บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าหลายคนได้เห็นข่าวคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น บางรายเสียชีวิตจากอาการโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากผลสำรวจ ปี 2563 คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 2.9 ล้านคน จะเห็นได้เลยว่า โรคซึมเศร้านี้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด แล้ว โรคซึมเศร้า อาการ เป็นอย่างไร? ต้องมีความเศร้ามากน้อยแค่ไหน? ALLWELL อยากจะชวนทุกท่าน มารู้จักและเฝ้าระวังภัยร้ายนี้กันค่ะ
สารบัญ
- โรคซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร?
- สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
- โรคซึมเศร้า อาการแตกต่างจากความเศร้าปกติอย่างไร?
- โรคซึมเศร้า รักษาได้ไหม?
- การป้องกันโรคซึมเศร้า โดยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
- ดูแลตัวเองอย่างไร หากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- สรุปโรคซึมเศร้า อย่าปล่อยไว้ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์
โรคซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร?
โรคซึมเศร้า (Depression disorder) เกิดจากการที่สมองหลั่งสารผิดปกติ ได้แก่ โดปามีน (dopamine) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) เมื่อสารเคมีเหล่านี้ผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกาย อารมณ์ ความคิด ไปจนถึงพฤติกรรม เกิดความแปรปรวน และนำไปสู่อาการผิดปกติต่าง ๆ ดังนั้น โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนคิด
อาการโรคซึมเศร้า
- มีอาการเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว หดหู่ ผิดหวัง ไม่มีความสุข
- การเคลื่อนไหวเชื่องช้า กระสับกระส่ายผิดปกติ ไม่มีสมาธิ ไม่อยากทำอะไร
- นอนไม่หลับ นอนน้อยหรือมากเกินกว่าปกติ มีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดทั้งคืน
- เหนื่อยง่าย หมดเรี่ยวแรง หงุดหงิดง่าย
- เบื่ออาหาร กินมากหรือน้อยจนเกินไป ส่งผลให้น้ำหนักตัวขึ้นหรือลดลงจนผิดปกติ
- มองโลกในแง่ร้าย คิดด้านลบ มองว่าตัวเองไร้ค่า หรือรู้สึกเกลียดตัวเอง
- มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายตนเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย หากมีพฤติกรรมเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
หากคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้นหลายข้อ และเป็นเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 14 วัน คุณอาจจะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็ว
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เกิดได้จากหลายสาเหตุหรือหลายปัจจัยกระตุ้น ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากคุณกำลังสงสัยว่าคุณเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ลองเช็กดูว่าคุณมีสาเหตุกระตุ้นดังต่อไปนี้หรือเปล่า
โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้
- สถานการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น โดนทำร้าย ถูกข่มขืน ตกงาน ผิดหวังจากความรักหรือการเรียน สิ่งเหล่าจะทำให้เกิดความผิดหวังและความเศร้า หากไม่ได้รับการเยียวยาหรือรักษา จะนำไปสู่โรคซึมเศร้า
- ผลข้างเคียงของการเป็นโรคร้ายหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ภาวะไทรอยด์ทำให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม
- พันธุกรรม จากการสำรวจพบว่า หากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นสูงถึง 60 – 80% หากคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไปถึง 20%
- ผู้สูงอายุ เมื่อเข้าสู่วัยนี้ จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย เนื่องจากอารมณ์และความรู้สึกแปรปรวน หรือความเศร้าจากการใช้ชีวิต เช่น อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลานดูแล
โรคซึมเศร้า อาการแตกต่างจากความเศร้าปกติอย่างไร?
หลายคนที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ อาจมีความสงสัยว่า อาการที่ตนพบอยู่นั้นใช่อาการของโรคซึมเศร้าหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่ภาวะหรือความเศร้าตามปกติเท่านั้น ต้องบอกเลยว่า โรคซึมเศร้าและอาการเศร้าแบบทั่วไปนั้น มีส่วนนที่คล้ายและแตกต่างกัน โดยอาการเศร้าแบบทั่วไป มักจะเป็นดังนี้
อาการเศร้าแบบทั่วไป
- รู้สึกเศร้า ผิดหวัง หดหู่ ท้อแท้ ไม่มีความสุข ไม่ร่าเริงสดใส แต่บางครั้ง ความเศร้าเหล่านี้ก็สามารถทำให้หายไปได้ ด้วยการทำสิ่งที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อให้ลืมความเศร้าไปได้ชั่วขณะ
- พฤติกรรมการกินและการนอนมากหรือน้อยจนผิดปกติไป อาจมีน้ำหนักขึ้นหรือลงบ้าง แต่โดยรวมจะสามารถกินและนอนตามความต้องการของร่างกายได้
- กิจวัตรในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป ในเรื่องของการเรียนหรือการทำงาน แต่ยังสามารถทำกิจวัตรเหล่านั้นได้
- รู้สึกเหนื่อยง่าย เบื่อหน่าย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในระยะเวลาไม่นานเท่าโรคซึมเศร้า
- ไม่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย แต่ในบางรายอาจมีพฤติกรรมเหล่านี้บ้าง แต่ไม่รุนแรงเหมือนกับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ จะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด
หากอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคุณยังไม่แน่ใจว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมแศร้าหรือไม่? ลองทำ>>แบบทดสอบโรคซึมเศร้าจากกรมสุขภาพจิต <<เพื่อวัดความเสี่ยงและระดับอาการได้ค่ะ
โรคซึมเศร้า รักษาได้ไหม?
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งพบเร็ว ยิ่งรักษาได้เร็ว โอกาสที่จะหายจากโรคนี้มีสูงมาก ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องสำรวจตนเอง เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังโรคนี้ได้ หากรู้ตัวว่าตนเองเข้าข่ายโรคซึมเศร้า ให้รีบไปพบจิตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับคำวินิจฉัย และรักษาต่อไป โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
การรักษาโรคซึมเศร้า
- รักษาด้วยการบำบัด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยจะให้ผู้ป่วยพูดคุยกับจิตแพทย์ถึงสาเหตุและอาการ เพื่อที่จะได้ประเมินระดับความรุนแรง และหาวิธีการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ลงได้
- รักษาด้วยการใช้ยา เนื่องจากโรคซึมเศร้า เป็นอาการที่เกิดจากสารในสมองหลั่งผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วย จะต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อรักษาควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตใจ โดยที่จะต้องเป็นยาที่ถูกจ่ายจากจิตแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น หากซื้อกินเองอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรืออาการทรุดลงได้
หลายท่านอาจสงสัยว่า โรคซึมเศร้าเป็นแล้วหายเองได้ไหม? ไม่ไปหาหมอได้หรือเปล่า? จริง ๆ แล้วโรคซึมเศร้าไม่สามารถหายเองได้นะคะ
เนื่องจากเป็นโรคที่สารทั้ง 3 ชนิดในสมองไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการ และจ่ายยาเพื่อรักษาตามความรุนแรงของอาการที่เป็น หากปล่อยไว้ อาการจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การไปพบจิตแพทย์ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุดค่ะ เพื่อที่จะได้หายขาด และไม่กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำนะคะ
การป้องกันโรคซึมเศร้า โดยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่อันตรายและต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรือต้องการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันได้ ดังนี้
วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า
- หากิจกรรมที่ชอบทำ หรืองานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความเครียด
- การได้พูดคุยกับคนรอบข้าง ระบายความรู้สึกต่าง ๆ กับเพื่อน ครอบครัวที่สนิทและไว้ใจ
- หากรู้สึกว่าตนเองมีความเครียด ความเศร้าสะสมบ่อยครั้ง ควรปรึกษานักจิตบำบัด หรื
- นักจิตวิทยาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการป่วยเป็นซึมเศร้า
- เรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
ดูแลตัวเองอย่างไร หากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
แน่นอว่า หากถูกวินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่อีกเรื่องสำคัญเช่นกัน คือการที่ผู้ป่วยจะต้องพยายามดูแลตัวเองควบคู่ไปกับการรักษาด้วย เพราะโรคซึมเศร้ามักมีพฤติกรรมและปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้แย่ลง ฉะนั้น จำเป็นจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ดังนี้
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า
- ดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรง พยายามกินอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ
- หางานอดิเรก หรือกิจกรรมยามว่าง เพื่อให้ลืมเรื่องความเศร้า เช่น การไปเป็นจิตอาสา การเข้าชมรมต่าง ๆ
- ฝึกการมองโลกในแง่ดี ให้กำลังใจตัวเอง ไม่ทำอะไรที่รู้สึกเครียด
- พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะโดนทำร้ายร่างกาย แก้ไขโดยการพาตัวเองออกมาจากคนเหล่านั้น หรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ให้เวลากับตัวเอง ได้ทำอะไรที่ชอบ หรือทำแล้วเกิดความสุข หมั่นสร้างรอยยิ้มให้กับตัวเองอยู่เสมอ
สรุป
โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่อันตรายมาก ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้าม หากมีอาการเศร้าหรือมีอาการที่เข้าข่ายโรคนี้ ให้รีบพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาทางป้องกันโดยเร็ว สิ่งสำคัญ คือการที่ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่ไปด้วย และหากคุณมีคนที่รักป่วยเป็นโรคนี้ล่ะก็ อย่าลืมที่จะมอบความรักและให้กำลังใจเขาเหล่านั้น ให้หายกลับมาเป็นปกตินะคะ