บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
อีกหนึ่งอาการผิดปกติที่ต้องระมัดระวัง คือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่หลายคนมักมองข้ามอาการเริ่มต้นต่าง ๆ ไป เช่น แขนขาอ่อนแรง สะดุดบ่อย ลุกนั่งลำบาก เพราะเห็นว่าเป็นอาการเหนื่อยล้าปกติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้กว่าจะมาถึงมือแพทย์ อาการก็ทรุดหนักลงแล้ว
หลายปีที่ผ่านมา หลายท่านอาจเคยเห็นกระแส Ice Bucket Challenge ที่เอาน้ำแข็งเย็น ๆ ปริมาณมาก ๆ มาราดตัว ซึ่งกิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องเอาน้ำแข็งเย็น ๆ มาราดตัวด้วย? กิจกรรมนี้ทำไปเพื่ออะไร? ALS คืออะไรกันแน่? บทความนี้มีคำตอบค่ะ
สารบัญ
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรค ALS เกิดขึ้นได้อย่างไร?
- ทำไม Ice Bucket Challenge ถึงต้องเอาน้ำแข็งมาราดตัว?
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ของโรค ALS กับโรค MG แตกต่างกันอย่างไร?
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถรักษาให้หายได้ไหม?
- วิธีลดความเสี่ยงเป็นโรค ALS
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรค ALS เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือที่มักจะเรียกกันว่าโรค ALS เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดกับกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เกิดจากเซลล์ประสาทส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อไม่มีเซลล์ประสาทควบคุม จนทำให้เกิดเป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ผู้ป่วยโรค ALS กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมหรือถูกทำลาย แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดมาจากปัจจัยเหล่านี้
- อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่าง ๆ ก็เสื่อมลง รวมถึงเซลล์ประสาทส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อด้วย
- เป็นโรคอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเส้นประสาทอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือโปรตีนบางชนิดที่อาจทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมหรือถูกทำลาย
- ได้รับสารพิษจากดำรงชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง สารโลหะ รังสี หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด อาจทำให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติ
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรค ALS มาก่อน อาจจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นกัน
ทำไม Ice Bucket Challenge ถึงต้องเอาน้ำแข็งมาราดตัว?
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีกระแสที่โด่งดังในโซเชียลเกี่ยวกับการเอาน้ำแข็งมาราดตัว ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า #Ice Bucket Challenge ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีนักแสดงและไอดอลต่าง ๆ มากมายออกมาร่วมกิจกรรม บางคนอาจสงสัยว่ากิจกรรมนี้ทำไปเพื่ออะไร? บางคนก็อาจทราบว่าทำไปเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS แต่ทราบหรือไม่คะว่าทำไมต้องเอาน้ำแข็งมาราดตัว?
กิจกรรมนี้ถูกริเริ่มโดยพีท ฟราเทส อดีตนักกีฬาเบสบอล ซึ่งป่วยเป็นโรค ALS จุดประสงค์คือเขาต้องการให้กิจกรรมนี้ถูกส่งต่อไปทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนรู้จักและตระหนักถึงความอันตรายของโรค ALS โดยกิจกรรมนี้จะทำโดยการเอาน้ำแข็งมาราดตัว แล้วถ่ายคลิปส่งต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งบริจาคเงิน เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS
สาเหตุที่ต้องเอาน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดมาราดตัวนั้น เพื่อให้ทราบถึงความรู้สึกของผู้ป่วยโรค ALS ที่ทุกข์ทรมานกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่นเดียวกับการโดนน้ำแข็งราดตัว ทำให้รู้สึกชาและไร้เรี่ยวแรง
วิธีสังเกตอาการของโรค ALS
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับมือ แขน ขา และเท้า โดยจะเริ่มจะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง แล้วลามไปเรื่อย ๆ
- กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก ปวด หรือลีบเล็กลง
- เดินลำบาก สะดุดล้มบ่อย หกล้มบ่อย หยิบจับของไม่ได้เหมือนเคย
- พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง กลืนอาหาร หรือน้ำลายไม่สะดวก จนเกิดการสำลักบ่อย ๆ
- เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลานอนราบ ในบางรายมักจะตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่สะดวก
- กล้ามเนื้อคออ่อนแรง ไม่สามารถพยุงลำคอได้ ทำให้คอตก
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ของโรค ALS กับโรค MG แตกต่างกันอย่างไร?
โรค MG (Myasthenia Gravis) เป็นโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเช่นเดียวกับโรค ALS แต่มีความแตกต่างกัน คือ
- สาเหตุ : โรค ALS เกิดจากเซลล์ประสาทส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย แต่โรค MG เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ โดยการทำลายหรือลดทอนการทำงานของเส้นประสาทบนกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ไม่สามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ จึงเกิดการอ่อนแรง ซึ่งเป็นโรคที่จัดอยู่ในประเภท Autoimmune disease หรือที่มักจะเรียกกันว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- ปัจจัยเสี่ยง : โรค ALS มีหลายข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท สารเคมี หรือพันธุกรรม แต่โรค MG สันนิษฐานว่ามาจากไวรัสบางชนิด ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเส้นประสาทกล้ามเนื้อ
- อาการ : โรค ALS มักจะเกิดบริเวณกล้ามเนื้อแขนขา มีการเกร็ง กระตุก หรือลีบเล็กลง ส่วนโรค MG มักจะเกิดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะดวงตา มักจะมีอาการมองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ หนังตาตก ไม่สามารถยิ้มได้หรือยิ้มแล้วปากเบี้ยว
สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองโรค คือ สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุก และมักพบมากในผู้สูงอายุเช่นกัน นอกจากนี้อาการอื่น ๆ เช่น การหายใจไม่สะดวก ภาวะกลืนอาหารลำบาก ของทั้งสองโรคจะคล้ายกัน แต่โรค ALS จะมีความรุนแรงมากกว่าโรค MG เนื่องจากเกิดกับระบบประสาทโดยตรง
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถรักษาให้หายได้ไหม?
ในปัจจุบันโรค ALS ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ค่ะ แพทย์จึงทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น และช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงต่าง ๆ ลง นอกจากต้องป้องกันไม่ให้โรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นด้วย ไม่อย่างนั้น อาการของผู้ป่วยจะยิ่งทรุดหนักลง เช่น
- โรคซึมเศร้า เกิดจากความเครียด วิตกกังวล หดหู่ เศร้า เสียใจ
- โรคสมองเสื่อม เนื่องจากเซลล์สมองที่เสื่อมหรือตาย ทำให้มีผลกับความคิด ความจำ และการตัดสินใจ ทำให้อาจมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
- ปอดบวมหรือระบบหายใจล้มเหลว เพราะเกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจ
- ภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากผู้ป่วยทานอาหารไม่ได้มากเท่าที่ร่างกายต้องการ
- แผลกดทับ เพราะในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถขยับหรือลุกได้ จะส่งผลให้เกิดแผลกดทับ
ในผู้ป่วยบางราย สามารถมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 10 ปี เนื่องจากการปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์และดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย ดังนี้
- การกินยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- กินอาหารที่มีประโยชน์และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- การทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ ฝึกฝนการพูด การกลืนน้ำลายและอาหาร
- ฝึกฝนการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว การกินข้าว
- มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ซึมเศร้า
วิธีลดความเสี่ยงเป็นโรค ALS
ปัจจุบันสาเหตุของโรค ALS ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้ที่แน่นอน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติดทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารโลหะ หรือสารเคมีอันตรายต่าง ๆ หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อไป
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรค ALS มาก่อน
- หากสงสัยว่ามีอาการเหมือนโรค ALS ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
สรุป
แม้ว่าโรค ALS จะมีผู้ที่เป็นไม่ได้มาก แต่การป้องกันไว้ก่อนเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะถ้าหากป่วยเป็นโรคนี้แล้ว จะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะป่วยเป็นโรค ALS ไปแล้ว ก็อย่างเพิ่งถอดใจนะคะ เพราะหากดูแลตนเองดีและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยโรคนี้สามารถใช้ชีวิตได้มากกว่า 10 ปีเลยนะคะ ดังนั้น การดูแลตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดค่ะ
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700