มะเร็ง โรคที่เรารู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี ทุกปีมักมีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก นอกจากการเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำคือการเลือกรับประทานอาหาร เพราะอาหารบางอย่างอาจไปกระตุ้นให้อาการมะเร็งลุกลามกว่าเดิมได้ ดังนั้นมาดูกันว่า อาหารผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ควรรับประทาน มีอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่ดีต่อสุขภาพค่ะ
สารบัญ
- ทำไมเราต้องดูแลอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็ง?
- อาหารผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ควรรับประทาน มีอะไรบ้าง?
- อาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
- ผู้ป่วยมะเร็งควรดูแลสุขภาพ ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่ดี
ทำไมเราต้องดูแลอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็ง?
การรักษาโรคมะเร็งต้องอาศัยคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีแก่คนไข้แต่ละท่าน ส่วนเรื่องของภาวะโภชนาการหรือการรับประทานอาหารก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การรักษาหลักเกิดผลลัพธ์ที่ดีตรงกับที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยในส่วนนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงมักแนะนำผู้ป่วยและญาติถึงการจำกัดอาหารในบางประเภทซึ่งเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับคนเป็นมะเร็งทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
ประโยชน์ของการดูแลอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็ง
- ลดปัจจัยที่จะไปกระตุ้นการอักเสบภายในร่างกาย จากการรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี หรือการทำคีโม
- ควบคุมปัจจัยที่ทำให้มะเร็งเกิดการลุกลามไปในระยะที่รุนแรงขึ้น
- เพื่อควบคุมสภาวะของโรคที่สืบเนื่องมาจากการเป็นมะเร็ง หรือ โรคที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคหัวใจ เป็นต้น
- ได้รับภาวะโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในขณะที่รักษาโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ดีส่วนของการจำกัดอาหารแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในเบื้องต้นอย่างเหมาะสม เพราะเมื่อเกิดโรคมะเร็งขึ้นแล้ว ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน อาเจียนและไม่มีความอยากอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะขาดอาหาร หรือ ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสมได้ ดังนั้นในทุก ๆ การจำกัดอาหารแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงควรทำไปด้วยความพอเหมาะพอควร
อาหารผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ควรรับประทาน มีอะไรบ้าง?
อาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรรับประทาน ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร ที่สามารถไปกระตุ้นให้เกิดการลุกลามของมะเร็ง หรือไม่ก็เข้าไปทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายของผู้ป่วยดำเนินไปอย่างไม่สะดวก ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง โดยมีอาหารดังนี้
1. อาหารที่มีการผ่านความร้อนสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
อาทิเช่น อาหารที่มีการทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หรือ อาหารปิ้งย่างที่มักมีการไหม้เกรียมติดมาด้วย นับเป็นอาหารผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรรับประทาน รวมไปถึงผู้ที่ไม่ต้องการเป็นโรคมะเร็งก็ควรหลีกเลี่ยงด้วย
2. อาหารหมักดอง
ซึ่งมีทั้งปริมาณโซเดียมที่สูงและอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้ หากกระบวนการหมักดองนั้นไม่สะอาด หรือ เก็บอาหารหมักดองเหล่านี้ไว้ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อย่างกรณีหน่อไม้ดองปี๊ปที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ว่าทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปเกิดอาการอาหารเป็นพิษที่รุนแรงมาก หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่มีสภาพร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว อาจทำให้อาการรุนแรงจนกระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลย อาหารหมักดองจึงเป็นอาหารผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรรับประทานอีกเช่นกัน
3. อาหารแปรรูปที่มักมีส่วนผสมของโปตัสเซียมไนเตรต
4. ผลไม้ที่ไม่ได้ปอกเปลือก
5. อาหารที่มีไขมันในปริมาณที่สูง
6. อาหารที่ผ่านการปรุงรสอย่างจัดจ้าน
อาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
การเลือกอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งนั้นต้องอาศัยความเอาใจใส่และระมัดระวังค่อนข้างมาก เพื่อให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงอาหารอันตรายที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเราทราบถึงอาหารผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรรับประทานกันแล้ว ถัดมาบทความนี้ก็ขอพาคุณไปพบกับอาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมีดังนี้
- อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมีเรี่ยวแรง ไม่อ่อนเพลียจนเกินไป และยังช่วยรักษาระดับน้ำหนักไม่ให้ลดลงมาก ยกตัวอย่างเช่น อาหารประเภทแป้ง ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น
- อาหารจำพวกโปรตีน ช่วยในเรื่องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยสามารถต่อสู้กับอาการติดเชื้อได้ อาหารจำพวกโปรตีน ยกตัวอย่างเช่น อาหารประเภทเนื้อไก่, เนื้อหมู, เนื้อปลา, อาหารทะเล, ไข่, นม, เต้าหู้, ถั่ว, เห็ด เป็นต้น
- อาหารจำพวกไขมัน ในที่นี้หมายถึงไขมันที่เป็นกรดไขมันดี หรือเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันเมล็ดทานตะวัน หรือไขมันดีจากอาหารประเภทถั่ว เช่น อัลมอนด์ อะโวคาโด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือเมล็ดดอกทานตะวัน
- อาหารจำพวกผัก หนึ่งในมื้ออาหารควรกินผักครึ่งนึงของจาน และควรเน้นสีของผักให้หลากหลายสี การปรุงผักต้องใช้ความร้อนไม่นานและน้ำไม่มากเพื่อรักษาสารอาหารให้คงอยู่ โดยผักมีผลต่อการควบคุมเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี อยู่ในกลุ่มของดอกกะหล่ำและบร็อคโคลี ผักที่มีธาตุเหล็กสูง อาทิ ถั่วแดง ผักโขม ผักใบเขียวเข้มต่างๆ ผักที่มีเส้นใยสูง อาทิ พืชตระกูลถั่ว
- อาหารจำพวกผลไม้ ควรเลือกกินผลไม้ที่มีเส้นใยสูงช่วยในระบบย่อยอาหาร และมีรสชาติไม่หวานจัด และควรล้างผลไม้ให้สะอาด เพื่อป้องกันสิ่งตกค้างต่าง ๆ
ผู้ป่วยมะเร็งควรดูแลสุขภาพ ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่ดี
ไม่เพียงแต่โภชนาการด้านอาหารเท่านั้น ที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนของการดูแลสุขภาพในด้านอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลด้านโภชนาการด้วย นั่นก็เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถรักษาร่างกายให้ฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม ดังต่อไปนี้
- การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- การพักผ่อนที่เพียงพอ
- ความสะอาด และ การดูแลบาดแผลและการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย
- สุขภาพใจและสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยเพิ่มกำลังใจและเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ดั่งเดิม
สรุป
การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเองและคนที่ตนเองรัก แต่เมื่อถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรยอมรับและเรียนรู้ในโรคและสภาวะร่างกาย อย่างเมื่อคุณหรือคนรอบข้างคุณเป็นโรคมะเร็ง คุณก็ควรทราบถึงข้อมูลอาหารผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรรับประทานเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คุณและคนที่คุณรักมีสุขภาพที่แข็งแรงและชีวิตที่ยืนยาวไปอีกนาน