5 สัญญาณเตือนอาการ “เครียดลงกระเพาะ” เครียดบ่อยๆ ต้องระวัง!

เครียดลงกระเพาะ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         ความเครียด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเกือบทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะวัยรุ่นที่เครียดกับการเรียนการสอบ หรือวัยผู้ใหญ่ที่เครียดกับการภาระหน้าที่อันหนักอึ้งทั้งการทำงาน และการใช้ชีวิต ปัญหาความเครียดเหล่านี้ เปรียบเสมือนประตูที่เปิดรับโรคร้ายต่าง ๆ เข้ามา โดยจุดเริ่มต้นของผลกระทบจากความเครียดคือ โรค “เครียดลงกระเพาะ” ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอโดยเฉพาะวัยทำงาน มาทำความรู้จักโรคนี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ

สารบัญ

5 สัญญาณเตือนอาการเครียดลงกระเพาะ

         อาการเครียดลงกระเพาะ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่พบส่วนใหญ่ในช่วงวัยทำงาน เนื่องจากเป็นวัยที่มีความเครียดมากจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเราพอจะสังเกตอาการเครียดลงกระเพาะ ด้วยอาการหลัก ๆ เบื้องต้นได้ ดังนี้ค่ะ

เครียดลงกระเพาะ เครียดจนอ้วก

อาการเครียดลงกระเพาะ

  • เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน อยู่ ๆ บ่อย โดยส่วนมากแล้วอาการเหล่านี้จะเกิดหลังรับประทานอาหาร อาจมีอาการแสบทรวงอกร่วมด้วยในบางกรณี
  • รู้สึกอาหารไม่ย่อย ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก และภายในช่องท้องมีลมมากเกินไป ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  • เกิดความอยากอาหาร มากกว่าปกติ
  • มีลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ร่างกายจึงขับออกด้วยการเรอ บางครั้งอาจจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
  • การขับถ่ายไม่ปกติทุกวัน คุณสามารถสังเกตสีของอุจจาระที่ออกมา หากมีสีดำต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจจะมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้

ทำไมถึงเครียด แล้วลงกระเพาะ?

         จริง ๆ แล้วความเครียดไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงกระเพาะอาหาร แต่ส่งผลต่อระบบร่างกายเกือบทั้งหมดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสมองสั่งการได้ช้าลง ความจำแย่ลง ฮอร์โมนบางตัวผิดปกติ และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในตัวเราลดลงไปด้วย ดังนั้น คนที่เครียดสะสม หรือมีความเครียดมาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น

เครียดลงกระเพาะ

         ด้วยเหตุที่ระบบร่างกายเกือบทุกส่วนมีปัญหาเนื่องจากความเครียด ทำให้กระเพาะอาหารนั้นได้รับผลกระทบไปด้วย โดยระบบประสาทนั้นไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนผิดปกติ จนไปกระตุ้นน้ำย่อยให้ออกมามากผิดปกติ จนทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมาก นำไปสู่อาการปวดท้อง อาเจียน กระทบไปจนถึงลำไส้ทำให้ท้องผูก ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ความสมดุลของกระเพาะอาหารจึงไม่สามารถทำงานได้ปกติ

บอกลา อาการกรดไหลย้อน แบบไม่ย้อนกลับมาเป็นอีก! ด้วย 10 วิธีง่าย ๆ ไม่ว่าใครก็ทำได้!

เครียดลงกระเพาะบ่อย ๆ อันตรายแค่ไหน?

         ขึ้นชื่อว่าความเครียด ไม่เคยส่งผลดีกับใครทั้งนั้นเลยค่ะ ยิ่งปล่อยไว้นาน ๆ ทำให้เกิดอาการเครียดลงกระเพาะบ่อย ๆ ก็จะทำให้ร่างกายของเรายิ่งแย่ลง โดยในระยะสั้นที่เห็นได้ชัดคือ อาหารไม่ย่อย เกิดกรดไหลย้อน หรืออาการแสบที่ทรวงอก เรอมีกลิ่นเปรี้ยวหรือเหม็น อาการเหล่านี้ไม่ดีต่อคุณแน่ในชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เสียภาพลักษณ์ในการดำเนินชีวิตได้ บางคนอาจมีความเครียดจนอ้วก คลื่นไส้บางเวลา หรือขับถ่ายเป็นสีดำ

เครียดจนคลื่นไส้

         ในระยะยาวถ้าคุณปล่อยให้เกิดโรคเครียดลงกระเพาะ ผลกระทบในระยะสั้นปะทะร่างกายของคุณอยู่บ่อย ๆ แน่นอนว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลง การหลั่งฮอร์โมนจะไม่เป็นปกติ สมองของคุณจะสั่งการช้าลง อาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บรุนแรงตามมา และสมองของคุณจะสั่งการช้า ทำให้การทำงานหรือการตัดสินใจต้องใช้เวลามากขึ้น และที่สำคัญอาจส่งผลต่อจิตใจภายในอีกด้วย ในกรณีร้ายแรง คุณอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

เครียดลงกระเพาะ รักษาได้ไหม? แก้อย่างไรดี

         หากคุณสำรวจตัวเอง แล้วพบว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ ทางที่ดีคือคุณควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจก่อน ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับคุณทั้งหมดนั้น คืออาการเครียดลงกระเพาะจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากโรคร้ายอย่างอื่น เมื่อแน่ใจว่า คุณมีอาการเครียดลงกระเพาะแล้วแพทย์จะวางแผนการรักษาที่ตรงจุดต่อไปค่ะ

เครียดลงกระเพาะ วิธีแก้

         โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจจะรักษาทั้งสองทางไปพร้อมกัน ทางแรก คือรักษาทางด้านร่างกาย ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินอาหารให้ครบ 3 มื้อตรงเวลา โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและย่อยยาก ปรับสมดุลกระเพาะอาหารให้กลับมาแข็งแรง และให้มีการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

         พร้อมกันนั้นหากคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เครียดได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการรักษากับจิตแพทย์ เพื่อรักษาอาการทางด้านจิตใจไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีควบคู่กันไป แพทย์อาจให้คุณทำกิจกรรมลดความเครียด พร้อมจัดสรรเวลาในการทำงานให้คุณไม่เครียดจนเกินไป จนสภาพร่างกายของคุณกลับมาเป็นปกติสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงแนะนำให้เข้ารับการรักษาไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดโรคร้ายตามมาได้

เครื่องวัดความดัน

ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้เครียดลงกระเพาะ

         วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป หมั่นเช็กและสังเกตอาการของตัวเองเป็นประจำ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่มีเรื่องให้ปวดหัวอยู่ไม่มีพัก โดยเรามีวิธีป้องกันอื่น ๆ ที่สามารถลดอาการเครียดลงกระเพาะได้มาแนะนำ ดังนี้

เครียดลงกระเพาะ

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ฮอร์โมนแห่งความสุขหลั่งออกมา ทำให้คุณรู้สึกสดชื่น และดีต่อระบบร่างกายส่วนอื่น ๆ อีกด้วย
  2. หาสิ่งแปลกใหม่ในการจดจ่อ เพราะการเจอสิ่งเดิม ๆ ปัญหาเดิม ๆ อาจทำให้เบื่อหน่ายจนเกินไป ลองออกไปค้นหาสิ่งใหม่ให้สมองของคุณรู้สึกสดชื่นขึ้นจะดีกว่า
  3. เที่ยวเล่นบ้าง อย่าโฟกัสกับปัญหามากเกินไป ออกมาจากสภาวะเหล่านั้นบ้างก็ได้ หรือจะหาเวลาไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติก็ช่วยได้ไม่น้อยเหมือนกัน
  4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงของมึนเมาทุกชนิด
  5. หากเครียดจนคลื่นไส้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรักษาให้อาการดีขึ้น จะได้กลับมาใช้ชีวิตที่ปกติเหมือนเดิม

สรุป

         อย่างไรก็ตาม ความเครียดเป็นสิ่งที่หลายคนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ประกอบอาชีพอะไร ก็ต้องมีเรื่องให้คิดให้ตัดสินใจอย่างแน่นอน ความเครียดจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคนี้ แม้จะกำจัดความเครียดให้เป็น 0 เลยไม่ได้ แต่เราต้องจำกัดขอบเขตและพื้นที่ให้กับมัน ไม่อย่างนั้นจะนำมาสู่โรคร้ายอย่างการเครียดลงกระเพาะ ที่เป็นประตูเปิดรับโรคร้ายอื่น ๆ อีกมากมายเลยค่ะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup