โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ความเจ็บปวดด้านจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         สถิติการเกิด โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะมากขึ้นทุกปี กรมสุขภาพจิตรายงานว่า มีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสูง เป็นอันดับ 2 อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ฉะนั้น ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้าน ควรดูแลเอาใจใส่และหมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

 สารบัญเนื้อหา

สาเหตุของ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

       โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีสาเหตุมาจาก พันธุกรรม ลักษณะนิสัย รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต ซึ่งผู้ดูแลหรือคนที่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าหากรู้สึกว่าผู้สูงอายุในบ้าน กำลังเข้าสู่ภาวะของโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคซึมเศร้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

        1.ด้านร่างกาย

        ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ  ทำให้อารมณ์เสียสมดุล ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย หรือการเจ็บป่วยทางร่างกายต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสมองโดยตรง แต่ก็ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เครียด และเป็นกังวลได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน โรคมะเร็ง

         หรือแม้กระทั่งผู้พิการ บุคคลทุพพลภาพ ฉะนั้นการที่ผู้สูงอายุมีร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัว ที่ต้องใช้ชีวิตไปกับการทานยาทุกวัน ก็ยิ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย

        2.ด้านจิตใจ

        เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงาน ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิด หรือบุคคลอันเป็นที่รักไป โดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผู้สูงอายุจึงทำใจไม่ได้ เกิดความรู้สึกไม่อยากจะทำอะไร หรือพบเจอใคร ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายของการเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า และสำหรับผู้สูงอายุบางคน ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นลบ คนในครอบครัวไม่สนใจ ไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนคุย ก็อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

การรักษาโรคซึมเศร้า

อาการของ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

      เมื่อเราทราบถึงสาเหตุการเกิด โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุแล้ว ความสำคัญต่อมาคือ อาการของโรคซึมเศร้า เพื่อให้คนในครอบครัวหรือคนดูแลได้ใช้เป็นแนวทาง เพื่อสังเกตอาการของผู้สูงอายุในบ้าน ว่ามีภาวะของโรคซึมเศร้าหรือไม่

      ถ้าพบว่าผู้สูงอายุมีภาวะการเป็นโรคซึมเศร้า จะได้หาวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าต่อไป อาการที่บ่งบอกว่าผู้สูงอายุกำลังเข้าสู่ภาวะของโรคซึมเศร้า ได้แก่

  1. กินอาหารได้น้อยลง หรือกินมากเกินไป
  2. นอนไม่ค่อยหลับ หรือนอนเยอะผิดปกติ
  3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง
  4. ความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ลดลง เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรเลย
  5. สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และมักจะโทษตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
  6. มองโลกให้แง่ร้าย ไม่เป็นมิตรกับใคร ขาดการเข้าสังคม
  7. มีพฤติกรรมรุนแรง อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย บางครั้งก็มีอารมณ์เศร้า หดหู่ ไปจนถึงการไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ

 

การรักษาโรคซึมเศร้า


การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

     ปัญหาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ แม้ภายนอกอาจจะดูเหมือนปกติ ไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่ความจริงแล้ว เป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทางใจให้ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ฉะนั้นคนในครอบครัว ต้องคอยช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุอย่างดีที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุผ่านพ้นจากโรคทางใจนี้ไปให้ได้ ซึ่งการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น สามารถทำได้ดังนี้

      1.อาการเบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อย

      การที่ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลงนั้น มีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะเป็นโรคขาดสารอาหารเพิ่มด้วย ฉะนั้นผู้ดูแลหรือคนในครอบครัว จึงต้องคอยดูแลเรื่องอาหารผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารอ่อน ๆ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เน้นอาหารในกลุ่มแป้ง และน้ำตาลเพื่อเพิ่มพลังงาน แต่ก็ต้องระวังให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

      การที่ผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อยลงนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากอาการป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งการดูแลในเรื่องนี้ ผู้ดูแลอาจจะต้องกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทานอาหารมากขึ้น โดยการป้อนทีละคำช้า ๆ และป้อนให้บ่อยขึ้น

     2.อาการเบื่อหน่าย

     ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยปกติจะรู้สึกเบื่อหน่ายง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากความผิดปกติทางด้านสมอง ทำให้รู้สึกไม่อยากทำอะไร อะไรที่แต่ก่อนชอบทำก็ไม่อยากทำแล้ว ฉะนั้นผู้ดูแลควรหากิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้สูงอายุ กระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีการตอบสนอง เพราะการพูดคุยของคนในครอบครัว และการทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ช่วยลดความเบื่อหน่ายให้กับผู้สูงอายุได้

     3.อาการนอนไม่หลับตอนกลางคืน

     ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มักเจอปัญหานอนไม่หลับในตอนกลางคืน ซึ่งผู้ดูแลอาจจะใช้วิธีการเปิดเพลง ที่มีจังหวะช้า ๆ นุ่มนวล เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่าการใช้ดนตรีบำบัด

     หรือแม้แต่การเลือกเตียงนอนผู้สูงอายุก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายตัว และนอนหลับได้ง่ายขึ้น

      4.อาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว

      ผู้สูงอายุเมื่อรู้ว่าตัวเองป่วย ก็ย่อมหงุดหงิดเป็นธรรมดา เพราะจากที่เคยสุขภาพร่างกายแข็งแรง เคยทำอะไรได้เองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น แต่มาวันนี้ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเดิมก็ทำให้รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้   

     ฉะนั้น ผู้ดูแลจะต้องเข้าใจผู้สูงอายุให้มาก พูดคุยถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่ คอยรับฟัง ให้กำลังใจ และแบ่งปันเรื่องราว ปัญหาต่าง ๆ กับผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุรู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดทั้งตัวผู้สูงอายุเอง และคนในครอบครัวด้วย

     5.อาการไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ

     อาการนี้จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ที่อยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง มองว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ เป็นภาระของคนอื่น ความคิดส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ จนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง และบ่นไม่อยากอยากมีชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ดูแล หรือคนในครอบครัว ต้องอาศัยการรักษาทางการแพทย์เข้าช่วย เพราะถือว่าเป็นจุดวิกฤต

     แต่สิ่งที่คนในครอบครัวจะสามารถทำได้ คือ การให้ความรักความเข้าใจคอยอยู่ข้าง ๆ และดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว เพราะอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุทำร้ายตัวเองได้

รู้หรือไม่ การช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เป็นการเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้กับผู้สูงอายุ

เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า

การรักษา โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

      การรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่คนในครอบครัว ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก ของผู้ป่วย ฉะนั้นการที่จะพาผู้สูงอายุไปเข้ารับการรักษา ควรที่จะปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกในการรักษาและหาทางออกที่ดีที่ดีสุดให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

     1.การรักษาทางจิตใจ

     การรักษาด้วยวิธีนี้ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้สูงอายุ โดยการให้ผู้ป่วยเข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด ปรับวิธีการคิด และปรับทัศนคติในทางลบให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีจะช่วยให้ผู้สูงอายุ เปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้ดีมากยิ่งขึ้น

     2.การรักษาโดยการใช้ยา

     การรักษาด้วยวิธีนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุอาการดีขึ้นเร็ว แต่ก็อาจจะส่งผลข้างเคียงด้านอื่น ๆ ซึ่งยารักษาโรคซึมเศร้า จะมีหลายกลุ่ม ทั้งนี้การใช้ยาจะต้องได้รับการแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง ไม่ควรซื้อจากร้านขายยาหรือจากคำแนะนำของผู้อื่น เพราะตัวยานั้น อาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ และอาจจะทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาได้

 

สรุป

      โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตใจ เป็นบาดแผลที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เป็น และเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดกับผู้สูงอายุสูง ฉะนั้นครอบครัวใด ที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ก็อย่าลืมสังเกตอาการของผู้สูงอายุในบ้าน ว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้หาแนวทางป้องกันโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้

 

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup