บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
จากการศึกษาโรคหัวใจสามารถคร่าชีวิตคนทั่วโลกได้สูงถึง 12,000,000 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ หรือการมีโรคประจำตัวอื่นๆ ฉะนั้นครอบครัวใดที่มีบุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาว่ามีอาการใดที่เข้าข่าย อาการโรคหัวใจ หรือไม่ เพื่อที่จะได้หาแนวทางการรักษาอย่างทันท่วงที
สารบัญเนื้อหา
1. โรคหัวใจแต่ละชนิดและอาการของโรคหัวใจแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร
โรคหัวใจ มีกี่ชนิด ? และอาการของโรคหัวใจแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร
โรคหัวใจ หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ เช่น การสูบบุหรี่ หรือการที่มีคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงเกินไป ซึ่งอาการของโรคหัวใจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิดของโรค
ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั้น ได้แก่ คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคหัวใจ หรือเรื่องเพศ มีงานวิจัยออกมาว่าเพศชายมีความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าเพศหญิง และผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
โรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
- โรคลิ้นหัวใจ
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
- โรคหัวใจรูห์มาติค
อาการของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่ละชนิด
อาการของโรคหัวใจในผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนของหัวใจและสาเหตุของการเกิดโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญเพื่อจะได้เลือกวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอาการของโรคหัวใจแต่ละชนิด ดังนี้
โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดนี้มักจะมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปถึงสันกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรงร่วมด้วย หรือหนักสุดอาจหมดสติไปเลยก็มี
โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนักๆ และเมื่อภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจมีระดับรุนแรงมากขึ้น จะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้จะนั่งอยู่เฉยๆ รวมทั้งมีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลียนอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในตอนกลางคืน
โรคลิ้นหัวใจ อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ในกลุ่มที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใดๆเลย หรืออาจได้ยินแค่เสียงผิดปกติเมื่อมีการไปตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะทำให้เหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อคลอดออกมา หรือมาแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในกลุ่มที่อาการยังไม่รุนแรงมากอาจมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น
โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ ผู้ป่วยของโรคนี้จะมีไข้ และมักเป็นอาการไข้แบบเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้งๆ ขาบวม รวมไปถึงมีผื่นหรือจุดขึ้นตามบริเวณผิวหนัง
โรคหัวใจรูห์มาติค เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก และมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมที่ข้อ และมีผื่นที่ลำตัว ในรายที่เป็นมากจะทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการอักเสบซ้ำ หลายๆ ครั้ง จะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่หรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจตีบแคบลงหรือรั่วได้
วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่บ้าน
อาการของโรคหัวใจ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยอยู่แล้ว ผู้ป่วยจะมีร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม และอาจจะไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างเองได้ ฉะนั้นคนในครอบครัวหรือผู้ดูแลจะต้องคอยช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษในทุกด้านๆ บทความนี้จึงอยากเสนอวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่บ้าน เพื่อเป็นแนวทางการดูแลและฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงดังเดิม สามารถทำตามได้ง่ายๆดังนี้
รับประทานยาตามแพทย์สั่ง เป็นสิ่งสำคัญเลยที่ผู้ดูแลห้ามละเลย ต้องจัดตารางเวลาการทานยาของผู้ป่วยตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่ดครัด ดูรายละเอียดของเวลาการรับประทานยาอย่างละเอียด ว่ายาตัวไหนทานเวลาไหน ทานหลังอาหารหรือก่อนอาหาร
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ผู้ดูจะต้องดูแลเรื่องอาหารของผู้ป่วยเป็นพิเศษ เลี่ยงอาหารทอดในน้ำมันมากๆ ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารประเภท ต้ม ย่าง ปิ้ง นึ่งแทน และที่สำคัญจะต้องไม่มีรสเค็ม
รับประทานผักผลไม้ ผู้ดูแลควรที่จะใช้วิธีการปรุงอาหารโดยมีผักเป็นส่วนประกอบอาหารหลัก หลังอาหารก็อาจะมีผลไม้ให้ผู้ป่วยไว้รับประทานเพื่อดับคาว แต่ต้องทานให้ปริมาณที่เหมาะสมเพราะผลไม้บางชนิดที่มีรสหวานจัด ถ้ารับประทานมากเกินไปก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้ ผู้ดูแลอาจจะใช้วิธีการเปลี่ยนชนิดของผลไม้ในแต่ละวันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อ
ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2- 3 ลิตร การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ผู้ดูแลควรจะมีจุดวางขวดน้ำไว้ภายในบ้าน เป็นจุดที่ผู้ป่วย สามารถหยิบขึ้นมาดื่มได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะไม่ต้องให้ผู้ป่วยดื่มน้ำทีละเยอะๆ แต่ใช้วิธีการจิบบ่อยๆแทน
การออกกำลังกาย ในผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างที่ทราบกันดีว่าอาการส่วนใหญ่คือเหนื่อยง่าย และไม่สามารถออกกำลังกายหนักๆได้ ฉะนั้นผู้ดูแลอาจจะพาผู้ป่วยออกไปเดินเล่นตามสวนสาธารณะ หรือการเดินเล่นในสวนบริเวณบ้าน และเน้นการออกกำลังกายเบาๆแทน
ดูแลสุขภาพจิต แน่นอนว่าการเป็นคนป่วยต้องสร้างความเครียดและความกังวลให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลจึงควรหากิจกรรมมาทำร่วมกับผู้ป่วย หรือการพาผู้ป่วยไปพักผ่อนตามแหล่งธรรมชาติก็จะช่วยลดความตึงเครียดให้กับผู้ป่วยได้เช่นกัน
เมนูอาหารและเครื่องดื่มบำรุงหัวใจ
เมื่อผู้ดูแลทราบถึงอาการของโรคหัวใจแล้ว การดูแลผู้ป่วยจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เราต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด ทั้งอาหารการกินและกิจกรรมต่างๆที่ผู้ป่วยทำ เราต้องให้ความใส่ใจและเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วย บทความนี้จึงอยากนำเสนอเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งสามารถทำตามกันได้ง่ายๆ ดังนี้
ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์
ส่วนผสม
- อกไก่ 300 กรัม
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ½ ถ้วย
- ต้นหอม 2 ต้น
- พริกหวาน ½ ลูก
- ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1¼ ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมไทย 1 หัว
- น้ำมันพืช
วิธีทำ
- นำอกไก่มาล้างและหั่นเป็นชิ้นพอดีคำตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไปพอน้ำมันเริ่มร้อน ก็ใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ลงไปคั่ว ให้มีสีเหลืองสวย และนำขึ้นพักไว้
- ล้างและหั่นต้นหอมให้มีความยาวประมาณ 1 นิ้ว และหั่นพริกหวานเป็นชิ้นเล็ก ๆ เตรียมไว้
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป พอน้ำมันเริ่มร้อนก็ใส่กระเทียมลงไปเจียวให้มีสีเหลืองและกลิ่นหอม
- เมื่อกระเทียมเริ่มมีสีเหลืองก็ใส่อกไก่ลงไปผัด ผัดไปเรื่อย ๆ จนสุก
- เมื่อไก่เริ่มสุกใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เตรียมไว้ และใส่ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม และน้ำตาลทรายลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ผัดไปเรื่อย ๆ จนเครื่องปรุงเริ่มแห้งก็ใส่ต้นหอม และพริกหวานลงไปผัดให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จ
สลัดแซลมอนย่าง
ส่วนผสม
1. แซลมอน 1 ชิ้น
2. ผักสลัด 1 ถ้วย
3. ผักอื่น ๆ ตามชอบ (มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน)
4. เกลือป่นเล็กน้อย
5. พริกไทยป่นเล็กน้อย
6. ผิวส้ม ¾ ช้อนชา
7. น้ำส้ม 2 ช้อนโต๊ะ
8. สับปะรด 5 ชิ้น
9. เกลือ ¼ ช้อนชา
10. น้ำมันสูตรสลัด
วิธีทำ
1. นำเกลือป่น พริกไทยป่น มาโรยบนแซลมอนให้ทั่วทั้งชิ้น จากนั้นทาน้ำมันลงบนเนื้อปลาหมักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีจากนั้นนำแซลมอนไปย่างให้สุกทั่วทั้งชิ้น
2. เตรียมน้ำสลัดโดยนำเกลือ น้ำตาลทราย น้ำส้ม สับปะรด และผิวส้มลงไปปั่น พอส่วนผสมเริ่มเข้ากัน ก็ใส่น้ำมันสูตรสลัดลงไป 1 ช้อนโต๊ะปั่นให้เข้ากันอีกครั้ง
3. นำผักสลัดและแซลมอนมาจัดจานตกแต่งด้วยมะเขือเทศเชอร์รีและข้าวโพดหวานสุดท้ายราดน้ำสลัดบนผักสลัดพร้อมเสิร์ฟ
ไก่ผัดขิง
ส่วนผสม
1. เนื้ออกไก่ 150 กรัม
2. ขิงแก่ 150 กรัม
3. หอมใหญ่ หัว
4. แครอท 15 กรัม
5. ผักชี เล็กน้อย
6. กระเทียม 15 กลีบ
7. ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ
8. ซีอิ๊วขาว 1¼ ช้อนโต๊ะ
9. น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
10. น้ำซุป 3 ช้อนโต๊ะ
11. น้ำมันพืช
วิธีทำ
1. ตั้งกระทะบนเตาใช้ไฟกลาง ใส่น้ำมันพอน้ำมันเริ่มร้อน ก็ใส่กระเทียมลงไป
2. เจียวจนกระเทียมมีสีเหลืองและส่งกลิ่นหอม ก็ใส่เนื้อไก่ลงไปผัดให้สุก
3. พอไก่สุกได้เล็กน้อยก็ใส่ขิงตามลงไป ผัดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งขิงเริ่มมีสีน้ำตาลและส่งกลิ่นหอม จากนั้นใส่หอมใหญ่ และแครอทลงไป
4. ผัดต่อจนผักสุก ก็เร่งไฟให้แรงขึ้น ใส่ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม น้ำตาลทรายลงไป และตามด้วยน้ำซุป
5. ผัดทุกอย่างให้เข้ากัน เมื่อได้ที่แล้วปิดเตา โรยด้วยผักชีตกแต่งเป็นอันเสร็จ
แอปเปิ้ลสมูทตี้
ส่วนผสม
1. กีวี่
2. แอปเเปิ้ลเขียว
3. แครอท
4. น้ำเชื่อม (จากน้ำตาลไม่ขัดสี)
5. เกลือ
6. น้ำแข็ง
วิธีทำ
1. หั่นกีวี่ แอปเปิ้ลและแครอทเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการปั่น แล้วใส่ลงไปในเครื่องปั่น จากนั้นใส่น้ำเชื่อม เกลือเล็กน้อย และใส่น้ำแข็งตามลำดับ
2. ปั่นให้ละเอียดแล้วเทใส่แก้ว พร้อมรับประทาน
บีทรูทสมูทตี้
ส่วนผสม
1. บีทรูท
2. สัปปะรด
3. น้ำแข็ง
วิธีทำ
1. ใส่บีทรูท สัปปะรด และน้ำแข็งลงไปในเครื่องปั่น ปั่นให้เข้ากันจากนั้นเทใส่แก้ว พร้อมรับประทาน
น้ำเซเลอรี่ (ขึ้นฉ่ายฝรั่ง)
ส่วนผสม
1. เซเลอรี่
2. แตงกวาลูกเล็ก
3. แครอท
วิธีทำ
1.หั่นเซเลอรี่ แตงกวา และเเครอท ลงในเครื่องปั่น จากนั้นเทใส่แก้ว พร้อมรับประทาน
สรุป
การที่ผู้ป่วยได้กลับมารักษาตัวที่บ้าน ก็มีส่วนช่วยฟื้นฟูอาการป่วยได้เช่นกัน ฉะนั้นคนในครอบครัวหรือผู้ดูแล จะต้องให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และอย่าลืมหมั่นสังเกตอาการของโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้หาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700