เช็กสิทธิบัตรทอง ทำอย่างไร? จ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคจริงไหม? เช็กเลย!

เช็คสิทธิบัตรทอง

         สุขภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยของเราจึงมีการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนชาวไทย ด้วยบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เรารู้จักกันในชื่อ บัตรทอง หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่หลาย ๆ คนก็ไม่ทราบถึงสิทธิบัตรทองของตนเอง จนอาจทำให้พลาดสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับไปอย่างน่าเสียดาย บทความนี้มีวิธี “เช็กสิทธิบัตรทอง” และข้อมูลที่ควรรู้มาฝากกันค่ะ

สารบัญ

เช็กสิทธิบัตรทอง ได้ที่ไหนบ้าง?

         หลายคนไม่แน่ใจว่าตัวเองนั้นได้รับสิทธิบัตรทองหรือยัง หรือมีสิทธิบัตรทองแล้วแต่ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลหรือหน่วยงานไหนที่ตนไปใช้สิทธิบัตรทองได้ บทความนี้จะมาบอกวิธีการเช็กสิทธิบัตรทองด้วยตนเอง ผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสามารถเช็กได้ทั้งหมด 4 วิธีง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

บัตรทอง

เช็กสิทธิบัตรทองอย่างไร?

  1. เช็กสิทธิบัตรทองทางโทรศัพท์ ด้วยการโทรเข้าสายด่วน สปสช. ที่เบอร์โทรศัพท์ 1330 จากนั้นกด 2 แล้วกดเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ตามด้วยเครื่องหมาย #
  2. การเช็กสิทธิบัตรทองผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. >> www.nhso.go.th<< (หรือหน้าเว็บไซต์หลัก ให้เลือกเมนูสำหรับประชาชน แล้วคลิกเลือกตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ) ใช้ข้อมูลเพียงเลขบัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิดของผู้ที่จะตรวจสอบ
  3. เช็กสิทธิบัตรทองผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ทั้งระบบ IOS และระบบ Android เลือกเมนูตรวจสอบสิทธิตนเอง
  4. การเช็กสิทธิบัตรทองผ่านไลน์ (Official Account) สปสช. โดยแอดไลน์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 จากนั้นก็เลือกตรวจสอบสิทธิ

บัตรทอง คืออะไร? ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

         เมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล สิ่งที่คนส่วนใหญ่กังวล นอกจากความรุนแรงของโรคหรือผลการรักษาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องหลัก ๆ ที่หลายคนกังวล ไม่ว่าจะค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด ค่ายา หรือค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ประเทศไทย มีสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้ โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน หนึ่งในนั้นคือ บัตรทอง

บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

         บัตรทอง คือ บัตรที่ออกโดยสำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สปสช. ซึ่งใช้เป็นหลักฐานแก่ประชาชนชาวไทยทุกท่านเพื่อเข้าใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อรับการบริการเกี่ยวกับสุขภาพหรือการสาธารณสุขจากหน่วยบริการที่ทางภาครัฐกำหนดไว้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

บัตรทองให้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

  • บริการทางการแพทย์อย่างการตรวจวินิจฉัยโรค การตรวจ การรักษาโรค รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
  • การบริการจัดส่งผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ
  • ค่าเวชภัณฑ์ หรือค่ายา ตามกรอบของบัญชียาหลักแห่งชาติ
  • ค่าห้องสามัญระหว่างการพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ
  • ค่าอาหารระหว่างการพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ
  • บริการทันตกรรม ทั้งการถอนฟัน การอุดฟัน หรือการขูดหินปูน
  • การบริการทางการแพทย์แผนไทย อย่างการนวดเพื่อการรักษา การรับยาสมุนไพรเพื่อใช้ในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค รวมไปถึงการประคบสมุนไพรอีกด้วย
  • การตรวจคัดกรองโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งเต้านม
  • ดูแล-ส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงตั้งครรภ์ทั้งก่อนการคลอด และหลังการคลอด ซึ่งการคลอดนี้รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง
  • การดูแล และส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก อย่างการให้วัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับเด็ก
  • ให้คำแนะนำครอบครัวส่วนของการคุมกำเนิด
  • คำแนะนำครอบครัวส่วนของการให้คำปรึกษาแก่คู่สมรส

บัตรทองไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง?

         หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยและได้ยินประโยคที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าหากถามว่ารักษาได้ทุกโรคจริงไหม ในความเป็นจริงนั้นรักษาได้เกือบทุกโรคค่ะ ไม่ว่าจะโรคเรื้อรัง หรือโรคที่คนส่วนใหญ่มักเป็นอย่างโรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ฯลฯ แต่ก็มีเรื่องการรักษาพยาบาลบางอย่างที่ทางสิทธิประกันสุขภาพไม่รองรับ หรือไม่ครอบคลุม ดังนี้ค่ะ

บัตรทองไม่ครอบคลุม

สิ่งที่บัตรทองไม่ครอบคลุมการรักษา

  1. ศัลยกรรมความงาม เพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น
  2. การรักษาหรือการวินิจฉัยที่เกินกว่าความจำเป็นตามที่แพทย์วินิจฉัย
  3. การปลูกถ่ายอวัยวะในบางรายการที่ทางสิทธิประกันสุขภาพไม่ได้กำหนด
  4. การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
  5. การบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ตามที่ สปสช. กำหนด

ถ้าไม่มีบัตรทอง สามารถขอได้ที่ไหน?

         อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า สิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 เป็นบัตรที่คนไทยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพอื่น ๆ ควรได้รับ เพราะจะช่วยลดในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ แต่ก็น่าเสียดายที่มีหลายคนพลาดสิทธิตรงนี้ไป สำหรับใครที่ไม่มีบัตรทอง แล้วอยากได้รับสิทธิประโยชน์นี้ ก็สามารถดำเนินเรื่องของรับบัตรทองได้ ดังนี้ค่ะ

บัตร 30 บาท

1.ผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ สามารถขอได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานที่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

2.ในต่างจังหวัด สามารถขอได้ที่โรงพยาบาลของภาครัฐ หรือสถานีอนามัยใกล้บ้านคุณ

หลักฐานที่ใช้ในการขอบัตรทอง

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้
  • สำเนาสูติบัตร หรือ สำเนาใบเกิด ซึ่งใช้สำหรับเด็กต่ำกว่าอายุ 15 ปี
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
อ่านบทความ : อาชีพผู้สูงอายุ งานอดิเรกผู้สูงอายุทำอย่างไรให้ได้เงิน

ใครที่มีสิทธิ์ – ไม่มีสิทธิ์ในการถือบัตรทองบ้าง?

         แม้บัตรทองหรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค จะมีสำหรับประชาชนคนไทย แต่ก็มีคนไทยบางกลุ่มที่ไม่มีสิทธิ์ในการถือครองบัตรทอง เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดของทางภาครัฐ เราไปดูกันว่าใครที่สามารถมีบัตรทองได้ หรือไม่ได้บ้างค่ะ

บัตรทอง

บุคคลที่มีสิทธิ์ในการถือบัตรทอง

1.อดีตข้าราชการที่เกษียณอายุ หรือ ออกจากราชการ โดยไม่ได้รับบำนาญ

2.ผู้ประกันตนที่หมดสิทธิประกันสังคม เนื่องจากไม่ได้ส่งเงินสมทบตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

3.ทารกแรกเกิดที่ไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลใด ๆ จากบิดาหรือมารดา

4.บุตรหรือธิดาของข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ และ ไม่มีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้านสุขภาพ

5.บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป

6.ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน

บัตรทอง

บุคคลที่ไม่มีสิทธิ์ในการถือบัตรทอง

1.ผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม

2.ข้าราชการ ลูกจ้าง ประจำของส่วนราชการ และครอบครัว

3.พนักงานรัฐวิสาหกิจ

4.พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ

5.ครูโรงเรียนเอกชนในระบบ

สรุป

         การเช็กสิทธิบัตรทองของตนเองถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ครอบครอง หรือ ผู้ที่ถือบัตรทองควรทราบ เพราะเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยทุกท่าน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลส่วนนี้ยังค่อนข้างกระจัดกระจาย หลาย ๆ ท่านจึงไม่ทราบว่าต้องทำอย่างใด หรือ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดได้บ้าง และผู้ป่วยบางท่านก็มีความกังวลในส่วนของค่ารักษาว่าบัตรทองอาจไม่ครอบคลุมต้องทำการจ่ายเพิ่ม จึงไม่ยอมเข้ารับการรักษา ดังนั้นหากคุณมีบัตรทองแล้วก็ควรทราบสิทธิของตนเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุด

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup