เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลง ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ทั้งการเดิน การนั่ง หรือการนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการขับถ่ายและการอาบน้ำ เพราะการที่ผู้สูงอายุจะต้องเข้าห้องน้ำไปเพื่อขับถ่าย อาบน้ำ หรือทำความสะอาดร่างกายนั้น มักจะเกิดปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุบ่อย ๆ บทความนี้จึงอยากจะนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาเหล่านี้ พร้อมกับมีแนวทางการจัด ห้องน้ำผู้สูงอายุ ที่ปลอดภัยมาฝากกันค่ะ
สารบัญเนื้อหา
- ทำไมห้องน้ำถึงเป็นจุดเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ?
- 5 สิ่งที่ควรระวังในห้องน้ำผู้สูงอายุ ที่คนในครอบครัวไม่ควรมองข้าม!
- แปลนห้องน้ำผู้สูงอายุที่เหมาะสม
ทำไมห้องน้ำถึงเป็นจุดเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ?
สาเหตุที่ห้องน้ำเป็นจุดที่เสี่ยงต่อปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุมากที่สุด นั่นก็เพราะกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ มักจะใช้บริเวณห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น การขับถ่าย การอาบน้ำ การล้างหน้า แปรงฟัน ล้างมือ จะเห็นได้ว่าในหนึ่งวัน ผู้สูงอายุจะใช้เวลาเข้าห้องน้ำหลายต่อหลายครั้ง
เดิมทีผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วทั้งปัญหาข้อเข่า กระดูก เส้นเอ็น หรือโรคภัยต่าง ๆ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการทรงตัวไม่ค่อยอยู่ ซึ่งบริเวณห้องน้ำ โดยเฉพาะห้องน้ำที่ไม่ได้แยกโซนเปียกกับโซนแห้งออกจากกัน พื้นห้องน้ำจะมีความเปียกและลื่นเกือบตลอดเวลา ทำให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวหรือร่างกายไม่แข็งแรง จะลื่นล้มได้ง่าย
นอกจากนี้ อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างในห้องน้ำ ก็มักไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ เช่น ประตูที่ต้องใช้แรงเยอะ ๆ อ่างล้างหน้าที่อยู่สูงหรือต่ำเกินไป โถส้วมที่ไม่แข็งแรง เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้มหรือลื่นล้ม จนนำไปสู่การบาดเจ็บทั้งน้อยและมาก หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ห้องน้ำจึงเป็นบริเวณที่อันตรายที่สุดในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ การจัดสรรให้ห้องน้ำเหมาะสำหรับการใช้งานของผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุลงได้
5 สิ่งที่ควรระวังใน ห้องน้ำผู้สูงอายุ ที่คนในครอบครัวไม่ควรมองข้าม!
ห้องน้ำ เป็นสถานที่ที่จะเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุได้ง่ายที่สุด เพราะมีความเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งสิ่งของบางอย่างในห้องน้ำก็เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ โดยที่คนในครอบครัวมักมองข้ามไป ฉะนั้น สิ่งที่คนในครอบครัวควรระวังในห้องน้ำผู้สูงอายุ มีดังนี้ค่ะ
1.ประตู : ควรสำรวจสภาพประตูห้องน้ำว่ามีการชำรุดหรือต้องซ่อมแซมหรือไม่ เพราะประตูที่ใช้งานมาหลายปี มีโอกาสเสื่อมสภาพได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น ประตูล้มใส่ ประตูหนีบมือ ประตูบวมพอง ทำให้ต้องออกแรงเปิด – ปิดประตูมากกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้มเป็นอย่างมาก
2.พื้นห้องน้ำ : เป็นส่วนที่สัมผัสน้ำเกือบจะตลอดเวลา ทำให้เปียกและลื่น เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้มหรือลื่นล้มได้ ดังนั้นควรเลือกใช้กระเบื้องที่ไม่มันหรือลื่นจนเกินไป และควรหมั่นทำความสะอาดพื้น เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
3.ไฟ : ตรวจสอบไฟทั้งบริเวณหน้าห้องน้ำและในห้องน้ำ ว่ามีแสงสว่างเพียงพอต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุหรือไม่ เพราะหากมีแสงสว่างน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคตา ผู้สูงอายุอาจมองไม่เห็นสิ่งกีดขวาง และเป็นสาเหตุทำให้ลื่นล้มได้
4.โถส้วม : ควรตรวจสอบให้โถส้วมว่ามีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการล้มของโถส้วมขณะผู้สูงอายุใช้งาน และควรทำความสะอาดทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อ
5.อ่างล้างหน้า : ผู้สูงอายุหลายคน มักเท้าแขนบริเวณอ่างล้างหน้า เพื่อพยุงตัวในการล้างมือ ล้างหน้า แปรงฟัน ดังนั้น ต้องตรวจสอบว่าอ่างล้างหน้าสามารถรับน้ำหนักจากการเท้าแขนของผู้สูงอายุได้หรือไม่ หากอ่างล้างหน้าไม่แข็งแรงพอ อาจจะพังลงมา ทำให้ผู้สูงอายุล้มหรืออาจเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงกว่านั้นได้
แต่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใดของบ้าน ก็ควรดูแลรักษาความสะอาด และตรวจสอบสภาพการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีให้คนในครอบครัวได้อีกด้วย
แปลน ห้องน้ำผู้สูงอายุ ที่เหมาะสม
หลังจากที่ได้รู้ไปแล้วว่าส่วนไหนในห้องน้ำผู้สูงอายุที่ควรระวังไว้บ้าง หลายคนคงสงสัยว่า แล้วห้องน้ำผู้สูงอายุที่ดีควรจะเป็นอย่างไร? จริง ๆ แล้วห้องน้ำผู้สูงอายุก็เหมือนกับห้องน้ำปกติทั่วไปเลยค่ะ เพียงแต่ต้องเพิ่มอุปกรณ์บางอย่างหรือเลือกสรรอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ให้เหมาะสมกับการใช้งานและความปลอดภัยของผู้สูงอายุค่ะ
- ราวจับ
ติดตั้งราวจับรูปตัวแอล (L) ให้มีความยาวและตำแหน่งที่เหมาะสมกับขนาดร่างกายของผู้สูงอายุ ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซม. มีผิวเรียบไม่มีเหลี่ยมคม ทำจากวัสดุที่ปลอดภัย ยึดกับผนังอย่างแน่นหนา ติดตั้งใกล้ชักโครกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ถ้าห้องน้ำกว้างให้ติดตั้งไว้ 2 จุด - โถส้วม
เลือกส้วมแบบชักโครกแทนส้วมซึมนั่งยอง หากฝารองนั่งมีระบบชำระล้างอัตโนมัติจะยิ่งสะดวกกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรมีความสูงประมาณ 35-40 เซนติเมตร เพื่อให้เท้าของผู้สูงอายุวางพอดีกับพื้นสามารถลุกนั่งได้ง่าย ในกรณีที่ขาไม่ถึงควรมีอุปกรณ์สำหรับรองขา
- ปุ่ม/คันกดชำระ และกระดาษชำระ
ควรติดตั้งในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งานได้สะดวกในท่านั่ง โดยไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลังเหมือนชักโครกทั่วไป - ปุ่มฉุกเฉิน
ติดตั้งปุ่มฉุกเฉินไว้ในตำแหน่งที่กดได้ง่าย เพื่อให้คนเข้าไปช่วยได้ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ - อ่างล้างมือ
รับน้ำหนักจากการท้าวแขนสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้าได้ และติดตั้งให้สามารถใช้งานได้แม้จะนั่งบนรถเข็น และควรเลือกใช้ก๊อกแบบไม่ต้องออกแรงในการปิดเปิดมากนัก
Checklist กันดีกว่า! ห้องน้ำผู้สูงอายุที่เหมาะสมควรมีอะไรบ้าง?
O ประตูเปิด-ปิดง่าย (แนะนำประตูบานเลื่อน)
O ประตูกว้างพอสำหรับเดินเข้า-ออก
O ประตูกว้างพอสำหรับรถเข็นผู้ป่วย
O ไม่มีขอบประตู หรือขอบประตูไม่สูงเกินไป
O พื้นห้องน้ำไม่เป็นพื้นต่างระดับ
O วัสดุปูพื้นไม่ควรลื่นหรือมันวาว
O ส้วมซึมแบบชักโครก
O ปุ่มกดชักโครกและกระดาษชำระติดตั้งในตำแหน่งที่ใช้งานง่าย
O ฝารองนั่งมีระบบชำระล้างอัตโนมัติ
O ติดตั้งราวจับบริเวณชักโครก
O มีปุ่มฉุกเฉิน
สรุป
ห้องน้ำผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่คนในครอบครัวไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยที่สุด หากเราสามารถจัดสรรห้องน้ำให้เหมาะสม จะช่วยลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ลงได้ โดยเฉพาะปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุ ดังนั้น นอกจากจะดูแลห้องน้ำผู้สูงอายุแล้ว ผู้สูงอายุก็จำเป็นจะต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงควบคู่ไปด้วย และเพื่อให้มั่นใจมากขึ้น การใช้อุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้สูงอายุปลอดภัยและหายกังวลไปได้เยอะเลยค่ะ