ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน และมี หน้ากากอนามัยปลอม ออกมาจำหน่ายมากมาย นอกจากจะไม่ได้มาตรฐานแล้วยังมีราคาที่สูง และที่แย่ไปกว่านั้นคือมีการนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วมาจำหน่าย แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของที่เราใช้มีมาตรฐาน? Allwell ได้รวบรวมวิธีดูหน้ากากอนามัยปลอม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และวิธีทำหน้ากากผ้าใช้เอง สำหรับผู้ที่หาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ มาฝากค่ะ
สารบัญเนื้อหา
- วิธีดูหน้ากากอนามัยปลอม ดูอย่างไร?
- ใช้หน้ากากผ้าแทนได้ไหม?
- วิธีทำหน้ากากอนามัยผ้าเอง
- วิธีใส่ และถอดหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
- หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้ไหม? วิธีเก็บรักษาหน้ากากอนามัย
วิธีดูหน้ากากอนามัยปลอม ดูอย่างไร?
ก่อนจะซื้อหน้ากากอนามัยในช่วงนี้ ก็ต้องดูให้ดีก่อน เพราะหน้ากากอนามัยปลอมมีออกมาขายเกลื่อนตลาดไปหมด บางคนเห็นว่าหนามีหลายชั้น ต้องกันไวรัสได้แน่นอน แต่ในทางกลับกันหากหน้ากากหนา มีหลายชั้น แต่ไม่มีแผ่นกรอง ก็ไม่สามารถป้องกันได้ดีเท่าที่ควร โดยวิธีตรวจสอบหน้ากากอนามัยเบื้องต้นทำได้ ดังนี้1.บรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน สังเกตได้จากบรรจุภัณฑ์ของตัวสินค้า มักมีรอยบุบชำรุด ไม่มีการห่อซีลสินค้า บรรจุภัณฑ์ที่ได้ตามมาตรฐาน จะต้องระบุประเภทของหน้ากาก คำแนะนำการใช้งาน แหล่งผลิตและนำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ อย่างชัดเจน และมีการห่อซีลของสินค้า
ภาพจาก twitter: @maang84040456
ภาพจาก twitter: @Jm6bYrHVawHfH8X
2.มีกลิ่นสารเคมีหรือกลิ่นพลาสติก หน้ากากอนามัยปลอม เมื่อขยี้จะมีละอองฟุ้งออกมา และยังมีกลิ่นของสารเคมีหรือกลิ่นพลาสติก โดยปกติแล้วหน้ากากที่ได้มาตรฐานจะต้องไม่มีกลิ่นสารเคมี3.มีตำหนิ หน้ากากมีรอยตำหนิ รอยเปื้อน นั่นเกิดจากการนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว มาซักรีด และนำมาบรรจุขายใหม่
ภาพจาก Twitter: @Jm6bYrHVawHfH8X
4.ไม่มีแผ่นกรอง เมื่อตัดหน้ากากอนามัยออกมาดูแล้ว หากเป็นของแท้จะมีแผ่นกรองแต่หากเป็นของปลอมที่ไม่ได้มาตรฐานจะไม่มีแผ่นกรองอยู่ข้างใน แม้จะทำออกมาหนาหลายชั้นแต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสได้เหมือนหน้ากากอนามัยของแท้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการใส่หน้ากากอนามัยผ้าเลย มิหนำซ้ำยังมีราคาที่สูงกว่าด้วย
ภาพจาก Facebook: nong nantasirs
5.ไม่กันน้ำ หยดน้ำแล้วน้ำซึมเข้าหน้ากาก ให้ลองหยดน้ำลงบนหน้ากากหากน้ำซึมเข้าหน้ากากนั่นหมายความว่าหน้ากากไม่มีประสิทธิภาพใช้ป้องกันไวรัสไม่ได้ แต่ก็ยังมีบางยี่ห้อที่สามารถกันน้ำได้แต่ด้านในไม่มีตัวกรองสำหรับป้องกันไวรัส เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบด้านในด้วยว่ามีแผ่นกรองหรือไม่
ภาพจาก Facebook: nong nantasirs
พบหน้ากากอนามัยขายเกินราคา แจ้งสายด่วน 1569
หน้ากากอนามัยแบบไหนได้มาตรฐาน ป้องกันไวรัสได้
หน้ากากที่ป้องกันไวรัสได้จะต้องมีสามชั้น หรือหน้ากากทางการแพทย์นั่นเอง
- ชั้นนอกวัสดุทำจาก Poly Propylene Spun bond มีความหนาตั้งแต่ 14-20 grams มีข้อดีคืออากาศผ่านเข้าออกได้ ไม่ดูดซึมน้ำ
- ชั้นกลางทำจาก Melt Blown Filter หนา 20-25 grams
- ชั้นในทำมาจากวัสดุเช่นเดียวกันกับชั้นนอก มีความหนาตั้งแต่ 20-25 grams
โดยรวมแล้วมีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น ป้องกันของเหลวซึมผ่าน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอ จาม
ประเภทของหน้ากากอนามัย
1.หน้ากากอนามัยผ้า ก็สามารถป้องกันไวรัสได้ แต่ต้องเลือกเนื้อผ้าที่มีอนุภาคของเส้นใยผ้า 2 ชั้นขึ้นไป เนื่องจากสามารถยับยั้งแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านได้
2.หน้ากากทางการแพทย์ ป้องกันละอองฝอยในอากาศได้ ป้องกันการแพร่เชื้อที่ออกมาจากน้ำลาย และน้ำมูก
3.หน้ากาก N95 มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรคขนาดเล็กๆ ได้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง
4.หน้ากากอนามัยแบบมีวาล์ว สามารถป้องกันตนเองไม่ให้รับเชื้อได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ เพราะเชื้อไวรัสอาจจะออกมาทางวาล์วได้
ใช้หน้ากากผ้าแทนได้ไหม?
เนื่องจากสถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดแคลนหาซื้อไม่ได้ อีกทั้งหน้ากากอนามัยปลอม ยังมีออกมาขายมากมายเกลื่อนตลาด หน้ากากผ้าจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลาย ๆ คนเลือกใช้กันในช่วงนี้ โดยปกติแล้วหน้ากากผ้าจะเหมาะกับผู้ที่ไม่ได้มีอาการป่วย เพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค ฝุ่นละอองทั่วไป ซึ่งสามารถซักทำความสะอาดได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งผ้าที่ใช้ในการทำหน้ากากอนามัยก็มีให้เลือกหลากหลายแบบด้วยกันดังนี้
1.ผ้ามัสลินและผ้านาโน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทดสอบประสิทธิภาพแล้วว่ามี คุณสมบัติป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้ใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยมากที่สุด และยังมีคุณสมบัติในการป้องกันน้ำได้ดี ซักล้างได้มากสุดถึง 100 ครั้ง โดยที่เส้นใยยังคงประสิทธิภาพไว้อยู่
2.ผ้ายืด มีความเงามัน ทนทาน ใส่สบายผ้าคืนตัว ไม่เสียรูปทรง
3.ผ้าฝ้าย มีคุณสมบัติในการซับน้ำได้ดี ผ้ามีความเหนียวแต่ไม่ค่อยยืดหยุ่น มีข้อเสียคือซักยากมีช่องว่างระหว่างเส้นด้าย 320 ไมโครเมตร
4.ผ้าใยสังเคราะห์ มีความยืดหยุ่นสูง สวมใส่สบาย เนื้อผ้านุ่ม ระบายอากาศได้ดี ช่วยซับเหงื่อ มีช่องว่างระหว่างเส้นด้าย 200 ไมโครเมตร
5.ผ้าสาคู มีช่องว่างระหว่างเส้นด้าย 340 ไมโครเมตร เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี ซักง่าย ผ้ามีความโปร่ง เบาสบาย
6.ผ้าสำลี มีช่องว่างระหว่างเส้นด้าย 370 ไมโครเมตร ซักง่าย เนื้อผ้านุ่ม เบาสบาย และยืดหยุ่น
7.ผ้าที่มีส่วนผสมของเทฟลอน ผ้าชนิดนี้ช่องว่างระหว่างเส้นใย 2.7 ไมโครเมตร กันน้ำได้ กรองฝุ่นได้มากกว่า 0.3 ไมโครเมตร ได้อย่างน้อย 99% เมื่อนำมาทำเป็นหน้ากากอนามัยผ้าแล้ว จะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหน้ากาก N95 แต่ผ้าชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง
วิธีทำหน้ากากอนามัยผ้าเอง
อุปกรณ์
- ผ้ามัสลินหรือผ้าฝ้าย (แล้วแต่ความสะดวกของผู้ใช้)
- กรรไกร
- ด้ายและเข็ม
- ยางยืดหรือไส้ไก่ 2 เส้นยาว 7 นิ้ว
ขั้นตอนการทำ
1.เตรียมผ้า 2 ชิ้น กว้าง 6.5 นิ้ว ยาว 7 นิ้ว พับครึ่งตามแนวยาว
2.จับจีบขนาดหนึ่งนิ้วตรงกลางผ้า แล้วใช้เข็มหมุดยึดไว้ทั้ง 2 ด้าน
3.จากนั้นให้หันผ้าด้านนอกขึ้นแล้ววางยางยืดไว้ที่มุมผ้าทั้งด้านบนและด้านล่าง และนำผ้าอีกชิ้นมาทับชิ้นแรกโดยหันด้านนอกชนกัน
4.เย็บรอบผ้าโดยกะระยะให้ห่างจากขอบครึ่งเซ็นติเมตร และเว้นช่องว่างเพื่อกลับตะเข็บ 1 นิ้ว
- กลับตะเข็บออกมาแล้วเย็บปิด ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
หน้ากากอนามัยแบบผ้า เมื่อใช้แล้วอย่าลืมซักตากแห้งทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
วิธีใส่ และถอดหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
- ล้างมือด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์ หรือสบู่ให้สะอาด ก่อนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
- ใส่หน้ากากอนามัยให้ปิดปากและจมูก โดยไม่มีช่องว่างระหว่างใบหน้าและหน้ากากอนามัย
- ไม่สัมผัสหน้ากากอนามัยระหว่างใช้งาน หากเผลอไปสัมผัสให้ล้างมือให้สะอาด ด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์หรือสบู่
- เวลาถอดหน้ากากอนามัยห้ามสัมผัสหน้ากากโดยตรง ให้ถอดจากด้านหลังโดยจับสายเกี่ยวหูทั้งสองด้าน และทิ้งในถังขยะแบบปิด
- ล้างมือให้สะอาดด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์หรือสบู่นาน 20 วินาทีเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส
หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้ไหม? วิธีเก็บรักษาหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยแบบมาตรฐานหรือหน้ากากทางการแพทย์ใส่ซ้ำได้หรือไม่ จริงๆ แล้วหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ถูกออกแบบไว้สำหรับการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเท่านั้น แต่หากจำเป็นจริงๆ อาจใส่ซ้ำอีกวันได้ โดยที่หน้ากากอนามัยนั้นจะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่เปียกชื้น ไม่เปรอะเปื้อน ไม่ชำรุด และสายคล้องหูต้องไม่ยืด เพราะจะทำให้หน้ากากอนามัยไม่แนบชิดกับใบหน้า ไม่ควรนำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไปซัก เพราะตัวหน้ากากมีเส้นใยสังเคราะห์ที่มีสารเคลือบกันน้ำ หากนำไปซักล้าง จะทำให้หน้ากากอนามัยเสียคุณสมบัติในการป้องกันไวรัสไป และยังอาจทำให้เส้นใยหน้ากากเป็นขุย เวลาที่เราหายใจเข้าไปอาจสูดเอาขุยจากหน้ากากอนามัยเข้าไปได้ นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นไม่สามารถช่วยป้องกันไวรัสได้
ผู้ป่วยน้ำมูกไหล ไอ จาม ไม่ควรนำหน้ากากกลับมาใช้ซ้ำ เพราะมีการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งไปแล้ว ต้องทิ้งเท่านั้น
ผู้ใช้ Facebook Ataya Chinwongs ได้แนะนำวิธีการเก็บหน้ากากอนามัย และการนำออกมาใช้ใหม่ ดังนี้ ใช้ซองหรือถุง หลักๆคือต้องให้มีอะไรคลุมอย่าเก็บหน้ากากเปล่าๆ ลงกระเป๋า หรือเสื้อ เพราะอาจจะทำสิ่งของอื่นๆปนเปื้อน
อุปกรณ์
- แฟ้มอ่อนขนาด A4 (หรือขนาดใดก็ได้)
- คัตเตอร์
- ไม้บรรทัด
- กรรไกร
- ปากกา marker
ขั้นตอนการกางออกมาใช้ใหม่
หลังจากใช้งานที่เก็บหน้ากากอนามัยแล้ว หมั่นทำความสะอาดทุกครั้ง ด้วยการล้างน้ำสบู่ เช็ดให้แห้ง หรือฉีดสเปรย์แอลกอฮอลล์เพื่อฆ่าเชื้อก่อนการใช้งานครั้งถัดไป
หน้ากากอนามัยควรใช้ซ้ำที่จำเป็นเท่านั้น และล้างมือให้สะอาดก่อนสวมและถอดหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
สรุป
หน้ากากอนามัยปลอม ที่ไม่ได้มาตรฐาน ตรวจสอบได้จากบรรจุภัณฑ์ กลิ่น ความหนาบาง และแผ่นกรอง และในช่วงสถานการณ์ที่หน้ากากขาดแคลน การหันมาใช้หน้ากากอนามัยผ้าหรือทำหน้ากากอนามัยผ้าใช้เองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แม้จะป้องกันได้เพียง 54-59% แต่ก็ยังดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย