ในช่วงเดือนกันยายน 64 ที่ผ่านมา หลายจังหวัดประสบเหตุน้ำท่วมหนัก โดยล่าสุดสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ได้ออกมาเตือนว่า ในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ จะมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมกว่า 668 ตำบล 125 อำเภอ 14 จังหวัด เนื่องจากอิทธิพลของพายุไลออนร็อคและคมปาซุ บทความนี้จึงมี How to รับมือน้ำท่วม ฉบับก่อนและหลังเกิดเหตุมาฝากทุกท่าน เพื่อที่เมื่อเกิดภัยร้ายไม่คาดคิด เราจะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
สารบัญ
- เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม! ต้องเตรียมตัวอย่างไรดี?
- วิธีรับมือน้ำท่วมฉับพลัน! แบบไม่ทันตั้งตัว
- หลังน้ำท่วมควรฟื้นฟูดูแลอย่างไร? อะไรบ้างที่ควรระวัง?
เตรียมพร้อม รับมือน้ำท่วม! ต้องเตรียมตัวอย่างไรดี?
น้ำท่วมก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะน้ำท่วมหลายคนมักตื่นตระหนก จนทำให้หลงลืมสิ่งจำเป็นหลายอย่าง ดังนั้น หากเรารู้ล่วงหน้าหรือได้รับการเตือนภัยว่าจะเกิดน้ำท่วม จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรับมือน้ำที่กำลังจะมา เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้น้อยที่สุด
เตรียมพร้อมก่อนเกิดน้ำท่วม
- สอบถามหน่วยงานที่มีการจัดการด้านน้ำท่วม เกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้เพื่อรับมือ เช่น น้ำจะมาเมื่อไหร่ เคยเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดแค่ไหน ถนนเส้นใดบ้างที่จะถูกน้ำท่วม ฯลฯ
- วางแผนรับมือน้ำท่วม เช่น ต้องเตรียมอะไรบ้าง เมื่อน้ำมาแล้วจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ เบอร์โทรศัพท์สำคัญต่าง ๆ และวางแผนว่า หากคนในครอบครัวพลัดหลงกัน สถานที่ 2 แห่งที่จะไปพบกันได้คือที่ใด (สถานที่แรกให้อยู่ใกล้บริเวณบ้าน และสถานที่ที่สองให้อยู่นอกพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง)
- บอกเล่าแผนรับมือน้ำท่วมและให้ข้อมูลสำคัญกับคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็ก เช่น อย่าสัมผัสปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ห้ามเล่นน้ำ เป็นต้น
- ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง หรือให้พ้นจากระดับน้ำท่วม โดยเฉพาะยานพาหนะให้ย้ายไปจอดไว้ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
- อพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยง ไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย
- ปิดแก๊ส ตัดกระแสไฟฟ้า และปิดปลั๊กไฟด้วยเทปกาว เพื่อป้องกันการรั่วไหล
- จัดเตรียมกระสอบทรายหรืออุปกรณ์กั้นน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงน้ำเข้าท่วมบ้าน
- ติดตามข้อมูลข่าวสารและคอยสังเกตความผิดปกติของธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำและสีของแม่น้ำเปลี่ยนไป
สิ่งของจำเป็นที่แนะนำให้เตรียมไว้
- เอกสารสำคัญให้เก็บไว้ในถุงหรือซองกันน้ำ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีธนาคาร ฯลฯ
- น้ำดื่มสะอาด – อาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง
- ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาลดไข้ ยาล้างแผล เกลือแร่ และยาสำหรับผู้มีโรคประจำตัว
- สิ่งของจำเป็น เช่น นกหวีด ผ้าอนามัย เชือก ถุงพลาสติก กระดาษชำระ มีด
- อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก
- กระเป๋าสำหรับใส่ของ เพื่อให้สะดวกในการพกพา
เมื่อน้ำมาแล้วต้องทำอย่างไร
- พยายามตั้งสติและทำตามแผนรับมือน้ำท่วมที่ได้เตรียมไว้
- ล็อกประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง
- คอยเฝ้าระวังสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์อันตราย ที่อาจมากับน้ำท่วม
- ระหว่างเกิดน้ำท่วมห้ามเข้าใกล้บริเวณปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
- หากจำเป็นต้องอพยพออกจากบ้าน ให้นำแต่ของจำเป็นติดตัวไป
- ใส่รองเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ เพราะอาจโดนเศษแก้วหรือสิ่งของอันตรายบาดได้
- อย่าเดินทางหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก – ไหลเชี่ยว
- ติดตามข้อมูลข่าวสารหรือการแจ้งเตือนน้ำท่วม จากโทรทัศน์หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อยู่ตลอด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของคุณ จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ คลิก!ในช่วงเวลาเร่งด่วน อาจทำให้เตรียมพร้อมได้ไม่ครบทุกขั้นตอน ดังนั้น ให้ทำตามคำแนะนำเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมาก่อนเสมอ
วิธี รับมือน้ำท่วม ฉับพลัน! แบบไม่ทันตั้งตัว
ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนหรือรู้ล่วงหน้ามาก่อน จนทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน แนะนำว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ทันตั้งตัวเช่นนี้ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมาก่อนทรัพย์สินเสมอ โดยสามารถรับมือได้ ดังนี้
- ถ้าขับรถอยู่ ให้จอดและออกจากรถทันที อย่าพยายามขับรถหรือย้อนกลับไปทางที่ถูกน้ำท่วม
- หากได้รับสัญญาณเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน ให้รีบอพยพไปที่ที่สูงทันที ในกรณีอยู่นอกบ้านให้พยายามมองหาที่สูงเอาไว้ เช่น ภูเขา สะพานลอย ตึกหรืออาคารสูง หากไม่มีที่สูงใกล้ ๆ แนะนำให้เกาะสิ่งของขนาดใหญ่ไว้
- ห้ามเดินตามเส้นทางน้ำไหล แม้บริเวณนั้นจะมีระดับน้ำไม่สูง เพราะความเร็วของน้ำอาจทำให้เสียหลัก พลัดไปกับน้ำ จนอาจจมน้ำได้
- หากเห็นเสาไฟหรือสายไฟ ให้หลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้ และเมื่อมีโอกาสให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
สายด่วนให้ข้อมูลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร 1784
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทร 192
- กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 1182
- กรมชลประทาน โทร 1460
- ศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ โทร 1199
- บริการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669
ติดตามข้อมูลข่าวสารและการเตือนภัยพิบัติ
- กรมอุตุนิยมวิทยา (พยากรณ์อากาศ เส้นทางพายุ และปริมาณน้ำฝน)
- กรมทรัพยากรน้ำ (เตือนภัย เช็กสถานการณ์น้ำ และข้อมูลน้ำในแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ)
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ข้อมูลภัยพิบัติ และการแจ้งเตือนพื้นที่ภัยพิบัติ)
- กรมทรัพยากรธรณี (เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม)
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (ข้อมูลอากาศ และระบบน้ำในเขื่อนและน้ำทะเล)
- กรมชลประทาน (ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ และการปล่อยน้ำ)
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ข้อมูลภัยพิบัติ แจ้งเตือนพื้นที่ภัยพิบัติ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย)
หลังน้ำท่วมควรฟื้นฟูดูแลอย่างไร? อะไรบ้างที่ควรระวัง?
หลังจากที่เหตุน้ำท่วมจบลง ย่อมตามมาด้วยความเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการดูแลและฟื้นฟูความเสียหายเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยแบ่งการฟื้นฟูหลัก ๆ ได้ 2 ขั้นตอน ดังนี้
1.ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ หลังเหตุการณ์น้ำท่วม มักทำให้หลายคนเกิดภาวะซึมเศร้า เนื่องจากชีวิตและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จนนำไปสู่ความเครียด นอนไม่หลับ หรืออาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วม
- พูดคุยและใช้เวลากับครอบครัว เพื่อเยียวยาจิตใจ แบ่งปันความกังวล และความเครียด โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรตำหนิหากเขาเหล่านั้นมีอาการผิดปกติ เช่น ฉี่รดที่นอน ฝันร้าย เกาะติดพ่อแม่ตลอดเวลา
- พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารให้ครบตามโภชนาการ เนื่องจากช่วงน้ำท่วมมีการอดอาหารหรือกินอาหารกระป๋องเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
- หากมีภาวะซึมเศร้าจนรับมือไม่ได้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา
- เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง โรคฉี่หนู โรคท้วงร่วง ฯลฯ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
- เมื่อร่างกายและจิตใจดีขึ้น ค่อยเริ่มวางแผนการจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
2.ฟื้นฟูดูแลบ้าน มีหลายคนที่เสียชีวิตเนื่องมาจากการจัดการดูแลบ้านหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะเรื่องของการถูกไฟดูด เมื่อกลับบ้านคือ การตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเข้าบูรณะและอยู่อาศัย โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เดินสำรวจในบ้านอย่างระมัดระวัง ตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน จากนั้นเช็กสายไฟ และถังแก๊ส หากได้กลิ่นแก๊สรั่ว ให้ออกมาจากบริเวณนั้นและรีบโทรแจ้งร้านจำหน่ายแก๊สหรือโทรแจ้งหน่วยฉุกเฉิน 191/199
- ถ่ายรูปความเสียหายภายในบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่ต้องเรียกค่าชดเชยจากประกันภัย
- หากยังมีน้ำท่วมขัง ให้ระบายน้ำออกช้า ๆ เพราะแรงดันน้ำอาจทำให้เกิดรอยแตกของผนังหรือพื้นห้องได้
- ตรวจสอบความเสียหายของตัวบ้านให้แน่ใจว่าทุกอย่างปลอดภัยหรือมีอะไรต้องซ่อมแซมหรือเปล่า
- เก็บกู้สิ่งของและทำความสะอาดบ้าน โดยเปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อระบายความชื้นและฝุ่น
- ตรวจสอบท่อน้ำว่ามีรอยแตกหรือรั่วไหม ถ้าพบให้ปิดวาล์วทันที และงดใช้น้ำในการประกอบอาหาร จนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาดและปลอดภัย
สรุป
ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ต้องระวังภัยจากน้ำท่วมเป็นพิเศษ จึงจำเป็นต้องหมั่นติดตามข่าวสารภัยพิบัติอยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น จะสามารถเตรียมตัวได้ทัน และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด ฉะนั้น การมีเกร็ดความรู้ในการรับมือน้ำท่วมไว้ ก็เป็นเรื่องที่ดีนะคะ