ฝีดาษลิง เสี่ยงระบาดในไทย อาการไม่รุนแรงแต่ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ พบผู้ติดเชื้อหลายร้อยรายทั่วโลก

ฝีดาษลิง

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคร้ายอีกครั้ง หลังพบโรค ฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเริ่มระบาดในช่วงเดือนกรกฏาคม 65 อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่า จะพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยเองก็พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงอยู่ไม่น้อยเลยล่ะค่ะ แล้วโรคฝีดาษลิง อาการเป็นอย่างไร? ร้ายแรงแค่ไหน? ทำยังไงถึงจะไม่เป็นโรคนี้? บทความนี้มีคำตอบค่ะ

ฝีดาษลิง

สถานการณ์การระบาดของโรคฝีดาษลิง พบผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 80,000 ราย และพบผู้ติดเชื้อยืนยันในไทย 159 ราย  (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค. 66)

สารบัญ

ฝีดาษลิง เกิดมาจากสาเหตุใด? ติดต่อได้อย่างไร?

         โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร (Monkeypox) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสในโรคฝีดาษคน (Smallpox) และฝีดาษวัว (Cowpox) โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ พบได้ในสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู เม่น ฯลฯ และพบว่ามีการแพร่กระจายมายังสัตว์ตระกูลลิงและกระต่าย (ข้อมูลจาก ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์)

ฝีดาษลิง

         ส่วนสาเหตุที่เรียกโรคนี้ว่า โรคฝีดาษลิงนั้น มาจากการค้นพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิงที่เลี้ยงไว้สำหรับทำการทดลอง เมื่อปี 1958 (พ.ศ.2501) ถึงสองครั้ง ต่อมาในปี 1970 (พ.ศ.2513) มีรายงานการพบเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่แพร่กระจายมายังมนุษย์เป็นครั้งแรก ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก [ข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC)]

         นับแต่นั้นมาก็มีการพบโรคฝีดาษลิงในแอฟริกากลางและตะวันตกอยู่เรื่อย ๆ และมีการแพร่กระจายมายังประเทศอื่นบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก โดยส่วนใหญ่มาจากการเดินทางระหว่างประเทศและสัตว์นำเข้า ซึ่งในปัจจุบันที่พบโรคฝีดาษลิงระบาดทั่วโลก ในปี 2022 (พ.ศ.2565) นี้ WHO กล่าวว่า นับว่าเป็นเรื่องผิดวิสัย และยังหาสาเหตุของการระบาดครั้งนี้ได้ไม่แน่ชัด

ฝีดาษลิง

ตัวอย่างผิวหนังมนุษย์ที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง จาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) 

         เนื่องจากการระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้ ผู้ติดเชื้อหลายรายไม่เคยเดินทางไปประเทศเสี่ยงมาก่อน อีกทั้งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยผู้ติดเชื้อเพศชายหลายรายเป็นกลุ่มชายรักชาย และบริเวณที่พบผื่นส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ ปาก และรอบทวารหนัก (ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค) จึงมีการรายงานว่า คลัสเตอร์ครั้งนี้อาจเกิดในกลุ่มชายรักชาย

โรคฝีดาษลิงติดต่อได้อย่างไร?

  • ติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ : พบได้ทั้งในสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เกิดจากการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ที่ติดเชื้อกับสัตว์ปกติ ผ่านแผลบนผิวหนัง และทางการหายใจ
  • ติดต่อจากสัตว์สู่คน : จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ผืนหรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ และการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด โดยการระบาดในทวีปแอฟริกากลางและตะวันตก มักเกิดจากการชำแหละเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ และกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ
  • ติดต่อจากคนสู่คน : มีโอกาสน้อยมาก ซึ่งติดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ผื่นหรือตุ่มหนอง และสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ ผ่านบาดแผล ทางเดินหายใจ และเยื่อบุอ่อนบริเวณตา จมูก ปาก โดยคลัสเตอร์ล่าสุดปี 2022 นี้ มีการสันนิษฐานว่าอาจติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อได้ด้วย

โรคฝีดาษลิง การรักษา

         สำหรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงยังไม่มีในปัจจุบัน แต่มีข้อมูลจากหลายแหล่งกล่าวว่า วัคซีนโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ที่ฉีดกันในอดีตก่อนปี 1980 (พ.ศ.2523) สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศอเมริกา มีวัคซีน Imvamune หรือ Imvanex ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพ

สามารถติดตามข่าวสาร โรคฝีดาษลิง ได้ที่ Facebook paGe กรมควบคุมโรค

เช็กด่วน! อาการ “ฝีดาษลิง” เป็นอย่างไร? รักษาได้ไหม?

         ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง จะแสดงอาการหลังติดเชื้อ (ระยะฟักตัว) ภายใน 7-14 วัน แต่ก็อาจแสดงอาการเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ที่พบเร็วสุดคือ 5 วัน และนานที่สุดคือ 21 โดยอาการที่พบได้หลังติดเชื้อ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ (ข้อมูลจาก แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิครินทร์)

โรคฝีดาษลิง อาการ

1.ระยะก่อนออกผื่น

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ เจ็บคอ
  • อ่อนเพลีย
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง

2.ระยะหลังออกผื่น (หลังจากเริ่มแสดงอาการ 1-3 วัน)

  • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย พบมากบริเวณหน้าและแขน-ขา
  • ผื่นจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นตุ่มที่หนาขึ้น แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มใสและตุ่มหนอง
  • ท้ายที่สุดตุ่มหนองจะตกสะเก็ด แห้ง หลุดลอก และค่อย ๆ หายไปเอง

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร ผู้ติดเชื้อ

ภาพผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง จาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ

โรคฝีดาษลิง รักษาได้ไหม?

         โดยปกติแล้ว โรคฝีดาษลิงจะหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน อย่างไรก็ตาม หากผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ-บกพร่อง มีโรคประจำตัว หรือเด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน เป็นต้น โดยจากรายงานโรคฝีดาษลิงที่ผ่านมา พบอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 10%

ในประเทศไทย ยังไม่เคยพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงมาก่อน แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงต้องมีความระมัดระวัง และสังเกตอาการตนเองมากขึ้น หากพบว่ามีอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

รู้ไว้ใช่ว่า! วิธีป้องกันโรค ฝีดาษลิง ไม่อยากเป็นต้องทำอย่างไร?

          แม้โรคฝีดาษลิงจะไม่ได้มีอาการร้ายแรงมากนัก แต่การไม่เป็นจะดีที่สุด รวมทั้ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยอนุมัติให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดฝีดาษลิงไม่น้อย เพื่อป้องกันและรับมือก่อนจะเกิดการระบาด เราควรปฏิบัติตัว ดังนี้

โรคฝีดาษลิง ป้องกัน

  • ละเว้นการสัมผัสและใกล้ชิดกับสัตว์ป่า หรือสัตว์ที่มีอาการป่วยหรือตาย
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ
  • พยายามอย่าใกล้ชิดและใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นฝีดาษลิง
  • หมั่นล้างมือเป็นประจำ ด้วยสบู่ น้ำสะอาด และแอลกอฮอล์
  • หากมีการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน

มาตรการการป้องกันโควิด-19 เช่น การเว้นระยะห่าง ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อย ฯลฯ ก็สามารถใช้ในการป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน

สรุป

         สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะมีการพบผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อย ๆ ทั้งจากนักท่องเที่ยวและคนในประเทศ ดังนั้น เราควรทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิงเอาไว้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือในอนาคต ซึ่งมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันที่เราปฏิบัติกันอยู่นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ค่ะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup