บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ปัญหาสุขภาพจิต เป็นหนึ่งในปัญหาที่เป็นที่สนใจและพูดถึงกันมากขึ้นในยุคปัจจุบันไม่แพ้ปัญหาสุขภาพทางกาย ด้วยสภาพสังคมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้ผู้คนอาจพบเจอกับปัญหาสุขภาพจิตได้บ่อยยิ่งขึ้น ซึมเศร้าเรื้อรัง ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่สามารถส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย การตระหนักรู้และเข้าใจถึงปัญหาของโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะสามารถทำให้เราให้การสนับสนุนและดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธี บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับซึมเศร้าเรื้อรัง ว่าคืออะไร? มีอาการและสาเหตุจากอะไร? ความแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้ากับภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง รวมไปถึงการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
สารบัญ
- ซึมเศร้าเรื้อรัง คืออะไร?
- อาการซึมเศร้าเรื้อรังเป็นอย่างไร? รุนแรงขนาดไหน?
- ซึมเศร้าเรื้อรังมีสาเหตุมาจากปัจจัยใดบ้าง?
- ความแตกต่างระหว่างซึมเศร้าเรื้อรัง กับ ซึมเศร้า
- เราสามารถเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังพร้อมกับโรคซึมเศร้า ได้หรือไม่
- การรักษาซึมเศร้าเรื้อรัง มีรูปแบบไหนบ้าง?
- การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง
- สรุปซึมเศร้าเรื้อรัง ภัยเงียบใกล้ตัว
ซึมเศร้าเรื้อรัง คืออะไร?
Persistent Depressive Disorder หรือ โรคซึมเศร้าเรื้อรัง คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นระยะเวลายาวนาน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) โดยผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังมักจะพบว่าตนเองตกอยู่ในภาวะเศร้าหมอง ไม่สบายใจ ในชีวิตประจำวัน โดยอาจกินระยะเวลายาวนานถึง 2 ปีสำหรับผู้ใหญ่ และ 1 ปีสำหรับเด็กและเยาวชน และถึงแม้ว่าซึมเศร้าเรื้อรังจะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ไม่น้อย
อ่านบทความ : โรคซึมเศร้า อาการ เป็นอย่างไร? ความเศร้ารุนแรงที่ต้องระวังไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป!อาการซึมเศร้าเรื้อรังเป็นอย่างไร? รุนแรงขนาดไหน?
ซึมเศร้าเรื้อรังเป็นโรคที่สามารถสร้างความเสียหายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ดังนั้นหากเราสังเกตว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการของภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ควรรีบวินิจฉัยและรับการรักษา โดยสัญญาณบ่งชี้ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง Dysthymia มักมีอาการดังต่อไปนี้
อาการของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
- ซึมเศร้าเรื้อรังอาการโดยเบื้องต้นจะมีอารมณ์เศร้าหรือขาดความสุขอยู่ตลอดเวลา
- สูญเสียความสนใจในการทำกิจกรรมที่เคยชอบ
- ขาดการเข้าสังคมและความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รอบตัว
- ขาดความรู้สึกมั่นคงในตนเองและมองว่าตนเองไม่มีคุณค่า
- รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย ไม่อยากอาหาร
- ผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังอาจนอนหลับไม่สนิท ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
ซึมเศร้าเรื้อรังมีสาเหตุมาจากปัจจัยใดบ้าง?
ซึมเศร้าเรื้อรังเป็นปัญหาทางจิตเวชที่ไม่อาจสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดอย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเรื้อรังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน ยกตัวอย่างปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ มีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย
- ปัจจัยทางชีวภาพ: การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท หรือสารเคมีในสมอง (เป็นสารเคมีที่มีหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท) อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ โดยเฉพาะสาร serotonin, norepinephrine, และ dopamine ที่มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก
- ปัจจัยทางพันธุกรรม: ผู้ที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติของการเป็นซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นซึมเศร้าเรื้อรังได้มากกว่าคนทั่วไป
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม: ผู้ที่มีความเครียดสะสม หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ในชีวิตที่ตึงเครียดเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้านจิตใจจากเหตุการณ์บางอย่าง (trauma) อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าเรื้อรังได้
ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ลักษณะนิสัยส่วนตัวที่เอื้อให้เกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรัง, การมีโรคประจำตัว, ความผิดปกติทางสมอง, และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างซึมเศร้าเรื้อรัง กับ ซึมเศร้า
หลายคนมักสงสัยถึงความแตกต่างระหว่างภาวะซึมเศร้าเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า ถึงแม้ว่าซึมเศร้าเรื้อรัง และโรคซึมเศร้า ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคทางอารมณ์เหมือนกัน แต่ยังมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ดังนี้
ซึมเศร้าเรื้อรัง | ซึมเศร้า | |
ระยะเวลา | ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังมักมีอาการเป็นระยะเวลายาวนานถึง 2 ปีสำหรับผู้ใหญ่ และ 1 ปีสำหรับเด็กและเยาวชน | ภาวะซึมเศร้ามักเกิดขึ้นเป็นระลอก โดยในแต่ละครั้งมักจะมีอาการเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ |
ความรุนแรง | ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง จะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า แต่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า อย่างไรก็ตามซึมเศร้าเรื้อรังก็ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก | ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอาการที่รุนแรงทางอารมณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีแนวโน้มที่มีความคิดเกี่ยวกับการอัตฆาตกรรม |
ความต่อเนื่อง | ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลายาวนาน | อาการของโรคซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นเป็นระลอก โดยระหว่างนั้นจะมีช่วงที่อาการสงบหรือ |
เราสามารถเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังพร้อมกับโรคซึมเศร้า ได้หรือไม่
เราสามารถเป็นซึมเศร้าเรื้อรังพร้อมกับโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งจะสร้างความลำบากให้กับผู้ป่วยที่เป็นสองโรคนี้ในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความซับซ้อนของอาการป่วย ดังนั้นผู้ป่วยที่พบว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นสองโรคนี้พร้อมกัน ควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็วที่สุด
การรักษาซึมเศร้าเรื้อรัง มีรูปแบบไหนบ้าง?
โดยส่วนมากแล้วการรักษาซึมเศร้าเรื้อรังจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ตามการวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อบรรเทาอาการ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรัง มีดังนี้
- จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นปัจจัยสำคัญของการรักษาซึมเศร้าเรื้อรัง เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้ทำความเข้าใจถึงพฤติกกรรม ความคิด และอารมณ์ของตนเองมากยิ่งขึ้น
- การรักษาด้วยยา (Medication) โดยจิตแพทย์มักจ่ายยาในกลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressants) ให้กับผู้ป่วย เพื่อปรับสมดุลให้กับสารเคมีในสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้คนที่คุณรักเป็นโรคนี้ แต่หากคุณมีคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดที่เป็นซึมเศร้าเรื้อรัง ไม่ต้องเป็นกังวลไป Allwell ได้รวบรวมวิธีดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นไว้ในบทความนี้แล้ว เพื่อให้ทุกท่านได้นำไปใช้กันอย่างถูกวิธี สามารถทำตามกันได้ง่ายๆ มีดังนี้
วิธีการดูแลผู้ป่วยซึ้มเศร้าเรื้อรัง มีดังนี้
- คอยสนับสนุนและให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอ
- ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกเมื่อมีเวลาว่าง
- คอยรับฟังปัญหาและพูดคุยกับผู้ป่วย
- ช่วยดูแลสุขภาพทางกายของผู้ป่วย ด้วยการให้ออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์
สรุป
ซึมเศร้าเรื้อรัง เป็นโรคทางจิตเวชที่ไม่อาจมองข้าม เนื่องจากเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ดังนั้นเราจึงควรศึกษาและมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง เพื่อคอยเฝ้าระวังและหาแนวทางป้องกันสำหรับกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีหากพบว่ามีคนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้าเรื้อรัง