เราสามารถซื้อไม้เท้า รถเข็นผู้ป่วยได้ที่ไหนบ้าง? โดยทั่วไปเราสามารถซื้อ อุปกรณ์ช่วยเดิน เหล่านี้ได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือร้านค้าออนไลน์ แต่ทุกคนเคยสงสัยไหมว่า “จะรู้ได้อย่างไร ว่าอุปกรณ์ชิ้นไหนเหมาะสมกับคุณตา-คุณยายของเรา?” ถ้าหากไปตั้งกระทู้ถาม Pantip.com ว่า “ ซื้อไม้เท้าแบบไหนดี / ยี่ห้อไหนดี? “ ก็คงได้คำตอบที่หลากหลาย แต่รู้ไหมคะว่า คำตอบเหล่านั้นไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่บ้านของเรา
เพราะผู้ป่วยและผู้สูงอายุแต่ละคน มีลักษณะทางกายภาพและโรคประจำตัวต่างกัน การเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินจึงต้องเลือกให้เหมาะกับร่างกายและจุดประสงค์ของแต่ละคน
สำหรับผู้ป่วยอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน แต่ในกรณีผู้สูงอายุที่เป็นวัยร่างกายเสื่อมถอย ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหวร่างกายและมักส่งผลต่อการเดิน เช่น ปวดเข่า ปวดหลัง เป็นต้น การใช้ ไม้เท้า รถเข็นผู้ป่วย และอุปกรณ์ช่วยเดินต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น
แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต่อต้านการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เพราะผู้สูงอายุมีความคิดทำให้รู้สึกว่าตัวเองป่วย ครอบครัวควรดูแลผู้สูงอายุ พูดคุยเพื่อปรับความคิด ความเข้าใจ เพราะ การใช้อุปกรณ์เหล่านี้นอกจากความสะดวกแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย อ่านบทความ : โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ความเจ็บปวดด้านจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา
ความเจ็บปวดที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทำให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงที่จะขยับตัว ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังลดทอนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอีกด้วย
สารบัญเนื้อหา
- จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุต้องใช้ไม้เท้า รถเข็นช่วยเดิน หรือรถเข็นผู้ป่วยวีลแชร์?
- เลือกไม้เท้า / ไม้ค้ำยันอย่างไรดีนะ?
- วอคเกอร์มีล้อ / รถเข็นช่วยเดิน / รถเข็นวีลแชร์ เลือกอย่างไรดีนะ?
ผู้สูงอายุต้องใช้ อุปกรณ์ช่วยเดิน แบบใด?
ไม้เท้า รถเข็นช่วยเดิน หรือรถเข็นผู้ป่วยวีลแชร์
การเลือกอุปกรณ์ช่วยเดิน สิ่งที่ควรพิจารณาข้อแรก คือ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วย และสูงอายุ
- ไม้เท้า (Cane/Walker Stick) : เหมาะกับผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุยังสามารถเดินได้ด้วยตนเองอยู่บ้าง หรือมีปัญหาในการเดินชั่วคราว เช่น ผู้ป่วยขาหัก ขาพลิก การใช้ไม้เท้าจะช่วยในเรื่องของการทุ่นแรง และช่วยพยุงเดิน ทรงตัวขณะเดิน
- รถเข็นช่วยเดิน (Wheeled walker/Rollator) : เหมาะกับผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงพอจะเดินเองได้ และใช้ไม้เท้าไม่สะดวก
- รถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair) : เหมาะกับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินเองได้ แต่ในบางกรณีผู้สูงอายุที่ยังเดินได้ก็ใช้รถเข็นวีลแชร์เพื่อความสะดวกในการเดินทางนอกจากนี้ควรคำนึงถึงลักษณะความผิดปกติ ระดับการรับรู้ สมรรถภาพทางกาย สภาวะแวดล้อม ความสามารถในการตัดสินใจ การมองเห็น และความแข็งแรงของร่างกายส่วนบน
ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เป็นไม้เท้า เลือกอย่างไรดีนะ?
ไม้เท้า (Cane/Walker Stick) คือ อุปกรณ์ช่วยเดินที่ช่วยรับน้ำหนักตัวบางส่วน และช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหว เหมาะที่จะใช้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าหรือปวดสะโพก ผู้ที่มีปัญหาการอ่อนแรงโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกหัก
เนื่องจากช่วยรองรับน้ำหนักตัวได้ไม่เพียงพอควรใช้เป็นไม้ค้ำยันแทนไม้ค้ำยัน (Crutches) คือ อุปกรณ์ช่วยเดินที่ต้องถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ดังนั้นผู้ที่จะใช้ไม้ค้ำยันต้องใช้พลังงานค่อนข้างมาก จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีกำลังแขนที่ดีทั้ง 2 ข้าง และไม่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย
ประเภทของไม้เท้า และไม้ค้ำยัน มีดังนี้
- ไม้เท้ารูปตัวที (T)เป็นไม้เท้าแบบมาตรฐาน ลักษณะฐานเป็นแบบขาเดียว ใช้พื้นที่ในการเดินน้อย นิยมใช้ในผู้สูงอายุทั่วไป มีทั้งแบบธรรมดา ปรับระดับความสูงได้ หรือพับได้ ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมการทรงท่า แต่ลักษณะของที่จับของไม้เท้าประเภทนี้ ทำให้การลงน้ำหนักผ่านแขนไม่อยู่ในแนวของไม้เท้า จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ที่ต้องการใช้แขนช่วยรับน้ำหนักตัวแทนขา
เหมาะกับผู้สูงอายุทั่วไปที่ยังสามารถเดินได้ปกติ
- ไม้เท้า 3 ขา / ไม้เท้า 4 ขา (Tripod Cane / Quad Cane)เป็นไม้เท้าที่มีขาตั้งแยกเป็น 3-4 ขา ฐานรับน้ำหนักกว้างขึ้นช่วยให้ผู้ใช้สามารถลงน้ำหนักที่แขนได้มากขึ้นจึงมีความมั่นคงมากกว่าไม้เท้ารูปตัวที ผู้ใช้สามารถปล่อยมือจากไม้เท้า เพื่อหยิบจับสิ่งของโดยที่ไม้เท้ายังตั้งอยู่ได้ แต่มีข้อจำกัดเพราะเหมาะกับการใช้บนพื้นราบ และฐานที่กว้างขึ้นอาจมีผลทำให้ไม้เท้ามีน้ำหนักมากขึ้นและไม่คล่องตัวเท่ากับไม้เท้าแบบรูปตัวที
เหมาะกับคนที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม หรือข้ออักเสบรูมาตอยด์คำแนะนำผู้ป่วยปวดสะโพกหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก ควรถือไม้เท้าด้วยมือฝั่งตรงข้ามกับพยาธิสภาพผู้ป่วยมีอาการปวดเข่า สามารถถือด้วยมือฝั่งใดก็ได้ แต่โดยปกติแนะนำให้ถือฝั่งตรงข้าม
- ไม้ค้ำยันรักแร้ (Axillary crutches)เป็นไม้เท้าที่ค้ำใต้รักแร้ ต้องใช้เป็นคู่ สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 80% ใช้พลังงานในการเดินมากพอสมควร และใช้พื้นที่ในการเดินมาก หากไม้ค้ำยันมีความสูงมากเกินไป อาจกดทับเส้นประสาทที่อยู่บริเวณรักแร้ได้
เหมาะกับผู้ป่วยขาหัก ขาแพลง หรือเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง
- ไม้ค้ำยันศอก (Lofstrand crutches / Forearm crutches) มีมือจับและที่ค้ำศอกเพื่อรับน้ำหนักตัว ใช้ในผู้ที่ไม่มีแรงมากพอจะจับไม้เท้าให้แน่นจึงใช้แขนช่วยพยุงตัว สามารถปล่อยมือเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆได้โดยที่ไม้ไม่ล้ม เหมาะกับผู้ที่สามารถทรงตัวได้ค่อนข้างดีเพราะมีรูปร่างและขนาดเล็กกว่าไม้ค้ำยันรักแร้จึงรองรับน้ำหนักได้เพียง 40-50%
เหมาะกับผู้ป่วยขาหัก ขาแพลง ข้อสะโพกเสื่อม หรือเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง
- ไม้เท้าหัดเดิน / วอร์คเกอร์แบบไม่มีล้อ (Walker)ไม้เท้าแบบ 4 ขา คล้ายเก้าอี้ มีมือจับ 2 ตำแหน่ง ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินหรือยืน มีความมั่นคงมากที่สุด เนื่องจากมีฐานการรองรับน้ำหนักที่กว้าง น้ำหนักเบาและเดินได้ง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวไม่ดี ข้อเสียของ Walker คือ มีขนาดใหญ่เทอะทะ การเดินไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากแขนไม่ได้มีการแกว่ง และไม่สามารถขึ้นลงบันไดได้
เหมาะกับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก โรครูมาตอยด์ และข้อสะโพกเสื่อม
วิธีการเลือกไม้เท้า และไม้ค้ำยันที่เหมาะสม
- มือจับควรมีขนาดที่พอเหมาะ เมื่อจับแล้วรู้สึกกระชับ ไม่ลื่น มียางหุ้มส่วนที่สัมผัสพื้นเพื่อกันลื่น ซึ่งถ้าใช้ไปนานๆจุกยางอาจสึกมาก ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่
- ความสูงไม้เท้า : เมื่อผู้ใช้งานจับไม้เท้า มือจับควรอยู่ระดับเดียวกับปุ่มกระดูกข้างสะโพก greater trochanter เมื่อจับที่มือจับแล้ว ข้อศอกควรงอประมาณ 20-30 องศาการใช้ไม้เท้าที่ความสูงไม่เหมาะสม จะทำให้เหนื่อยกว่าเดิม และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
- ไม้ค้ำรักแร้ : เมื่อผู้ใช้งานยืนตรงระดับความสูงของไม้ค้ำยันควรอยู่ใต้รักแร้ 2-3 นิ้ว มือจับอยู่ในระดับที่ข้อศอกงอ 20-30 องศา หรือบริเวณที่รองรักแร้ควรสูงน้อยกว่าผู้ป่วย 40 เซนติเมตรวอร์คเกอร์ : เมื่อผู้ใช้งานยืนตรงมือจับของ walker ควรอยู่ระดับเดียวกับปุ่มกระดูกข้างสะโพกข้อศอกควรงอประมาณ 20-30 องศา
อย่าลืมคำนึงถึงความแตกต่างของความสูงรองเท้าที่สวมใส่ ซึ่งจะทำให้ความสูงของอุปกรณ์ช่วยเดินที่วัดมานั้นไม่พอดี อ่านบทความ : การเลือกรองเท้าผู้สูงอายุ
- วัสดุเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีความแข็งแรงทนทาน รองรับน้ำหนักได้มาก ไม่เป็นสนิม
.
ใช้ อุปกรณ์ช่วยเดิน เป็นรถเข็น เลือกอย่างไรดีนะ?
รถเข็นช่วยเดิน (Wheeled walker / Rollator) คือ อุปกรณ์สำหรับผู้ที่ไม่มีแรงพอจะเดินเองได้ และมีอาการอ่อนแรงแขนทั้ง 2 ข้างไม่สามารถยก walker หรือใช้ไม้เท้าไม่สะดวก นอกจากนี้ยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกเดินที่สะดวกและปลอดภัยมากกว่าสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เพราะ มีล้อเข็นช่วยทุ่นแรงรถเข็นช่วยเดินแบบมีล้อผู้ใช้งานสามารถวางแขนไว้บนคานเพื่อประคองร่างกาย ใช้หัดเดินหรือทำกายภาพเมื่อออกจากโรงพยาบาล
เหมาะกับคนที่อ่อนแรง
รถเข็นช่วยเดินแบบมีเก้าอี้/นั่งได้รถเข็นออกแบบให้มีที่สำหรับใส่ของและนั่งพักได้ มี 4 ล้อ แต่เนื่องจากตัวผู้ใช้งานอยู่ข้างนอกรถเข็น หากเข็นเร็วหรือห่างตัวมากเกินไป ผู้ใช้อาจเดินตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังและเดินเป็นจังหวะช้าๆ
เหมาะกับคนที่เดินหลายๆก้าวไม่ได้
รถเข็นผู้ป่วย วีลแชร์เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ทั้งยังอำนวยความสะดวกและลดข้อจำกัดในการทำสิ่งต่าง ๆ อ่านบทความ รถเข็นวีลแชร์ เลือกซื้อยังไงให้เหมาะสม
เหมาะกับคนที่เดินไม่ได้
สรุป
อุปกรณ์ช่วยเดิน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ แต่การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากใช้งานอุปกรณ์ไม่เหมาะสม อาจเกิดผลเสียและอุบัติเหตุไม่คาดคิด ดังนั้น ควรพิจารณาเลือกซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ หากไม่แน่ใจอาจปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดค่ะ