บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ผู้หญิงนอกจากจะมีเรื่องของประจำเดือนที่มากวนใจในทุกเดือนแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะสร้างความกังวลใจให้ผู้หญิงอย่างเราๆได้นั่นก็คือ อาการวัยทอง เป็นอาการที่ผู้หญิงหลายคนหรือแทบทุกคนก็ว่าได้ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเราไม่อาจรู้เลยว่าจะสามารถรับมือกับอาการเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน
ในเมื่อตอนนี้อาการเหล่านั้นยังมาไม่ถึง เราจึงควรจะศึกษาอาการต่างๆที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยทอง เพื่อจะได้หาแนวทางในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
สารบัญเนื้อหา
- ภาวะการเข้าสู่อาการวัยทอง มีสาเหตุมาจากอะไร
- อาการวัยทองแบ่งออกเป็นกี่ระยะ
- การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง
- การดูแลสุขภาพสำหรับสตรีวัยทอง
- การใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
ภาวะการเข้าสู่อาการวัยทอง มีสาเหตุมาจากอะไร
โดยส่วนใหญ่อาการวัยทองในผู้หญิงนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-59 ปี เป็นผลมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ช่วงกลางๆ อายุ 30 ซึ่งแต่ละคนนั้นอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จะอยู่ระหว่างวัยเจริญพันธุ์และวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ความสามารถในการผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย
ผู้หญิงบางคนอาจเริ่มมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ ไปจนถึงการไม่มีประจำเดือนแล้ว หรือที่เรียกกันว่า วัยหมดประจำเดือน อาการวัยทองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงก็จริง แต่ในผู้ชายก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลงตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากมาย และส่งผลไปถึงด้านจิตใจด้วย ซึ่งทางการแพทย์เรียกผู้ชายวัยทองว่า “แอนโดรพอส” (Andropause) นั่นเอง
อาการวัยทองแบ่งออกเป็นกี่ระยะ
อาการวัยทองหรืออาการของวัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause) เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้มีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี
- ระยะหมดประจำเดือน (menopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
- ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย
อาการวัยทองมีลักษณะอย่างไร
เมื่อทราบถึงสาเหตุการเข้าสู่ภาวะวัยทองแล้ว ความสำคัญต่อมาคือการทำความรู้จักกับอาการวัยทอง ว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้หาวิธีรับมือ และวิธีดูแลตัวเองเมื่ออาการเหล่านั้นเกิดขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็นอาการระยะสั้น และอาการระยะยาวอาการระยะสั้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาติดกันหรือห่างจากกันมาก บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ
- อาการร้อนวูบวาบ
- นอนไม่หลับ อันเป็นผลของอาการร้อนวูบวาบ
- เกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย มีความวิตกกังวล
- ช่องคลอดแห้ง มีปัญหาในการร่วมเพศ มีอาการคัน อาการการอักเสบของช่องคลอด มดลูก และช่องคลอดหย่อน ความต้องการทางเพศลดลง
- โอกาสมีลูกน้อยลง และไม่สามารถมีลูกได้อย่างถาวร หลังประจำเดือนไม่มาเต็ม 1 ปี
- ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
- เต้านมเล็กลง หย่อน ไม่เต่งตึง
อาการระยะยาว
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด หลังหมดประจำเดือนร่างกายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี LDL
- กระดูกพรุน การขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มีการทำลายเนื้อกระดูกมากขึ้น จนอาจทำให้เกิดเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก เป็นต้น
- ปัญหาของทางเดินปัสสาวะ เมื่อระดับกระดูกสันหลังลดลงทำให้เยื่อบุผนังท่อปัสสาวะบางลง ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ และมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- น้ำหนักขึ้นและเริ่มอ้วน เป็นผลมาจากการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้มีผลต่อระบบการเผาผลาญอาหาร ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น
การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง
อาการวัยทอง จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ดังนั้นสุภาพสตรีที่กำลังอยู่ในช่วงอายุดังกล่าว จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองว่ามีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นสตรีวัยทองแล้วหรือไม่ และถ้ามีอาการ ควรเตรียมตัวรับมือกับการเข้าสู่วัยทองอย่างไร
เตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง
- งดและหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำลายสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และของมึนเมาทุกชนิด
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดอาหารจำพวกของมัน ของทอด เพิ่มสารอาหารประเภทเส้นใยจากผักและผลไม้แทน
- เสริมแคลเซียมให้ร่างกาย ซึ่งแคลเซียมจะมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว และผลิตภัณฑ์จากนมพร่องมันเนย หรือจะรับประทานเป็นยาเม็ดแคลเซียมก็ได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- พักผ่อนอย่างจริงจัง ควรหาเวลาพักผ่อนจากงานประจำที่ทำอยู่ และออกไปทำกิจกรรมต่างๆที่ตนเองชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด
- พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ คู่สมรส หรือคู่สามีภรรยาควรมีการพูดคุยกันในปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยหลักๆเลยก็ควรที่จะได้รับการตรวจสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การวัดความดันโลหิต การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะปละอุจจาระ ในผู้หญิงเราอาจมีการตรวจเต้านมและตรวจภายใน รวมทั้งการตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย
การดูแลสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยทอง
อาการวัยทอง ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงแต่ก็นับว่าว่าสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่พอสมควร ดังนั้นการดูแลสุขภาพของคนที่เข้าสู่วัยทองจึงต้องมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น การเกิดโรคภัยต่างๆก็เป็นเรื่องใกล้ตัว พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ได้กล่าวถึง การดูแลสุขภาพสตรีวัยทอง 5 ข้อสำคัญ ดังนี้
1.รับประทานอาหารประเภทแคลเซียมเพิ่มขึ้น เช่น ผักใบเขียวทุกชนิด งาขาว งาดำ นม กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย และอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ถั่วแดง ฟักทอง กะหล่ำปลี บรอกโคลี แครอท ข้าวกล้อง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนและช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
2.งดหรือลดอาหารประเภทแป้ง อาหารมัน อาหารทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาอาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวายมากขึ้น รวมทั้งงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่
3.เลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ หรือกีฬาที่ชื่นชอบ เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายแบบโลดโผนหรือที่ต้องใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าหรือการออกกำลังกายที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมากจนเกินไป เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้
4.นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ควรเข้านอนให้เป็นเวลา และนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพราะจะช่วยเพิ่มความจำ และทำให้มีสุขภาพที่ดีมีอายุยืนยาว
5.การรู้จักผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม ฝึกทำจิตใจให้สบาย ฝึกจิตให้สงบ นั่งสมาธิเมื่อมีเวลาว่าง พยายามอย่าเครียดเพราะความเครียดจะส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและผู้คนรอบข้าง
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย
การใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนทดแทนแพทย์จะแนะนำในผู้หญิงที่มีอาการวัยทอง ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน นอนไม่หลับ และช่องคลอดแห้ง หรือเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้นได้ ในผู้หญิงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน นั่นก็คือ ภาวะกระดูกพรุน ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทุกคน เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม อาหารที่มีกากใยมากแต่ไขมันน้อย และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เราก็สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขประโยชน์การใช้ฮอร์โมนทดแทน
- ป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ป้องกันโรคหัวใจ
- ลดอาการของวัยทอง ร้อนตามตัวและมีเหงื่อออก
- ลดปัญหาช่องคลอดแห้งและคันเนื่องจากการขาดเอสโตรเจน
- ลดอาการปัสสาวะเล็ด
- ลดอาการอารมณ์แปรปรวน
- เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก เกิดจากการรับประทานฮอร์โมนที่มีแต่เอสโตรเจน พบว่าหากรับประทานขนาดสูง และเป็นเวลานานความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูกจะเพิ่มขึ้น
- มะเร็งเต้านม มีหลักฐานยืนยันว่าการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดสูง และเป็นเวลานานถึง10-15 ปีจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
- นิ่วในถุงน้ำดี ฮอร์โมนจะทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ควร จะหลีกเลี่ยง หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนก็ใช้ชนิดปิดหรือชนิดทาแทน
สรุป
อาการวัยทองที่เกิดขึ้นถึงแม้จะได้มีอันตรายร้ายแรงอะไร แต่ก็นับว่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันเช่นกัน เพราะเป็นอาการที่ส่งผลทั้งต่อร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าเข้าใจและรู้จักปรับตัวเข้ากับมันเราก็จะสามารถใช้ชีวิตให้เป็นปกติได้
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700