แผลปัสสาวะกัด ไม่ใช่แผลกดทับ แต่ทรมานไม่ต่างกัน! แก้อย่างไรดี?

แผลปัสสาวะกัด-อุจจาระกัด

         มีผู้ดูแลคนไหนเคยเจอรอยแดงหรือรอยแผล บริเวณผิวก้น รูทวาร หรือขาหนีบของผู้ป่วยไหมคะ? ลักษณะเหมือนแผลกดทับ แต่หมั่นพลิกตัวบ่อย ๆ ก็แล้ว ใช้ที่นอนป้องกันแผลกดทับก็แล้ว แต่ทำไมผิวผู้ป่วยยังเป็นรอยแดง-รอยแผลอยู่?! หากเป็นเช่นนั้น ก็น่าสงสัยว่ารอยแดงที่พบบริเวณที่กล่าวข้างต้น อาจเป็นแผลปัสสาวะกัด หรือแผล IAD ที่พบในผู้ป่วยที่มีภาวะควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ค่ะ

สารบัญ

แผลปัสสาวะกัด ต่างกับแผลกดทับอย่างไร?

         แผลปัสสาวะกัด หรือแผลอุจจาระกัด หากเราสังเกตแบบผิวเผิน ทั้งสองจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่ ซึ่งคนทั่วไปมักจะแยกไม่ค่อยออก เพราะทั้งสองมีทั้งรอยแดง รอยถลอก หรือลักษณะแผลที่คล้ายกัน แต่แผลปัสสาวะกัดและแผลกดทับ ไม่ใช่อย่างเดียวกันค่ะ หากพิจารณาลงลึกไปทั้งสาเหตุ ลักษณะแผลต่าง ๆ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่ค่ะ ไปดูกันว่าทั้งสองต่างกันอย่างไรบ้างค่ะ

แผลปัสสาวะกัด-อุจจาระกัด

แผลปัสสาวะกัด เป็นอย่างไร?

         แผลปัสสาวะกัด – อุจจาระกัด หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า แผล IAD (Incontinence Associated-Dermatitis) เป็นแผลที่เกิดจากการที่ผิวสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน ซึ่งจะพบในผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่มีภาวะควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ โดยมักจะเป็นรอยแดง ผื่น รอยถลอก หรือรอยแผลบริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ ก้น ก้นกบ และต้นขา

         เนื่องจากสิ่งขับถ่ายทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง หากระคายเคืองซ้ำ ๆ นาน ๆ ผิวก็จะไม่สามารถซ่อมแซมได้ทัน นำไปสู่การอักเสบ ยิ่งสัมผัสทั้งปัสสาวะและอุจจาระรวมกันทั้งคู่ แบคทีเรียในอุจจาระจะเปลี่ยนยูเรีย (Urea) ในปัสสาวะให้กลายเป็นแอมโมเนีย (Ammonia) ที่มีค่า pH สูง จนทำลายสารปกป้องผิวหนังตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการอักเสบเป็นรอยแดง นำไปสู่การเกิดแผล และอาจเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย

แผลปัสสาวะกัด

         นอกจากนี้ เวลาที่ผู้ดูแลทำความสะอาดหลังขับถ่ายให้ผู้ป่วย แล้วมีการเช็ดถูหรือขัดผิวผู้ป่วยแรงจนเกินไป ทำให้ผิวของผู้ป่วยอ่อนแอลง เมื่อสัมผัสกับปัสสาวะ – อุจจาระ จึงเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ ยังสามารถเกิดแผลปัสสาวะกัด จากการที่ผิวเกิดความอับชื้นเกิน (over hydration) ซึ่งสาเหตุนี้มีโอกาสพัฒนาไปสู่การเกิดแผลกดทับได้

ฉะนั้น แผล IAD และแผลกดทับไม่เหมือนกัน แต่แผล IAD สามารถพัฒนาไปเป็นแผลกดทับได้ ที่สำคัญ ผู้ที่มีแผล IAD จะต้องเป็นควบคู่กับภาวะควบคุมการขับถ่ายไม่ได้

ระดับแผลปัสสาวะกัด

แผลอุจจาระกัด แผลปัสสาวะกัด แผล IAD

  • มีความเสี่ยงเป็นแผลปัสสาวะกัด (High risk to IAD) : ผู้ป่วยควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ไม่สามารถดูแลตนเองได้ มีภาวะถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ลักษณะผิวยังปกติไม่มีรอยแดง
  • ระดับที่ 1 (Early IAD) : ผิวเป็นสีแดงอ่อน หรือชมพู มีผื่นเล็กน้อย สัมผัสผิวบริเวณที่แดงพบว่าอุ่นกว่าบริเวณอื่น ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบ หรือเจ็บขณะถูกสัมผัสได้
  • ระดับที่ 2 (Moderate IAD) : ผิวมีสีแดงสด หรือแดงจัดในคนผิวสีเข้ม ลักษณะผิวเป็นมันเงา ชื้น มีเลือดซึม มีตุ่มพองเล็ก ๆ หรืออาจมีแผลเปิดเล็ก ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแสบ
  • ระดับที่ 3 (Severe IAD) : เป็นแผลเปิดตื้น ลักษณะสีแดงเป็นวงกว้าง มีน้ำใส ๆ หรือเลือดซึมออกมา เห็นผิวเป็นมันเงา ผิวส่วนบนลอกออก
  • ติดเชื้อร่วมกับเป็นแผลปัสสาวะกัด (Infected IAD) : บริเวณขอบของรอยแผล เกิดผื่นเชื้อรา หรืออาจเหมือนเม็ดสิว มีลักษณะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือแดงเข้มในคนผิวคล้ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการคัน สามารถเกิดขึ้นได้กับแผลปัสสาวะกัดทุกระดับ

ริดสีดวง ผู้สูงอายุ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลปัสสาวะกัด – อุจจาระกัด

  • ใส่ผ้าอ้อมตลอดเวลา ทำให้ผิวสัมผัสกับสิ่งขับถ่ายอยู่ตลอด จนเกิดการระคายเคือง อับชื้น และเสียดสีกับผิวผ้าอ้อม
  • ผู้ป่วยไม่ได้ขยับตัว หรือไม่ได้มีการพลิกตัวผู้ป่วย จนทำให้บริเวณก้นอับชื้น
  • มีภาวะท้องเสีย และถ่ายเหลวบ่อย (มากกว่า 3 ครั้ง/วัน)
  • ผู้ดูแลเช็ดทำความสะอาดผิวผู้ป่วยแรง มีการขัดถูบริเวณผิว
  • ได้รับการผ่าตัดเกี่ยวข้องกับลำไส้ ทำให้ขับถ่ายผิดปกติ
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

ผลกระทบของแผลปัสสาวะกัด ร้ายแรงอย่างไร?

  • เพิ่มความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วย
  • เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับง่ายขึ้น
  • เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษา ยิ่งหากพัฒนาไปเป็นแผลกดทับ ก็ยิ่งใช้ค่าใช้จ่ายเยอะขึ้น
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผล จากการสัมผัสเชื้อโรคในสิ่งขับถ่าย
  • หากผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาลนาน จะต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น ได้กลับไปพักฟื้นที่บ้านช้าลง
รักษาแผลกดทับ ต้องใช้เงินเท่าไหร่? ที่นอนกันแผลกดทับ ใช้ได้จริงไหม? เช็กเลย!

แผลปัสสาวะกัด รักษาได้ไหม?

         แผลปัสสาวะ – อุจจาระกัด หรือแผล IAD สามารถรักษาได้เหมือนกับการรักษาแผลกดทับ ผู้ดูแลอาจจะต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการดูแลผิวหนังผู้ป่วยให้แผลดีขึ้น และให้ผิวหนังกลับมาเป็นปกติให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะต้องดูแลมากเป็นพิเศษกว่าการดูแลผิวแบบทั่วไป ซึ่งสามารถดูแลตามระดับของแผลได้ ดังนี้ค่ะ

แผลปัสสาวะกัด

กลุ่มที่ 1 มีความเสี่ยงเป็นแผลปัสสาวะกัด

  • ปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาภาวะถ่ายเหลว – ท้องเสียของผู้ป่วย
  • ทาผิวด้วยโลชั่นบำรุงผิวที่อ่อนโยน หรือใช้ในผู้ป่วยแผลกดทับได้
  • เมื่อผู้ป่วยขับถ่ายให้รีบทำความสะอาดทันที โดยใช้การล้างและซับผิวเบา ๆ ไม่ขัดถู
  • หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ฝึกการขับถ่ายโดยใช้หม้อนอน หรือรถเข็นนั่งถ่าย หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมหรือแผ่นรองซับโดยไม่จำเป็น

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่มีแผล IAD ระดับที่ 1

  • ดูแลเหมือนผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 เพิ่มการดูแลผิวรอบ ๆ จุดแดงหรือผื่นด้วย
  • เคลือบผิวด้วยผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวที่มีอะไคลิคโพลีเมอร์ รอให้แห้ง 2-3 นาที

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีแผล IAD ระดับที่ 2

  • ดูแลเหมือนผู้ป่วยกลุ่มที่ 2
  • เพิ่มขั้นตอนการดูแลแผล โดยใช้ซิงค์ออกไซด์ทาแผล หรือโรยด้วยผงดูดความชื้น (stomahesive powder) รอให้แห้ง 2-3 นาที เพื่อลดความเปียกชื้น

กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยที่มีแผล IAD ระดับที่ 3

  • ดูแลเหมือนผู้ป่วยกลุ่มที่ 3
  • เพิ่มขั้นตอนการระบายความอับชื้นบริเวณแผล ใช้ผ้ารองกันเปื้อนรับสิ่งคัดหลั่งจากแผลแทนการใช้แผ่นรองซับแบบกระดาษ
  • หมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อให้แผลได้ระบายความอับชื้น

กลุ่มที่ 5 ผู้ป่วยที่มีแผล IAD ร่วมกับการติดเชื้อ

  • ดูแลผู้ป่วยตามระดับแผลที่ผู้ป่วยเป็น
  • แนะนำให้เข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อพิจารณารับยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้ป่วยมีแผล IAD ระดับที่ 1 เป็นต้นไป ก็ควรเข้ารับการปรึกษาและวางแผนการรักษาจากแพทย์ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดที่สุดนะคะ

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ออลล์เวล

230฿349฿

ขนาด 250 ml. และ 480 ml. | มีการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

รหัสสินค้า: Lotion หมวดหมู่:
อ่านเพิ่ม

อย่าเสี่ยงให้ผู้ป่วยมีแผลปัสสาวะกัด ป้องกันอย่างไรดี?

         แผลปัสสาวะ –อุจจาระกัด แม้อาจจะดูรุนแรงไม่เท่าแผลกดทับ แต่ก็สามารถพัฒนาไปเป็นแผลกดทับได้ในอนาคต แถมถ้าเป็นแล้วการรักษาก็ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างมากเลยล่ะค่ะ วิธีที่ดีที่สุดคือการป้อกันไม่ให้เกิดแผลเหล่านี้จะดีที่สุด ซึ่งเราสามารถดูแลได้ดังนี้ค่ะ

แผลปัสสาวะกัด

วิธีการดูแลผิวผู้ป่วย ป้องกันแผลปัสสาวะกัด

  • ทำความสะอาดผิวหนังทุกครั้ง หลังการขับถ่ายของผู้ป่วย
  • ใช้สบู่ที่มีค่า pH ในช่วง 5.4 – 5.9 หรือมีความเป็นกรดอ่อนใกล้เคียงกับผิวหนังปกติ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำเร็จรูปชนิดไม่ต้องใช้น้ำล้างออก จะสะดวกต่อผู้ป่วยติดเตียงมากกว่า
  • ห้ามขัดถูหรือเช็ดผิวผู้ป่วยแรง ๆ ให้เน้นไปที่การซับหรือเช็ดด้วยผ้านุ่ม หรือกระดาษชำระที่อ่อนโยนต่อผิว
  • บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ด้วยโลชั่นที่อ่อนโยนมาก ๆ หรือเป็นพวกโลชั่นออแกนิค ที่มีส่วนประกอบของไขมัน มีคุณสมบัติช่วยป้องกันผิวหนังเสียน้ำ มีสารกลีเซอลีน (glycerine) ที่ช่วยดึงน้ำมาไว้ที่ผิวชั้นบน และที่สำคัญ ต้องไม่มีส่วนประกอบของสารระคายเคืองผิวหนัง
  • ใช้ผ้าอ้อมหรือแพมเพิสเมื่อจำเป็นเท่านั้น ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้ ฝึกให้ผู้ป่วยขับถ่ายในหม้อนอน หรือรถเข็นนั่งถ่ายสำหรับผู้ป่วย
  • หมั่นตรวจดูความผิดปกติของผิวหนังผู้ป่วยอยู่ตลอด
  • หมั่นพลิกตัว เพื่อเปิดให้ผิวหนังสัมผัสอากาศ ลดความอับชื้น

สรุป

         แผล IAD หรือแผลปัสสาวะกัด เป็นภาวะที่ผู้ดูแลหลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน บอกเลยว่าต้องระวังให้ดีเหมือนกับแผลกดทับเลยค่ะ เพราะแผล IAD สามารถพัฒนาไปเป็นแผลกดทับได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองภาวะก็สร้างความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วยไม่แพ้กัน แถมยังเพิ่มค่าใช้จ่ายและภาระที่มากขึ้นให้กับผู้ดูแลอีกด้วย ดังนั้น ป้องกันไว้ก่อนจะเกิด เป็นเรื่องที่ดีที่สุดนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

วารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2558

Wilai Sathavornvichit : ET nurse

งานการพยาบาลศัลยศาสตร์และศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ มหวิทยาลัยมหิดล

ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน มหาวิทยาลัยมหิดล

Clinical Excellence Commission

การดูแลป้องกันและจัดการกับภาวะ IAD

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup