่ะ
- จัดให้บริเวณพื้นที่อาบน้ำ ไม่ให้มีอากาศที่หนาวจนเกินไป เช่น ปิดแอร์ ปิดหน้าต่าง
- ให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระก่อนอาบน้ำ แล้วทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักให้สะอาด
ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออก แล้วคลุมด้วยผ้าเช็ดตัวไว้ เพื่อกันผู้ป่วยหนาว - ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ บิดให้พอหมาด จากนั้นเริ่มเช็ดบริเวณใบหน้า หู และลำคอ แล้วนำผ้าถูกับสบู่จนเป็นฟอง จากนั้นเช็ดบริเวณใบหน้า หู และลำคอเช่นเดิม
- จากนั้น ใช้ผ้าขนหนูอีกผืนหนึ่ง ชุบน้ำให้พอหมาด แล้วเช็ดสบู่ออกให้หมด โดยเช็ดหลายๆ ครั้งจนกว่าฟองสบู่จะหมด
- บริเวณอื่น ๆ ให้ทำวิธีการเดียวกับการเช็ดใบหน้า โดยเช็ดจากบนลงล่าง ทำเช่นนี้จนทั่วครบทุกส่วน ส่วนการเช็ดบริเวณหลัง ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคง แล้วจึงทำความสะอาด
- เมื่อทำความสะอาดจนเสร็จ ให้ใช้ผ้าขนหนูซับให้แห้ง และระวังอย่าให้น้ำและสบู่เปียกที่นอน เพราะจะทำให้ที่นอนชื้น อาจใช้ผ้าขนหนูวางทับบนผ้าปูที่นอนในขณะอาบน้ำ เพื่อกันที่นอนเปียกได้
- หากต้องการสระผม ให้ผู้ป่วยนอนหงายโดยเอียงศีรษะไปทางขอบเตียง นำอุปกรณ์มารองน้ำ เช่น ถังน้ำ กะลามัง จากนั้นสระผมให้ผู้ป่วยได้ตามปกติ เมื่อสระจนเสร็จ ให้ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กเช็ดฟองออกให้มากที่สุด แล้วจึงล้างด้วยน้ำจนสะอาด ระวังอย่าให้น้ำเย็นจนเกินไป เมื่อเสร็จแล้วให้เช็ดผมให้แห้ง
สรุป
การอาบน้ำเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะไม่เช่นนั้น ร่างกายจะสกปรกได้ ผู้สูงอายุบางคนชอบการอาบน้ำมาก แต่อาจจะอายเวลาที่ให้คนอื่นมาเห็นเวลาอาบน้ำ วิธีข้างต้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุอาบน้ำเองได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยติดเตียง แม้จะไม่สามารถอาบน้ำเองได้ แต่ผู้ดูแลสามารถทำให้ผู้ป่วยมีความสุขขณะอาบน้ำได้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุด อย่าลืมที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยขณะอาบน้ำ เพื่อให้ผ่อนคลาย และร่วมมีช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกันนะคะ