สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สุขภาพจิตผู้สูงอายุ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         ผู้สูงอายุ เป็นวัยของการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกาย มีความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหน้า กล้ามเนื้อ สายตาแย่ลง และนอกจากทางกาย เรื่องของ สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุจะประสบกับการสูญเสียในชีวิตมาก เช่น สูญเสียคนใกล้ คู่แต่งงาน หน้าที่การงาน  

สุขภาพจิตผู้สูงอายุ

         ทำให้ผู้สูงอายุ ต้องปรับตัวมากเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ หากผู้สูงอายุไม่สามารถปรับตัวได้ และหากสะสมเป็นระยะเวลานานก็อาจจะพบปัญหา สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ซึ่งจากรายงานของฐานข้อมูลการบริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีผู้สูงอายุป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับบริการถึง 75,564 คน

ซึ่งมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ถึงร้อยละ 1.17 ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่พบบ่อย ได้แก่ ความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ระแวง และความจำเสื่อม

สารบัญ

สาเหตุของปัญหา สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

 ผู้สูงอายุหลายท่าน มีสุขภาพจิตที่ไม่สดชื่นแจ่มใสเท่าที่ควร ที่เป็นอย่างนั้นเพราะมีหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ที่ส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกของผู้สูงอายุ จนทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุเสียได้นะคะ

สุขภาพจิตผู้สูงอายุ

  • การสูญเสีย เช่น สูญเสียคนใกล้ชิด คู่ชีวิต ทำให้อารมณ์ของผู้สูงอายุหวั่นไหวไปด้วย รู้สึกเศร้า และเกิดความรู้สึกกลัวว่าตนเองจะเสียชีวิต
  • ออกจากหน้าที่การงาน ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยกย่องเหมือนเดิม กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย การเงิน รู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าตนเองไร้คุณค่า ต้องพึ่งลูกหลาน กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวขาดความสามารถ ไม่มีคุณค่า กลัวว่าจะไม่ได้รับความรัก ความดูแลจากลูกหลาน ทำให้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นลมง่าย หายใจไม่ออก เบื่ออาหาร เป็นต้น
  • ความจำน้อยลง ผู้สูงอายุจะจำเรื่องใหม่ ๆ ได้ไม่ดีเท่าเรื่องเก่า ๆ ในอดีต ต้องถามซ้ำ ๆ ทำให้รู้สึกไม่ดีกับตนเอง
  • เก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม เพราะคิดว่าตัวเองแก่แล้ว
  • ทุกข์ใจ เรื่องในอดีต เสียดาย อยากย้อนเวลา คิดซ้ำ ๆ กังวลในเรื่องของปัจจุบัน และอนาคต กลัวถูกทอดทิ้ง
อ่านบทความ : โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ความเจ็บปวดด้านจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา

วิธีสังเกตผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต

         ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะสุขภาพจิตที่ดี นำไปสู่โรคภัยและปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมีผลกับกิจวัตรประจำวันได้นะคะ ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุ ดังนี้ค่ะ

สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

  1. รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลงกว่าปกติ
  2. นอนหลับมากกว่าปกติ หรือมีอาการนอนไม่หลับ ตกใจตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้
  3. อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย
  4. พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนร่าเริงแจ่มใส กลับซึมเศร้า / ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ ก็หันมาดื่ม / เคยพูดน้อย กลายเป็นคนพูดมากขึ้น
  5. มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งหาสาเหตุไม่พบ

การส่งเสริม สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

  • ให้ความเคารพ นับถือ ยกย่อง

         ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่ากับคนในครอบครัว ส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว และสังคม หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน กระตุ้นในผู้สูงอายุรู้สึกว่า ตนเองเป็นที่ปรึกษาของบุคคลในครอบครัว เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า มีความสุขุมรอบคอบ เป็นหลักให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัว หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน

สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

  • สร้างอารมณ์ขัน

         การหัวเราะจะช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากการหัวเราะช่วยลดความดันโลหิต และระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลง (ฮอร์โมนแสดงความเหนื่อยล้าในกระแสเลือด) และช่วยเสริมสร้างระดับของภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

  • ระมัดระวังการเจ็บป่วยและการเกิดอุบัติเหตุ

         ซึ่งมักเกิดขึ้นง่ายในผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ต้องใช้เวลาในการดูแลนานกว่าวัยหนุ่มสาว ซึ่งอาจจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกแย่กับตนเอง เพราะฉะนั้น การออกกำลังกาย ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในการส่งเสริม สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อ ทำงานดีขึ้น ยังเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เพิ่มการหลั่งสารแห่งความสุข ทำให้มีความสุขมากขึ้น ลดความเครียด และยังทำให้เซลล์สมองทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ อาหารที่มีประโยชน์ ก็ช่วยให้สุขภาพของผู้สูงอายุแข็งแรงเช่นกัน

  • ตระหนักและระวังความรู้สึก

         ระมัดระวังภาวะอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว น้อยใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อให้ความสัมพันธ์กับครอบครัว และลูกหลานเป็นไปในทางที่ดี เป็นที่พึ่งทางใจของลูกหลาน

  • ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ

         สนับสนุนผู้สูงอายุให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรี เพื่อทำให้ใจเพลิดเพลิน

  • หาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน

         การเลี้ยงสัตว์ หรือการให้เวลากับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด ได้คุยเล่น หยอกล้อกับมันเสียบ้าง จะช่วยให้จิตใจที่ฟุ้งซ่าน สงบลงได้ รู้จักการให้ มองโลกในแง่ดีมากขึ้น

สุขภาพจิตผู้สูงอายุ

  • พุดคุยกับผู้สูงอายุบ่อย ๆ

         ควรสอบถามสาเหตุ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความวิตกกังวล พูดคุย และรับฟัง แลกเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ควรให้ผู้สูงอายุเก็บปัญหา หรือความไม่สบายใจไว้เพียงลำพัง ทำความเข้าใจ ความคิดของผู้สูงอายุ

  • หลีกเลี่ยงการให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวเพียงลำพัง

         สนับสนุนให้ออกไปพบปะผู้คน หาสังคมใหม่ ๆ ทำกิจกรรม หรืองานอดิเรก

  • จัดสถานที่ให้เอื้ออำนวยกับการดำเนินชีวิต 

        สถานที่และสภาพแวดล้อมสำหรับคนทั่วไป อาจไม่เหมาะกับการใช้งานของผู้สูงอายุ และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการหกล้มในผู้สูงอายุได้ ดังนั้น จึงควรจัดระเบียบหรือจัดสรรแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุ เช่น ห้องน้ำผู้สูงอายุ ห้องนอนผู้สูงอายุ

  • ให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง

         ควรให้ความรู้ ทั้งทางร่างกายของผู้สูงอายุ ความรู้เรื่องอนามัย และความรู้อื่น ๆ ในการดูแลสุขภาพกาย และใจของตนเองแก่ผู้สูงอายุ

หลัก 5 สุขในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ

         น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้วางแนวทางสำหรับยุค 4.0 เพื่อให้ผู้สูงอายุไทย สามารถสร้างความสุข ความพึงพอใจในชีวิตให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ด้วยการยอมรับ และปรับตัวให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใช้ชีวิตอยู่อย่างพอดี และมีคุณค่า ยึดหลัก 5 สุขในการดำเนินชีวิต ได้แก่

สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

  1. สุขสบาย : ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง คล่องแคล่ว ตามสภาพ ไม่ใช้สารเสพติด
  2. สุขสนุก : ทำกิจกรรมที่ทำให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส ลดความซึมเศร้า ความเครียด และความกังวล
  3. สุขสง่า : มีความพึงพอใจในชีวิต ภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตนเอง มีความเห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือผู้อื่น
  4. สุขสว่าง : คิดและสื่อสารอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. สุขสงบ : รับรู้ เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุม และจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น สามารถผ่อนคลาย และปรับตัวยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง

สรุป

         การดูแลเรื่องสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ครอบครัว หรือคนดูแลไม่ควรมองข้ามนะคะ หากมีสุขภาพจิตที่ดี จะนำมาซึ่งร่างกาย และจิตใจที่แข็งแรงตามมาด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นไปได้อย่างราบรื่น และมีความสุขค่ะ

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup