บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ปัญหาเรื่องการขับถ่าย เกิดได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่อแก่ตัวลง ระบบเผาผลาญเริ่มทำงานช้าลง ระบบย่อยอาหารจึงมีปัญหา ส่งผลให้ ผู้สูงอายุท้องผูก ไม่ขับถ่าย ขับถ่ายไม่ออก ซึ่งปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นปัญหาสุขภาพกายแล้ว ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพใจของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
อาจเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุรู้สึก กังวล เครียด และทานอาหารได้น้อยลง จนก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ฉะนั้น ปัญหาเรื่อง ผู้สูงอายุท้องผูก ไม่ขับถ่าย จึงเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ
สารบัญ
- ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ขับถ่าย
- ผู้สูงอายุไม่ขับถ่าย เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง
- การดูแลระบบขับถ่ายผู้สูงอายุ
- การใช้ยาระบาย
ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุท้องผูก
อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเสื่อมโทรมทางร่างกาย การดำรงชีวิต ปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งปัญหาผู้สูงอายุท้องผูกนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น การที่จะฟื้นฟูระบบขับถ่ายผู้สูงอายุ ให้กลับมาเป็นปกตินั้น ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัว จึงต้องเข้าใจปัญหา และที่มาของสาเหตุก่อน โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
1.อายุ
เมื่ออายุมากขึ้น ความอยากอาหารของผู้สูงอายุ จะลดลงตามธรรมชาติของร่างกาย ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร น้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร จะลดความเป็นกรดลง อีกทั้งลำไส้ยังเคลื่อนไหวได้ช้า จึงทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย และท้องผูกได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่น
2.การรับประทานอาหาร
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะไม่ชอบทานอาหารจำพวกผักผลไม้ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่มีกากใย หรือไฟเบอร์ที่เพียงพอ ลำไส้จึงไม่มีตัวกระตุ้นทำให้ขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายลำบาก เนื่องจากอุจจาระแข็งเป็นก้อน
3.ดื่มน้ำในปริมาณน้อย
การดื่มน้ำตามหลักที่ถูกต้อง คือ ไม่ต่ำกว่าวันละ 8 แก้ว แต่ในผู้สูงอายุบางราย การดื่มน้ำในปริมาณเท่านี้ อาจทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย จึงทำให้เลือกที่จะไม่ดื่มน้ำ หรือดื่มในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ไม่ขับถ่ายหรือขับถ่ายไม่สะดวก
4.กลั้นอุจจาระ
ผู้สูงอายุที่กลั้นอุจจาระนั้น ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ลุกนั่งลำบาก ทำให้เลือกที่จะกลั้นอุจจาระ พอได้กลั้นไปครั้งหนึ่งแล้ว ก็เท่ากับว่าเลื่อนเวลาที่ควรจะขับถ่ายออกไป ทำให้ในครั้งต่อไปที่ควรจะขับถ่าย ก็กลับไม่ขับถ่าย ส่งผลให้มีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ เกิดการสะสมของเสียในสำใส้ อัดแน่นจนรู้สึกอึดอัด และลำบากเมื่อต้องขับถ่าย อีกทั้งเมื่อขับถ่ายออกมาแล้วอุจจาระยังมีกลิ่นแรงอีกด้วย
5.ยารักษาโรค
ในผู้สูงอายุบางรายที่มีโรคประจำตัว ต้องทานยาในการรักษา โดยในตัวยาบางชนิดอาจจะส่งผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาแก้แพ้บางชนิด ยารักษาอาการอักเสบต่าง ๆ เป็นต้น
6.สุขภาพจิต
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความกังวล ในเรื่องการสูญเสีย จากที่เคยเป็นผู้นำ เคยทำอะไรทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่มาวันนี้ กลับไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม จึงทำให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ เศร้า กังวลใจ หรือคาดการณ์ไปถึงเรื่องการสิ้นอายุขัย ทำให้ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ จึงส่งผลถึงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงระบบขับถ่าย
ผู้สูงอายุไม่ขับถ่าย เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง
การที่ผู้สูงอายุท้องผูกนั้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายผู้สูงอายุโดยตรงแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น
1.ริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวาร คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำ บริเวณทวารหนักโป่งพอง และบวม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นริดสีดวงทวารนั้น มีหลายปัจจัย เช่น ท้องผูกเรื้อรัง เบ่งแรงขณะขับถ่าย ท้องเสียบ่อย ดื่มน้ำน้อย หรือการ เป็นต้น ถ้าผู้สูงอายุ มีอาการดังกล่าวติดต่อเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวารได้ ซึ่งการเป็นโรคริดสีดวงทวารในผู้สูงอายุ จะส่งผลให้ผู้สูงอายุ เจ็บบริเวณรูทวาร เมื่อต้องขับถ่าย หรือบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา เมื่อเกิดการอักเสบ จะทำให้เจ็บปวดมากจนไม่สามารถนั่งได้
การป้องกันโรคริดสีดวงทวาร คือ ฝึกให้ผู้สูงอายุขับถ่ายอย่างเป็นเวลา ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพยายามอย่าให้ผู้สูงอายุกลั้นอุจจาระ ผู้ดูแลต้องระวังในเรื่องของอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้ผู้สูงอายุท้องเสีย และพาผู้สูงอายุออกกำลังกาย โดยการเคลื่อนไหวช้า ๆ
2. มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ มีการเปลี่ยนแปลงเติบโตผิดปกติ กลายเป็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ จากนั้นติ่งเนื้อจะมีการพัฒนา กลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้มากกว่าคนวัยอื่น ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุ พันธุกรรม การสูบบุหรี่ การอักเสบของลำไส้ใหญ่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงแต่กากใยน้อย ซึ่งการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องใช้วิธีการรักษาหลายทาง ทั้งการใช้เคมีบำบัด การฉายรังสี ในผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรง ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับการรักษาได้
การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เน้นให้ผู้สูงอายุทานผัก และผลไม้เยอะ ๆ ร่วมกับการออกกำลังกาย และพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลระบบขับถ่ายผู้สูงอายุ
เมื่อเราทราบถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุท้องผูกแล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือการดูแลระบบขับถ่ายผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุ ได้ขับถ่ายอย่างสะดวก และเพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายอื่น ๆ ผู้ดูแลจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้
1.การดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำน้อย ก็เป็นหนึ่งในปัญหาหลัก ที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกด้วยเช่นกัน ฉะนั้นผู้ดูแลควรตั้งขวดน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ไว้ใกล้ตัวผู้สูงอายุ เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องลุกเดินบ่อย ๆ การดื่มน้ำเยอะ ๆ อาจจะทำให้ผู้สูงอายุปวดปัสสาวะ ซึ่งในผู้สูงอายุบางรายอาจมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนไหว ผู้ดูแลอาจจะให้ผู้สูงอายุปัสสาวะบน เก้าอี้นั่งถ่าย เพื่อความสะดวกและลดความเสี่ยงผู้สูงอายุลื่นล้มในห้องน้ำได้
2.เลือกรับประอาหารที่มีกากใย
อาหารที่มีกากใยสูง จะเป็นประเภทผักผลไม้ ผู้สูงอายุควรทานผักอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เลือกผักที่มีกากใยสูง เช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักโขม และควรนำมาปรุงโดยวิธีต้มสุก ส่วนผลไม้ควรจะเลือกที่มีเนื้อสัมผัสที่นิ่ม เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอ กล้วยสุก ส้ม ควรรับประทานอย่างน้อย วันละ 1 – 2 ครั้ง ครั้งละ 6 – 8 ชิ้น ซึ่งผักผลไม้จะมีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ที่มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุขับถ่ายได้อย่างเป็นปกติ
3.การจัดตารางเวลาเข้าห้องน้ำ
ควรจัดตารางเวลาการเข้าห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ แม้ว่าจะไม่ปวด เพื่อฝึกให้ร่างกายชิน พอร่างกายเริ่มปรับได้แล้วผู้สูงอายุ ก็จะขับถ่ายในเวลาเดิมเป็นเวลาประจำทุกวัน
4.การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องหักโหม เพียงแค่ให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นเดินบ้าง หรือเล่นโยคะสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย และถือเป็นการฝึกสมาธิไปด้วย
5.ดูแลเรื่องอาหาร
ผู้ดูแลต้องใส่ใจในเรื่องของ อาหารผู้สูงอายุ เป็นอย่างมาก ต้องเข้าใจว่าร่างกายของผู้สูงอายุ ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ฉะนั้นการเลือกวัตถุดิบหรือเมนูอาหาร จึงควรเลือกอย่างเหมาะสม และมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
การใช้ยาระบาย
ทางเลือกนี้ ควรใช้เมื่อผู้สูงอายุท้องผูกอย่างรุนแรง ต้องพึ่งการใช้ยา แต่ทั้งนี้การใช้ยาระบาย ต้องใช้อย่างเหมาะสม ไม่มากเกินความจำเป็น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และการยาใช้ทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ ควรเลือกชนิดของยาระบายให้เหมาะสม ซึ่งยาระบายสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ
จะเป็นสารประเภทไฟเบอร์ เช่น เม็ดแมงลัก ยาระบายไซเลียมสีด ซึ่งเมื่อถูกน้ำจะพองตัว แล้วไปเพิ่มปริมาณอุจจาระ และมีส่วนทำให้อุจจาระอ่อนตัว ซึ่งช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ยาจะออกฤทธิ์ ทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 12 – 72 ชั่วโมง
2.กลุ่มยาที่กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ
ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติ คือ ทำให้ลำไส้บีบตัวเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นให้อุจจาระถูกขับถ่ายออกมา ยาจะออกฤทธิ์ ทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 6 – 10 ชั่วโมง ได้แก่ ยาบิซาโคดิล มะขามแขก น้ำมันละหุ่ง
3. กลุ่มยาระบายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม
ยากลุ่มนี้ จะทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น เพื่อให้การขับถ่ายง่ายขึ้น และจะออกฤทธิ์ ทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายภายใน 12 – 72 ชั่วโมง เช่น โดคูเสต
4. กลุ่มยาที่หล่อลื่นอุจจาระ
ยากลุ่มนี้ มีความสามารถในการเก็บกักน้ำ ไว้ในอุจจาระ ทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง อุจจาระจึงถูกขับถ่ายออกง่ายขึ้น ยาจะออกฤทธิ์ ทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 2 – 6 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาระบายน้ำมันแร่ ยาระบายอิมัลชันของน้ำมันแร่ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
5. ยาระบายประเภทเกลือ
ยาระบายประเภทเกลือ จะมีความสามารถในการดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ และกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ
6.กลุ่มยาที่มีแรงดันออสโมติก
กลุ่มยาที่มีแรงดันออสโมติก จะมีความสามารถในการดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ด้วย การดูดน้ำทำได้ด้วยแรงดันออสโมติก ซึ่งน้ำจะทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง และยังช่วยเพิ่มแรงดันในลำไส้ กระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ และขับถ่ายอุจจาระออก ยาจะออกฤทธิ์ ทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 30 นาที – 3 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้ได้แก่ กลีเซอรีน แลคทูโลส
สรุป
การดูแลผู้สูงอายุ ให้มีระบบขับถ่ายที่ดี หรือเป็นปกตินั้นเป็นเรื่องง่ายมาก หากผู้ดูแลเข้าใจ และเลือกใช้วิธีการดูแลที่เหมาะสม ปัญหาผู้สูงอายุท้องผูก ก็จะหมดไป นอกจากจะสร้างความสบายใจให้กับคนในครอบครัวแล้ว ก็ยังทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอีกด้วย