หลาย ๆ คน หากได้มีโอกาสไปโรงพยาบาล คงเห็นป้ายโฆษณาแพคเกจตรวจสุขภาพ ประจำปีมากมาย ที่ระบุโปรแกรมการตรวจโรค ยาวจนลายตา พอเห็นป้ายเหล่านี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่าเราจำเป็นต้องตรวจทั้งหมดนี้จริง ๆ ไหม? หรือความจริงแล้วเราควรตรวจสุขภาพเมื่อไหร่? แล้วตรวจอย่างไรจึงจะเหมาะสม บทความนี้มีความรู้ดี ๆ เพื่อให้ทุกคนทราบแนวทางการ ตรวจสุขภาพ ที่เหมาะกับแต่คนมาฝากค่ะ
การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจร่างกายในภาวะที่ร่างกายเป็นปกติดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยโดยมีวัตถุประสงค์ในการค้นหาปัจจัยเสี่ยงและภาวะผิดปกติ เพื่อให้ทราบแนวทางป้องกันการเกิดโรคร้ายแรง ในทุกช่วงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ ซึ่งสามารถเลือก ตรวจสุขภาพประจำปี โรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนก็ได้เหมือนกันค่ะ
สารบัญ
- ตรวจสุขภาพในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
- ตรวจสุขภาพในกลุ่มวัยทำงาน
- ตรวจสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ
- การตรวจสุขภาพที่ไม่แนะนำมีอะไรบ้าง?
ตรวจสุขภาพ ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
สำหรับการตรวจสุขภาพ ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจร่างกายทั่วไป (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง) เพื่อค้นหาความผิดปกติ ประเมินการเจริญเติบโตตามวัย และเฝ้าระวังด้านพัฒนาการ รวมไปถึงการให้วัคซีนต่าง ๆ ตามกำหนดเวลาเพื่อป้องกันการเกิดโรค
1.แรกเกิด – 7 วัน
- ตรวจร่างกายทั่วไป
- ประเมินภาวะตัวเหลือง (Neonatal hyperbilirubinemia)
- เจาะเลือดตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ( Congenital Hypothyroidism: CHT)
- ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG vaccine หรือ Bacillus Calmette Guerin vaccine) ป้องกันวัณโรค
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
2.อายุ 0-6 เดือน
- ควรได้รับการตรวจประเมินการได้ยิน 1 ครั้ง
3.อายุ 6-12 เดือน
- ควรได้รับการตรวจทางทันตกรรม 1 ครั้ง (กรณีที่ยังไม่ได้ตรวจ แนะนำให้ตรวจภายในช่วง 1-2 ปี)
- ตรวจคัดกรองภาวะตาเหล่ ตาเข ภาวะข้อสะโพกหลุด และความผิดปกติของอวัยวะเพศ
- ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโทคริต/ฮีโมโกลบิน) เพื่อคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก อย่างน้อย 1 ครั้ง
4.อายุ 2-4 ปี
- ควรได้รับการตรวจคัดกรองพัฒนาการ 1 ครั้ง
5.อายุ 3-6 ปี
- ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตและวัดสายตา 1 ครั้ง และควรได้รับการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโทคริต/ฮีโมโกลบิน) เพื่อคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กอีก 1 ครั้ง
6.อายุ 8, 10 ปี และช่วงอายุ 11-14, 15-18 ปี
- ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตและวัดสายตาช่วงอายุละ 1 ครั้ง
7.อายุ 11-18 ปี (สำหรับผู้หญิง)
- ควรได้รับการตรวจความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโทคริต/ฮีโมโกลบิน) เพื่อคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กอีก 1 ครั้ง
ตรวจสุขภาพ ในกลุ่มวัยทำงาน
กลุ่มวัยทำงาน คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 60 ปี โดยบุคลากรทางการแพทย์จะซักประวัติเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองโรคหรือภาวะบางอย่าง ซึ่งการตรวจร่างกายดังกล่าวควรตรวจปีละครั้ง หรือทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่น
1.ตรวจสุขภาพช่องปาก
- ควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันจากทันตแพทย์หรือทันตภิบาลเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
2.ตรวจการได้ยิน
- ควรได้รับการตรวจการได้ยินด้วยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ถูกันเบา ๆ ห่างจากรูหูประมาณ 1 นิ้ว ปีละ 1 ครั้ง
3.แบบประเมินสภาวะสุขภาพ
- ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ภาวะซึมเศร้า
- การติดนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ (ตรวจเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่)
- การดื่มแอลกอฮอล์ (ตรวจเฉพาะผู้ที่ดื่ม)
- การใช้ยาและสารเสพติด (ตรวจเฉพาะผู้ที่ใช้สารเสพติด)
4.ตรวจสุขภาพเพิ่มเติม
- การตรวจตา : บุคคลตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดสายตาและตรวจคัดกรองโรคต้อหิน ภาวะความดันลูกตาสูง และความผิดปกติอื่น ๆ โดยทีมจักษุแพทย์ อย่างน้อย 1 ครั้ง
- การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray) : ช่วยตรวจหาวัณโรค โรคปอดเรื้อรังบางชนิด หรือรอยโรคผิดปกติอื่น ๆ ในปอด (เฉพาะคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนที่ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก หรือมีอาการสงสัยว่าป่วยเป็นวัณโรค และมะเร็งปอด)
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) : ช่วยในการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง รวมทั้งอาจตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดผิดปกติ
- ตรวจระดับไขมันในเลือด : ควรตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด : อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี เพื่อช่วยตรวจกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ( หากมีเครื่องตรวจเบาหวานเป็นของตนเอง ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน
- ตรวจปัสสาวะ : เพื่อช่วยตรวจคัดกรองโรคไตบางชนิด
- ตรวจอุจจาระ : บุคคลตั้งแต่อายุ 50 ปีข้ึนไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง
- ตรวจวัดระดับกรดยูริก : เพื่อช่วยประเมินระดับกรดยูริกซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาต์หรือนิ่วกรดยูริก (ตรวจเฉพาะคนที่มีอาการปวดข้อ มีอาการข้ออักเสบ หรือข้อพิการ ซี่งสุ่มเสี่ยงเป็นโรคเกาต์เท่านั้น)
- การตรวจการทำงานไต : เพื่อเช็กสมรรถภาพการทำงานของไต
- การตรวจการทำงานตับ : เพื่อเช็กการทำงานของตับ
- ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) : เฉพาะคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ควรได้รับการตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) โดยตรวจเพียงคร้ังเดีย
5.ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมสำหรับเพศหญิง
- ตรวจเต้านม : ผู้หญิงในช่วงอายุ 30-39 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุก ๆ 3 ปี จากแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ที่ได้รับการฝึกอบรม และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วย Pap’s smear ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี ทว่าหากมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยวิธี Pap’s smear แม้ว่าจะเคยหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม
ตรวจสุขภาพ ในกลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มผู้สูงอายุ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานแล้ว ผู้สูงอายุทั้งเพศชาย และหญิงควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
1.ตรวจสุขภาพเพิ่มเติม
- การตรวจตา : บุคคลอายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจตาโดยทีมจักษุแพทย์ทุก 2-4 ปี แต่สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตาโดยทีมจักษุแพทย์ทุก 1-2 ปี
- ตรวจอุจจาระ : ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง
- การประเมินภาวะสุขภาพ : โดยจะประเมินจากภาวะโภชนาการ ความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และหากอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมองเพิ่มเติม
- ตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกปี
- ตรวจระดับครีอะทินีน (Creatinine) ในเลือดทุกปี เพื่อประเมินภาวะการทำงานของไต
- ตรวจปัสสาวะทุกปี
- หากอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ทุกปี
2.ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมสำหรับเพศหญิง
- ตรวจเต้านม : ผู้หญิงวัย 60-69 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปีโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม และสำหรับผู้สูงวัยเพศหญิงอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการตรวจสุขภาพ
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : เพศหญิงอายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Pap smear ทุก ๆ 3 ปี ส่วนหญิงสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการตรวจสุขภาพ
การตรวจสุขภาพที่ไม่แนะนำมีอะไรบ้าง?
1.การตรวจสุขภาพด้วยเอกซเรย์ปอด มีโอกาสให้ผลผิดพลาดค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและเป็นการสิ้นเปลือง หากไปตรวจยืนยันเพิ่มเติม
2.การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการตรวจระดับสารพีเอสเอในเลือด เนื่องจากผลตรวจผิดพลาด อาจะส่งผลให้ต้องรับการตรวจซ้ำที่ซับซ้อน เช่น การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหามะเร็ง อันอาจเพิ่มภาวะเสี่ยงติดเชื้อจากแผลได้อีก
3.การตรวจระดับกรดยูริกในเลือด ได้ผลค่อนข้างไม่แน่นอน และอาจเสี่ยงต่อการได้รับยาลดกรดยูริกเกินความจำเป็น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยารุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
4.การตรวจระดับบียูเอ็น (BUN) ในเลือด ไม่มีประโยชน์ต่อการคัดกรองภาวะไตเสื่อม
5.การตรวจเอนไซม์ตับ ไม่พบประโยชน์ในการตรวจคัดกรองในคนปกติทั่วไป ฉะนั้นการตรวจเอนไซ์ตับจึงไม่ใช่รายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและมีประโยชน์ค่ะ
6.การตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด มีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยมาก
7.การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) มีโอกาสคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง ดังนั้นรายการตรวจสุขภาพรายการนี้จึงจำเป็นแค่กับคนที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
8.การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด (Tumor markers) ทางแพทย์จะใช้ในการติดตามผลการรักษาและการกลับไปเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
สรุป ตรวจสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเลือกอย่างเหมาะสม
แม้ว่าการตรวจสุขภาพจะมีมากมายหลายรูปแบบ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมดก็ได้นะคะ เพราะหลายคนก็มีข้อจำกัดเรื่องเวลา งบประมาณ ดังนั้น เราสามารถเลือกแพคเกจที่เหมาะสมกับเราได้นะคะ แต่ถึงอย่างไร การตรวจสุขภาพไม่ว่าแพคเกจไหนก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้นเลยค่ะ เพราะจะช่วยให้เรารู้ลดความเสี่ยงโรคหรือรักษาโรคที่ตรวจพบได้อย่างรวดเร็วนะคะ มาตรวจสุขภาพกันเยอะ ๆ นะคะ