โรคเกาต์ และเกาต์เทียม ความเจ็บปวดของวัยเก๋า เลี่ยงได้แค่กินให้ถูก

โรคเกาต์

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         อีกหนึ่งโรคที่หลายคนควรระวัง คือ โรคเกาต์ และ เกาต์เทียม มักพบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดบริเวณกระดูกและข้อ ส่งผลให้การเดินและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งเมื่อเป็นโรคนี้ อาจจะปวดจนเดินไม่ได้อีกด้วย ด้วยความห่วงใยจาก ALLWELL จึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านให้มารู้จักกับโรคเกาต์ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้โรคที่แสนทรมานนี้ เกิดขึ้นกับคุณและคนที่คุณรักค่ะ

สารบัญ

กินไก่เยอะเป็น โรคเกาต์ จริงไหม?

 ถ้าพูดถึงโรคเกาต์ หลาย ๆ คน คงคิดถึงประโยคยอดฮิตอย่าง “กินไก่เยอะ ๆ จะทำให้เป็นโรคเกาต์” แล้วความเชื่อแบบนี้ เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?

โรคเกาต์

จริง ๆ แล้ว คนปกติทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเกาต์ สามารถกินไก่ได้ตามปกติเลยค่ะ ไม่ได้ส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ แต่จะมีผลกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์อยู่ก่อนแล้ว แต่อาการยังไม่ปรากฏออกมา หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคเกาต์ ถ้าทานเยอะจนเกินไป ก็จะส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ได้ค่ะ

สาเหตุของโรค
         โรคเกาต์ (Gout) คือ โรคที่เกิดจากการที่กรดยูริกในเลือดมีปริมาณสูง ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แล้วตกตะกอนเป็นผลึกตามข้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ กรดยูริกนี้ ได้มาจากการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีสารอาหารที่ชื่อว่า พิวรีน ในปริมาณมาก ซึ่งสารพิวรีน จะถูกเผาผลาญกลายเป็นกรดยูริกนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยง
         โรคเกาต์สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่เนื่องจากโรคเกาต์ จะต้องใช้เวลาในการสะสมกรดยูริกนานกว่า 10 ปี ถึงจะเริ่มแสดงอาการ จึงพบได้มากในผู้ชายอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป และพบได้มากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง หากพบในเพศหญิงจะเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
อาการของโรค
         อาการของโรคเกาต์ สามารถแบ่งตามลักษณะอาการ ออกเป็น 3 ระยะ

  1. หากผู้ป่วยมีอาการอักเสบบริเวณข้อส่วนล่าง โดยเฉพาะหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่ง เป็นระยะเวลานาน ถ้ามีอาการเช่นนี้ แสดงว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน
  2. หลังจากมีอาการอักเสบบริเวณข้ออย่างเฉียบพลันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับมามีอาการปกติ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ป่วยก็จำเป็นจะต้องรับการรักษา ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้ภายใน 1 – 2 ปี ซึ่งหากเป็นซ้ำบ่อย ๆ จำนวนข้ออักเสบจะเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาการดังกล่าว เป็นอาการของระยะที่เรียกว่า ระยะไม่มีอาการและระยะเป็นซ้ำ
  3. หากผู้ป่วยเกิดข้ออักเสบจำนวนมากแบบเรื้อรัง ลามมาที่ข้ออื่น ๆ และตรวจพบก้อนจากผลึกของกรดยูริกขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ อาจแตกออกให้เห็นเป็นผงขาวนวลคล้ายชอล์ก เรียกว่า โทฟัส (tophus) และอาจมีไข้แทรกซ้อนจากอาการอักเสบ อาการเช่นนี้ คือ อาการของระยะข้ออักเสบเรื้อรัง

การรักษา
         โรคเกาต์สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจจะมีการใช้ยาที่แพทย์จำหน่ายให้ร่วมด้วย

โรคเกาต์ กับ เกาต์เทียม ต่างกันอย่างไร?

 หลายท่านอาจสับสนระหว่างโรคเกาต์ (Gout) กับเกาต์เทียม (pseudogout) ว่าใช่โรคเดียวกันหรือไม่? เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? วิธีสังเกตมีดังนี้ค่ะ

เกาต์เทียม

สาเหตุของโรค
         โรคเกาต์กับเกาต์เทียม มีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน โดยโรคเกาต์จะเกิดจากการสะสมของตะกอนยูริก (monosodium urate : MSU) บริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ส่วนเกาต์เทียมจะเกิดจากการสะสมตะกอนแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรท (calcium pyrophosphate dehydrate : CPPD) บริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อใหญ่ ๆ เช่น หัวเข่า
ปัจจัยเสี่ยง
         ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเกาต์ พบมากในผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และเกิดขึ้นน้อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ในขณะที่เกาต์เทียมพบในผู้ชายและผู้หญิงจำนวนเท่า ๆ กัน แต่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น คือ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเกาต์ ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการทานอาหาร แต่เกาต์เทียม เกิดจากพันธุกรรมและโรค เช่น โรคเบาหวาน  ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดสูง
อาการของโรค
         โรคเกาต์และเกาต์เทียม มีอาการปวดและอักเสบเหมือนกัน แต่โรคเกาต์จะเกิดอาการปวดและอักเสบบริเวณข้ออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นบริเวณหัวแม่เท้า ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า แต่ในขณะที่โรคเกาต์เทียมมักจะเกิดอาการปวดที่บริเวณข้อใหญ่ ๆ เช่น หัวเข่า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อไหล่
การรักษา
         โรคเกาต์สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทานอาหาร โดยอาจจะไม่ต้องใช้ยารักษา แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่มีผลอะไรกับเกาต์เทียม เพราะเกาต์เทียมไม่ได้เกิดมาจากการทานอาหาร แต่เกิดมาจากพันธุกรรมและโรคที่เป็นอยู่ ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาเกาต์เทียมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการกินยาตามที่แพทย์สั่ง

ถ้าป่วยเป็นโรคเกาต์แล้ว กินอะไรถึงจะดี?

         การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคเกาต์ แต่ในเกาต์เทียม การปรับเปลี่ยนการทานอาหารไม่เป็นผลอะไร เพราะเกาต์เทียมไม่ได้เกิดจากการทานอาหาร ดังนั้นวิธีรักษามีวิธีเดียวคือการเข้ารับการรักษาจากแพทย์และทานยาอย่างสม่ำเสมอ

โรคเกาต์ อาหาร

         ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์อยู่แล้ว อาจจะมีคำถามว่าสามารถกินอาหารอะไรได้บ้าง? แล้วอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง? เนื่องจากโรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากปริมาณของกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งกรดยูริกได้มาจากการเผาผลาญสารอาหารที่ชื่อว่าพิวรีน ดังนั้นผู้ป่วยเกาต์จึงจำเป็นต้องงดหรือหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีพิวรีน เพื่อลดการเกิดกรดยูริกในร่างกาย ดังนี้

  1. งดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ปลาดุก น้ำต้มกระดูก ซุปก้อน ไข่ปลา เห็ด
  2. อาหารที่มีปริมาณพิวรีนปานกลาง สามารถกินได้สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เช่น ปลาหมึก ปู เนื้อหมู เนื้อวัว ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ดอกกะหล่ำ ผักโขม หน่อไม้ ข้าวโอ๊ต
  3. อาหารที่มีพิวรีนน้อยหรือไม่มีเลย สามารถกินได้ทุกวัน เช่น ผัก ผลไม้ ปลาน้ำจืด นม ไข่ ข้าว ขนมปัง ธัญพืช
  4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหวาน น้ำอัดลม และสารเสพติดทุกชนิด
  5. ดื่มน้ำเปล่าสะอาดเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 8-10 แก้วขึ้นไป เพื่อที่จะได้ขับกรดยูริกออกมาผ่านทางปัสสาวะ

วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็น โรคเกาต์ และ เกาต์เทียม

อาการ เกาต์

         นอกจากการเลือกทานอาหารแล้ว ผู้ป่วยโรคเกาต์ และเกาต์เทียม จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อเป็นการดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย ดังนี้

  1. หมั่นพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลการรักษา
  2. หากมีอาการปวดข้อ ห้ามบีบ นวด หรือทายา เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ข้อบริเวณนั้นอักเสบได้
  3. หากมียารักษาโรคเกาต์ที่แพทย์จำหน่ายให้ ให้กินอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  4. ออกกำลังกายเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการกระแทกต่อข้อที่รุนแรง
  5. หากมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณข้อ ให้ใช้ไม้เท้าหรือรถเข็นช่วยเดิน เพื่อช่วยในการพยุงร่างกายและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้
คลิก เพื่อดูรายละเอียดรถเข็นช่วยเดิน Rollator

สรุป

         โรคเกาต์ และเกาต์เทียม เป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็น ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องหมั่นดูแลตนเองทั้งเรื่องของการกินและการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องหมั่นพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อติดตามอาการและผลการรักษา สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็น ก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้นกับคุณหรือคนที่คุณรักนะคะ

 

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup