บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการติดเชื้อ HIV หรือการป่วยเป็นโรคเอดส์ เป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV อยู่ประมาณ 480,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ราว 18,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 49 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคเหล่านี้อยู่ไม่น้อย คุณเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า!? ลองเช็ก อาการ HIV ในบทความนี้เลยค่ะ
สารบัญ
- ติดเชื้อ HIV ≠ โรคเอดส์ เสมอไป!
- 10 สัญญาณเตือน อาการ HIV
- อาการ HIV และโรคเอดส์รักษาได้ไหม?
- สงสัยว่ามี อาการ HIV ตรวจฟรี ได้ที่ไหนบ้าง?
- ป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ HIV
ติดเชื้อ HIV ≠ โรคเอดส์ เสมอไป!
หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่าเอดส์ มากกว่าเอชไอวี (HIV) จนทำให้ใครหลายคนเข้าใจว่าเอดส์กับเอชไอวีเป็นโรคเดียวกัน แต่รู้หรือไม่คะว่าการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ได้แปลว่าเราป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไปนะคะ ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัสร้ายนี้กันก่อนเลยค่ะ
HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ผู้ได้รับเชื้อไม่สามารถต้านทานโรคต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ “โรคฉวยโอกาส” หรือโรคแทรกซ้อนเข้ามาทำร้ายร่างกายได้ง่าย เช่น โรควัณโรคปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคทางสมอง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยส่วนใหญ่เกิดมาจากสาเหตุเหล่านี้
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน มักพบในผู้เสพยาเสพติด
- ติดผ่านทางบาดแผล ทั้งทางผิวหนังและช่องปาก
- ติดจากแม่สู่ลูก
ซึ่งเชื้อไวรัส HIV เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะสามารถแบ่งระยะของอาการ ได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้1. ระยะแรกเริ่มติดเชื้อ หรือระยะเฉียบพลัน ในระยะนี้อาการจะไม่ปรากฏมากนัก เป็นระยะที่เชื้อมีการแพร่กระจายลามไปตามเนื้อเยื่อในร่างกายมากกว่าระยะอื่น ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มักจะเริ่มปรากฏภายใน 1 – 2 เดือนหลังจากได้รับเชื้อแล้ว โดยจะมีอาการเช่นนี้ ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เช่น มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ
ภาพจาก : เพจ HIV-โรคเอดส์ ดูแลได้
2.ระยะอาการสงบ
มักจะไม่แสดงอาการชัดเจน หรือแทบจะไม่มีแสดงอาการป่วยเลย แต่เชื้อยังคงแฝงตัวอยู่ภายในร่างกายและยังคงทำลายระบบภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง หากผู้ป่วยยังไม่ตรวจพบและไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ จนเกิดการเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น เช่น มีไข้ อ่อนล้าหมดแรง ท้องร่วง น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองบวม มีเชื้อราในช่องปาก เป็นงูสวัด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาไปเรื่อย ๆ อาการจะค่อย ๆ พัฒนาเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ในที่สุด
3.ระยะเอดส์
เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มักเรียกกันว่า โรคเอดส์ ในระยะภูมิคุ้มกันจะถูกทำลายจนเสียหายอย่างหนัก ไม่สามารถต้านทานต่อเชื้อโรคใด ๆ ได้เลย ทำให้เกิดการติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา จนทำให้เสียชีวิตได้ โดยระยะนี้จะมีอาการที่สังเกตได้ เช่น มีไข้ตลอดเวลา เหนื่อยล้า อ่อนแรง น้ำหนักลด มีเหงื่อไหลมากในตอนกลางคืน ท้องร่วงเรื้อรัง มีจุดสีขาว หรือแผลบริเวณลิ้น และปาก
ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไปนะคะ หากผู้ป่วยตรวจพบเชื้อตั้งแต่ระยะแรก แล้วได้รับการรักษาจากแพทย์ ก็จะลดความเสี่ยงหรืออาจจะไม่ป่วยเป็นโรคเอดส์เลยก็ได้ค่ะ
10 สัญญาณเตือน อาการ HIV
เมื่อได้รับเชื้อไวรัส HIV เข้าสู่ร่างกาย มักจะเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ออกมาให้เห็น ภายใน 1-2 เดือน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือกำลังสงสัยว่าตนเองกำลังติดเชื้อ HIV อยู่หรือเปล่า ให้ลองสังเกตอาการเหล่านี้ดูนะคะ
- มีไข้ หนาวสั่น
- อาการไอเรื้อรัง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ผิวหนังเป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ หรือมีรอยฟกช้ำเป็นจุด
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง
- เหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
หากมีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตนเองกำลังป่วยเป็นโรค HIV ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสนะคะ หากปล่อยไว้นอกจากอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นแล้ว อาจจะยิ่งแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นมากขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวนะคะ
อาการ HIV และโรคเอดส์รักษาได้ไหม?
ในปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาใด ที่ทำให้หายขาดจากการติดเชื้อ HIV หรือการป่วยเป็นโรคเอดส์ 100% ซึ่งแนวทางการรักษาในปัจจุบันของทั้งผู้ป่วย HIV และโรคเอดส์ มีเป้าหมายเดียวกัน คือการฟื้นฟูภูมิคุ้มกันร่างกายที่บกพร่องของผู้ป่วย ให้กลับมาเป็นปกติ โดยการใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งทำให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงได้ใกล้เคียงกับคนปกติ แต่ผู้ป่วย จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันไปตลอดชีวิต
แต่สำหรับผู้ที่ ได้รับเชื้อ HIV ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน สามารถใช้ยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อได้ประมาณร้อยละ 70 – 80 ซึ่งผู้ที่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อมาแล้ว เช่น เพิ่งรู้ว่ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ป่วย HIV ถุงยางอนามัยแตก ผู้ได้รับเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาโดยเร็วที่สุด ภายในระยะเวลา 3 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ โดยจะต้องกินยาให้ครบ 28 วัน หากไม่ครบประสิทธิภาพการป้องกันจะลดลง สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV แต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ไม่ใส่ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ มีคู่นอนหลายคน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น หากต้องการป้องกันการติดเชื้อ สามารถใช้ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อประมาณร้อยละ 90 โดยแพทย์จะให้กินยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด อย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการตรวจหาการติดเชื้อ HIV และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา โดยแพทย์จะนัดทุก 3 เดือน ซึ่งหากแพทย์เห็นว่าไม่มีความเสี่ยงแล้ว ก็จะสั่งให้หยุดการใช้ยา
แม้ยา PEP และ PrEP จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะได้ผล 100% นะคะ ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
สงสัยว่ามี อาการ HIV ตรวจฟรี ได้ที่ไหนบ้าง?
หากผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ต้องการตรวจหาเชื้อ สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน หรือคลินิกได้เลยนะคะ ซึ่งแต่ละที่จะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไป ประมาณได้ราว ๆ 500 – 1,000 บาท/ครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่สูงไปสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่รู้หรือไม่คะ ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ตรวจหาเชื้อ HIV ได้ฟรีด้วยนะ! สามารถใช้สิทธิตรวจฟรีได้ปีละ 2 ครั้ง ใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวค่ะ มาดูกันว่ามีที่ไหนที่สามารถตรวจได้ฟรีบ้าง
ตรวจ HIV ฟรี ในกรุงเทพมหานคร
- คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น.)
- คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและคนข้ามเพศ (Transgender) ในวันอังคาร-เสาร์ เวลา 16.00-21.00 น.)
- คลินิกพิเศษของศูนย์ดรอปอิน
- สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซอยรามคำแหง 97/2 (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง ในวันจันทร์ พฤหัส ศุกร์ เวลา 15.00-20.00 น. และ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-17.00 น.)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลกลาง (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลตากสิน (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลสิรินธร (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- คลินิกรักษ์เพื่อน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ในวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 น. เท่านั้น)
- มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง ในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 11.00-18.30 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-14.30 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-10.00 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-15.00 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-15.30 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น.)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.30-10.00 น.)
ตรวจ HIV ฟรี ในต่างจังหวัด
สำหรับต่างจังหวัด (หรือในกรุงเทพฯ นอกเหนือจากหน่วยงานข้างต้น) สามารถไปตรวจ HIV ฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพ ศูนย์อนามัย หรือคลินิกที่ร่วมโครงการตรวจ HIV ฟรีได้เช่นกันนะคะ
ป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ HIV
วิธีการป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่ดีที่สุด คือการเริ่มที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองนะคะ โดยพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนี้ค่ะ
- สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
- หากต้องการสักตามผิวหนัง หรือเจาะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ต้องมั่นใจว่าสถานบริการนั้น ๆ ปลอดภัย
- ตรวจเลือดก่อนการแต่งงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเราและคู่สมรสไม่มีการติดเชื้อ หรือเป็นโรคอื่น ๆ ที่สามารถแพร่สู่คู่สมรสได้
- รับการตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สรุป
การติดเชื้อ HIV ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไปนะคะ ผู้ติดเชื้อ HIV หลายคน กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนปกติ แต่ถึงอย่างไร การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นเรื่องที่ดีที่สุดนะคะ เพราะปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แถมยังต้องกินยาไปตลอดชีวิตอีก ดังนั้น ต้องหมั่นดูแลสุขภาพและป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์นะคะ