อาการโรคพาร์กินสัน ปัญหาทางด้านร่างกายที่ส่งผลกระทบถึงด้านจิตใจ

อาการโรคพาร์กินสัน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุรองลงมาจากโรคอัลไซเมอร์ โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และสังคมไทยก็เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้นโรคพาร์กินสันจึงเป็นอีกโรคหนึ่งที่เราควรต้องระวัง หมั่นสังเกตอาการผู้สูงอายุในบ้าน ว่ามี อาการโรคพาร์กินสัน หรือไม่ เพื่อที่จะได้รีบหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที

อาการโรคพาร์กินสัน

สารบัญเนื้อหา

  1. อาการโรคพาร์กินสัน มีอะไรบ้าง?
  2. การรักษาโรคพาร์กินสัน มีกี่วิธี?
  3. การดูแลผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ทำได้ด้วยวิธีใด?
  4. อาหารบำรุงสมอง ป้องกันพาร์กินสัน

อาการโรคพาร์กินสัน มีอะไรบ้าง?

              โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงในผู้สูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเสื่อมของเซลล์สมองบริเวณแกนสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) มีหน้าที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสารเคมีในสมองเสียสมดุลไป จึงทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการโรคพาร์กินสันแสดงออกมา ดังนี้

  1. อาการสั่น ผู้สูงอายุจะมีอาการสั่นที่นิ้ว มือ แขน หรือขา ขณะอยู่ในท่าพักและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายใดๆ และอาการที่มักพบได้บ่อย คือ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้สั่นและถูกันไปมา มือสั่นอย่างไม่สามารถควบคุมได้
  2. อาการเคลื่อนไหวช้า ผู้สูงอายุจะเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ จนทำให้เกิดความยากลำบากและใช้เวลานานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินก้าวสั้นๆ การเดินลากเท้า หรือแม่แต่ลุกออกจากที่นั่งก็ยังลำบาก
  3. อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ในผู้สูงอายุที่ป่วยโรคนี้กล้ามเนื้อจะแข็งและเกร็งกว่าปกติ ทำให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้อย่างลำบากและเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด ซึ่งอาจสร้างความเจ็บปวดได้หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง
  4. ปัญหาเรื่องการทรงตัว ในส่วนของปัญหาเรื่องการทรงตัว มักจะเกิดขึ้นหลังจากมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น 2-5 ปี ซึ่งอาการที่ปรากฎคือผู้ป่วยอาจจะล้มไปข้าง ล้มไปข้างหลัง หลือล้มไปด้านข้าง กล่าวคือไม่สามารถทรงตัวด้วยตัวเองได้นั่นเอง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคพาร์กินสัน

    • กลืนลำบาก อาจมีน้ำลายสะสมอยู่ในปากมาก ทำให้กลืนอาหารลำบากกว่าปกติ
    • ปัสสาวะลำบาก หรือไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้เลย
    • อ่อนเพลียง่าย เจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
    • มีความต้องการและการแสดงออกทางเพศลดลง
    • มีอาการท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ช้าลง
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน มักจะรู้สึกตัวขึ้นมากลางดึกบ่อยๆ และรู้สึกง่วงนอนตลอดทั้งวัน
    • มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ภาวะซึมเศร้า ความกลัว วิตกกังวล หรือรู้สึกขาดแรงจูงใจ
    • ประสาทการรับกลิ่นมีปัญหา
    • ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดเฉียบพลันได้
เครื่องวัดความดัน

การรักษาโรคพาร์กินสัน มีกี่วิธี?

          การรักษาโรคพาร์กินสัน หลักๆจะมี 3 วิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีการรักษาจะต้องสอดคล้องกับอาการโรคพาร์กินสันของผู้ป่วย และต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วยจะเป็นการดีที่สุด

  1. การรักษาด้วยยา วิธีนี้จะเป็นกลุ่มยาที่จะช่วยบรรเทาอาการเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการรักษาด้วยยาจะเป็นการรักษาหลักในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรค ทั้งนี้การจะใช้ยาแต่ละชนิดนั้นจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ร่วมด้วย
  2. การรักษาด้วยกายภาพบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยทรงตัวได้ดีขึ้น และเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งช่วยแก้ไขภาวะแทรกซ้อนอื่นๆด้วย เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา หลังโก่ง ไหล่ติด เป็นต้น
  3. การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยส่วนมากวิธีนี้จะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและมีอาการไม่หนักมาก หรือในผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว เช่น มีอาการสั่นรุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยา เป็นต้น

การดูแล

การดูแลผู้สูงอายุโรคพาร์กินสัน ทำได้ด้วยวิธีใด?

              คงไม่มีใครอยากให้คนที่เรารักต้องเจ็บป่วย แต่เมื่อเราไม่สามารถรู้ได้ว่าความเจ็บป่วยจะมาตอนไหน และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด บทความนี้จึงอยากนำเสนอวิธีการการดูแลผู้สูงอายุป่วยโรคพาร์กินสัน เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลและฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

  1. การเลือกรองเท้าที่พื้นรองเท้าไม่ลื่น เนื่องจากผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินอาการหลักๆมีความเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะฉะนั้นเราควรเลือกรองเท้าที่มีส่วนช่วยในการเซฟความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ เลือกรองเท้าที่พื้นรองเท้าไม่ลื่น และมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้ม
  2. ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทางเดิน ภายในบ้านควรจัดสันพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางตามทางเดิน เพราะอาจจะทำให้ผู้สูงอายุลื่นและเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
  1. ห้องน้ำควรมีราวจับ และพื้นห้องน้ำไม่ลื่น ในห้องน้ำที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำควรมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวในการเดิน และช่วยพยุงตัวในการลุกหลังจากเสร็จสิ้นภารกิตต่างๆ และควรเลือกใช้กระเบื้องที่มีความหยาบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุลื่น หรือหกล้ม
  2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ดูแลจะต้องคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในทุกด้านให้แก้ผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การพาผู้ป่วยเดินหรือทำบริหารร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
  3. การเลือกรับประทานอาหาร ควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย ในการป้อนควรตักให้พอดีคำ และรอให้ผู้ป่วยกลืนหมดก่อนจึงค่อยป้อนคำต่อไป
  4. การให้กำลังใจ การที่วันหนึ่งเรากลายเป็นคนป่วย แน่นอนว่าจะต้องสร้างความกังวลใจให้กับผู้สูงอายุแน่นอน ผู้สูงอายุจะรู้ถึงความไม่ปกติของร่างกาย และทำให้เสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตไป เพราะฉะนั้นคนในครอบครัวควรให้กำลังใจคอยดูแลและคอยรับฟังผู้ป่วยเสมอ ช่วยอำนวยความสะดวกในการพาไปพบแพทย์ การฟื้นฟูร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าทุกคนในบ้านยังอยู่ข้างๆเสมอ และป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุของผู้ป่วยด้วย

อาหาร

อาหารบำรุงสมอง ป้องกันพาร์กินสัน

              การเลือกทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และถูกหลักอนามัย นับว่าเป็นการดูแลร่างกายที่ดีอย่างหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันการทานอาหารแต่ละชนิดจึงต้องอาศัยความใส่ใจเป็นพิเศษ Allwell จึงรวบรวมวัตถุดิบที่มีสรรพคุณในการบำรุงสมอง และช่วยป้องกันโรคพาร์กินสันมาฝากกันค่ะ

ปลา

แครอท

ผักใบเขียว

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

พืชตระกูลถั่ว

แอปเปิ้ล

ผักโขม

แปะก๊วย

ช็อกโกแลต

ไข่

ธัญพืช

ข้าวโอ๊ต

หน่อไม้ฝรั่ง

ข้าวกล้อง

มะเขือเทศ

             กระเทียม

                  นมถั่วเหลือง                    น้ำมันมะกอก

สรุป

              โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงกับผู้สูงอายุก็จริง แต่ก็ใช่ว่าคนวัยอื่นจะไม่มีโอกาสเป็นได้ และถึงแม้อาการโรคพาร์กินสันจะไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่ก็นับว่าสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยได้เช่นกัน ฉะนั้นอย่าลืมไปตรวจสุขภาพกันอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup