7 วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ พร้อมวิธีใช้ถังดับเพลิง รู้ไว้ใช้ยามคับขัน!

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้

         “ไฟไหม้” คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ไม่ทันได้ตั้งตัว จึงนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ ไฟไหม้สำเพ็ง หรือเหตุการณ์ไฟไหม้ล่าสุด อย่างไฟไหม้ผับชลบุรี (เมาท์เทน บี ผับ) ALLWELL จึงมี 7 วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ มาฝากท่านผู้อ่าน เพื่อเวลาที่เกิดเหตุไม่คาดฝันเหล่านี้ขึ้น เราจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัยที่สุดค่ะ

สารบัญ

7 วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้

         สาเหตุส่วนใหญ่ของการบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้ มักมาจากความตื่นตระหนกและการไม่รู้วิธีในการรับมืออย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ประสบภัยกว่า 70% มักเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เช่น การสำลักควัน-เขม่าไฟ หรือการสูดดมเอาสารอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้วัสดุ เช่น ท่อพีวีซี พลาสติก ยาง จนทำให้เสียชีวิต

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้

         สาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากไม่แพ้กันเลยก็คือ การถูกไฟเผาไหม้ร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสหรือติดเชื้อรุนแรง ยิ่งในกรณีร้ายแรง ผู้ประสบภัยอาจถูกไฟคลอกจนเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้น การรู้วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรรู้เอาไว้ เพื่อที่เวลาเกิดเหตุเหล่านี้ขึ้น จะสามารถรับมือและเอาชีวิตรอดออกมาได้อย่างปลอดภัย หรือบาดเจ็บเสียหายน้อยที่สุด

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้

1. หากที่อยู่อาศัยมีสัญญาณเตือนไฟไหม้ ให้กดหรือดึงเพื่อเตือนผู้อื่น จากนั้นรีบพาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (โทร 199) หากออกมาได้แล้ว พยายามหาน้ำดื่ม เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

2. ถอดเครื่องประดับออกจากตัว เช่น นาฬิกา ต่างหู สร้อย กำไล ฯลฯ เพราะเครื่องประดับเหล่านี้มักจะอมความร้อน จึงอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีเครื่องประดับ เกิดการพุพองได้

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้

3. หากยังติดอยู่ในที่เกิดเหตุ พยายามหาผ้าชุบน้ำมาปิดจมูกและปาก เพื่อป้องกันการสูดดมควันและสารอันตราย หรือให้ใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ กวาดอากาศที่ไม่มีควันใส่ถุงให้พอง เพื่อลดอาการสำลักควัน ถ้าเป็นไปได้ควรหาผ้าผืนใหญ่ ๆ หรือผ้าห่มมาชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันไฟโดนผิว

4. ขณะกำลังเคลื่อนย้ายเพื่อไปยังเส้นทางออก ให้ใช้วิธีหมอบคลานต่ำหรือย่อตัวให้ได้มากที่สุด แทนวิธีการเดิน เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ในที่ต่ำ

5. เส้นทางหนีออกจากที่เกิดเหตุ ควรใช้บันไดหนีไฟเป็นทางออก ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด เพราะลิฟต์อาจติดค้างจนขาดอากาศหายใจได้ โดยให้วิ่งลงบันไดหนีไฟไปยังชั้นล่าง เพราะธรรมชาติของไฟจะลามจากข้างล่างขึ้นข้างบน แต่หากเปลวเพลิงทำให้ไม่สามารถเดินลงไปสู่ชั้นล่างได้ ให้ขึ้นมาที่ชั้นดาดฟ้า

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้

6. หลีกเลี่ยงการวิ่งหนีเข้าจุดอับ เช่น ชั้นใต้ดิน ซอกกำแพง ในห้องน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟคลอก

7. กรณีที่ระหว่างเกิดเหตุอาศัยอยู่ในห้อง ก่อนเปิดประตูควรใช้หลังมือสัมผัสลูกบิดหรือผนังประตูก่อน หากพบว่ามีความร้อนมากห้ามเปิดประตูเด็ดขาด เพราะอาจมีไฟลุกอยู่หลังประตู ให้รับมือโดยการหาผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้อง ปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ แล้วขอความช่วยเหลือผ่านหน้าต่างหรือระเบียงห้อง พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่หรือคนรอบข้าง เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่

ที่นอนโฟมป้องกันแผลกดทับ

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้ กรณีไฟไหม้ติดตัว-ติดเสื้อผ้า

         จากกรณีไฟไหม้ผับชลบุรี จะเห็นได้ว่ามีผู้ประสบภัยหลายคนมีไฟไหม้ติดตัว หรือติดเสื้อผ้าออกมาด้วย หากไม่รู้วิธีการดับไฟที่ถูกต้อง จะทำให้ไฟยิ่งลุกโชน และเสี่ยงต่อการถูกไฟคลอกหรือบาดเจ็บสาหัสได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในการดับไฟติดตัว-เสื้อผ้าที่ถูกต้อง ด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้

เอาตัวรอดจากไฟไหม้ ไฟไหม้ติดตัว

3 ขั้นตอนดับไฟที่ติดตัว-เสื้อผ้า ด้วย Stop Drop and Roll

  • Stop : หยุดวิ่งทันที หากไฟลุกไหม้ตามเสื้อผ้าหรือร่างกาย เพราะการวิ่งจะทำให้มีลมพัดผ่าน โหมไฟให้แรงมากขึ้น
  • Drop : นอนราบลงไปกับพื้น ช่วยหยุดไฟไม่ให้ลามไปตามร่างกายส่วนอื่น
  • Roll : กลิ้งหรือหมุนตัวไปกับพื้นจนกว่าไฟจะดับ ระหว่างนั้นให้เอามือปิดใบหน้าไว้ เพื่อป้องกัน

         เมื่อไฟตามเสื้อผ้าหรือร่างกายดับแล้ว และสามารถออกมาจากที่เกิดเหตุได้ ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก เพราะเสื้อผ้าจะอมความร้อนเอาไว้มาก ห้ามใช้วิธีกระชากเสื้อผ้า เพราะเนื้อผ้าบางส่วนอาจติดที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกมากับเนื้อผ้า ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือติดเชื้อได้

How to รับมือน้ำท่วม ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ พร้อมแนวทางในการฟื้นฟูหลังน้ำลด

ขั้นตอนการใช้ถังดับเพลิง และการดับไฟอย่างถูกวิธี

         ในกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ไม่รุนแรงมาก เราสามารถดับไฟด้วยตนเองได้ เพื่อไม่ให้ไฟเหล่านั้นลุกลามออกไปรุนแรง และช่วยยับยั้งความเสียหายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สินได้ แต่การดับไฟด้วยตนองนั้น จำเป็นจะต้องทำอย่างถูกวิธี ทั้งขั้นตอนการดับไฟและการใช้ถังดับเพลิง

เอาตัวรอดจากไฟไหม้

หากเกิดเพลิงไหม้เล็ก ๆ หรือกำลังเกิด

  • ถ้าสาเหตุมาจากน้ำมัน ไฟฟ้า หรือไม่แน่ใจว่าต้นเพลิงมาจากไหน ให้ใช้ผ้าห่มที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก คลุมทับไปที่กองไฟนั้น
  • หากไฟไหม้ไม่ได้เกิดจากน้ำมันหรือไฟฟ้าแน่นอน สามารถใช้น้ำดับไฟได้
  • ถ้าได้กลิ่นเหม็นเหมือนแก๊ส ห้ามเสียบหรือดึงปลั๊กไฟ รวมทั้งกดเปิด-ปิดสวิทต์ไฟด้วย เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้
  • หากไฟเพิ่งเริ่มก่อตัวและลุกลามไม่มาก ให้รีบใช้ถังดับเพลิงดับไฟนั้นให้ได้ภายใน 2 นาที หากไม่มีแนวโน้มที่ไฟจะดับ และมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น ให้รีบหลบหนีออกมาจากที่เกิดเหตุ แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทันที

วิธีใช้ถังดับเพลิง

วิธีการใช้งานถังดับเพลิง 4 ขั้นตอน

  1. ดึง : เอาถังดับเพลิงวางไว้ด้านที่ถนัด หันด้านฉลากเข้าหาลำตัว จากนั้น “ดึง” สลักนิรภัยออก และหิ้วถังดับเพลิงไปที่จุดเกิดไฟไหม้ โดยยืนห่างจากกองไฟ ประมาณ 3-4 เมตร และยืนที่เหนือทิศทางลม
  2. ปลด : ปลดปลายสายออกจากตัวถัง จับปลายสายให้แน่นอย่าให้หลุดมือ เล็งไปยังบริเวณฐานของกองไฟ (ห้ามฉีดที่เปลวไฟ)
  3. กด : กดคันบีบของถังดับเพลิงให้สุดคันบีบ ให้เคมีออกมาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
  4. ส่าย : ส่ายปลายสายถังดับเพลิงไปมา เพื่อให้ผงเคมีที่ฉีดออกมาครอบคลุมทั่วทั้งกองไฟ โดยระหว่างดับไฟให้ย่อตัวลงเล็กน้อย เพื่อหลบเปลวไฟและความร้อน ฉีดจากตำแหน่งใกล้ไปไกล เมื่อแน่ใจว่าไฟดับสนิทแล้วจึงถอยออกจากที่เกิดเหตุ

สรุป

         7 วิธีการเอาตัวรอดจากไฟไหม้ ที่ ALLWELL ได้รวบรวมไว้ในบทความนี้ จะช่วยให้เวลาที่เกิดเหตุไฟไหม้ฉุกเฉินไม่คาดคิด เราจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินน้อยที่สุด ดังนั้น อย่าลืมเอาวิธีการเอาตัวรอดจากไฟไหม้เบื้องต้นในบทความนี้ แชร์กับเพื่อน ๆ ครอบครัว หรือคนรอบตัวกันนะคะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup