วัยเกษียณ เป็นวัยที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่แพ้วัยอื่น ๆ แต่รายได้ที่มี อาจไม่เยอะเหมือนตอนทำงาน จึงทำให้ทางภาครัฐ มีนโยบายต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โดยเป็นนโยบายที่ให้ เงินผู้สูงอายุ ในทุก ๆ เดือน เพื่อช่วยเหลือในเรื่องของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรามาดูกันว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับสิทธิ์นี้ จะได้เงินเท่าไหร่? แล้วในปี 68 เงินจะเข้าวันไหนบ้าง?
สารบัญ
- เงินผู้สูงอายุ เข้าวันไหนบ้าง?
- อยากได้เงินผู้สูงอายุ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?
- เงินผู้สูงอายุ จะได้รับเดือนละเท่าไหร่?
เงินผู้สูงอายุ เข้าวันไหนบ้าง?
ผู้สูงอายุหลายคน ที่ได้รับสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่า เงินผู้สูงอายุ จะเข้าวันไหนบ้าง? แต่ละเดือนทำไมถึงได้รับเงินไม่ตรงกัน จริง ๆ แล้วเกิดจากทางภาครัฐ จะจ่ายเงินผู้สูงอายุ ให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน ซึ่งถ้าวันที่ 10 ของเดือนนั้น ๆ ตรงกับวันหยุด รัฐจะเลื่อนเวลาการจ่ายเงิน เป็นก่อนวันที่ 10 ค่ะ ทำให้แต่ละเดือน จึงได้รับเงินไม่ตรงกัน ซึ่งในแต่ละปีงบประมาณ (ตุลาคม – กันยายน 68) รัฐจะจ่ายเงินให้ดังนี้ค่ะ
- เดือนมกราคม : วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568
- เดือนกุมภาพันธ์ : วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568
- เดือนมีนาคม : วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2568
- เดือนเมษายน : วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568
- เดือนพฤษภาคม : วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568
- เดือนมิถุนายน : วันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2568
- เดือนกรกฎาคม : วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2568
- เดือนสิงหาคม : วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2568
- เดือนกันยายน : วันพุธที่ 10 กันยายน 2568
อยากได้ เงินผู้สูงอายุ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ สวัสดิการที่ทางภาครัฐ จัดสรรขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เนื่องจากรายได้ จากอาชีพผู้สูงอายุที่ทำอยู่ในแต่ละเดือน อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย
สำหรับผู้สูงอายุรายใหม่ ที่ต้องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี? ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง? วุ่นวายหรือเปล่า? บทความนี้จะเคลียร์ให้ชัด บอกเลยค่ะว่า ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ์ รับเงินผู้สูงอายุรายใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2568 (เปิดลงทะเบียนเดือน ต.ค.67) ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?
- มีสัญชาติไทย
- ต้องเป็นผู้มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยนับจากวันเกิด จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2568 กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้สูงอายุ ที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2505 (ส่วนผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎร ระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น ๆ)
- ต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ จากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ บำนาญพิเศษ เบี้ยหวัด รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
หากมีคุณสมบัติครบแล้ว ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
- บัตรประจำตัวประชาชน ตัวจริง หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ (ที่มีรูปถ่าย)
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ตัวจริง และสำเนาอีก 1 ฉบับ
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ตัวจริง (ประเภทออมทรัพย์) และสำเนาอีก 1 ฉบับ
ถ้าต้องการให้ผู้อื่นมาดำเนินเรื่องแทนผู้สูงอายุ จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
- หนังสือมอบอำนาจ (ติดต่อขอรับแบบฟอร์ม ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ไปดำเนินเรื่อง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้สูงอายุ (ผู้มอบอำนาจ) และของผู้ที่มาดำเนินเรื่องแทน (ผู้ที่รับอำนาจ) อย่างละ 1 ฉบับ
*สำเนาทุกฉบับจะต้องมีการเซ็นสำเนาถูกต้อง*
เมื่อเอกสารพร้อมแล้ว ไปลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ ได้ที่ไหน?
- ทะเบียนบ้านอยู่ในเขตกรุงเทพฯ : สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้น ๆ
- ทะเบียนบ้านอยู่ในต่างจังหวัด : องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสำนักงานเทศบาล ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตนั้น ๆ
เงินผู้สูงอายุ จะได้รับเดือนละเท่าไหร่?
บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมผู้สูงอายุแต่ละท่าน ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่เท่ากัน? ทั้งนี้เป็นมติของทางภาครัฐค่ะ ซึ่งเห็นชอบให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือน แตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงอายุ เป็นแบบขั้นบันได ดังนี้ค่ะ
- อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับ 600 บาท
- อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับ 700 บาท
- อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
คาดว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 หรือ ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป รัฐบาลมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี: จะได้รับ 700 บาท (จากเดิม 600 บาท)
- อายุ 70-79 ปี: จะได้รับ 850 บาท (จากเดิม 700 บาท)
- อายุ 80-89 ปี: จะได้รับ 1,000 บาท (จากเดิม 800 บาท)
- อายุ 90 ปีขึ้นไป: จะได้รับ 1,250 บาท (จากเดิม 1,000 บาท)
สำหรับ การรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สามารถเลือกวิธีการขอรับได้ ดังนี้
- ขอรับเป็นเงินสด (รับด้วยตัวเอง หรือ รับผ่านคนที่ได้รับมอบอำนาจ)
- โอนเงินเข้าบัญชี (ของตัวเอง หรือ ของคนที่ได้รับมอบอำนาจ)
สรุป
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเงินช่วยสนับสนุนรายได้ แม้จะไม่มากแต่ก็ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้บ้าง และเป็นสิทธิ์ที่ผู้สูงอายุชาวไทยพึงได้รับหากมีคุณสมบัติครบถ้วน อย่าลืมไปขอรับสิทธิ์ด้วยตนเอง หรือให้ครอบครัวดำเนินเรื่องแทนได้เนื่องจากข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลทางการหรือเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันค่ะ