บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
อาหารเป็นพิษมีสาเหตุมาจาการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส จนทำให้เกิด อาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาการในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่ถ้าหากในเคสของผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ร่างกายอาจจะเสียน้ำ เสียเกลือแร่ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงและก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
สารบัญเนื้อหา
- อาการอาหารเป็นพิษ เป็นยังไง?
- เมนูอาหารที่เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษ
- การรักษาอาหารเป็นพิษ
- วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ
อาการอาหารเป็นพิษ เป็นยังไง?
อาการของอาหารเป็นพิษถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ร้ายแรง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สร้างปัญหาให้กับผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาเป็นวิธีป้องกันอาหารเป็นพิษไม่ให้ไปถึงจุดที่รุนแรง โดยโรคอาหารเป็นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเมืองร้อนอย่างประเทศไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาการที่แสดงออกมาหลักๆ สามารแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
อาการไม่รุนแรง
- รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง
- มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
- ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน
- เบื่ออาหาร ไม่อยากอาหาร
- รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะน้อย
- มองเห็นไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการรุนแรง
- มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ปัสสาวะมีสีเข้ม หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืด
- ผู้ใหญ่ท้องเสียติดต่อกัน 3 วัน หรือในเด็กอาจท้องเสียติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่อาการไม่ดีขึ้นเลย
- อาเจียนถี่หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่องนานกว่า 12 ชั่วโมง
- มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ
- ตามัวหรือมองเห็นภาพไม่ชัด
- ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยที่อาการปวดท้องไม่ลดลงเลยหลังจากอุจจาระไปแล้ว
- ท้องเสียร่วมกับมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
เมนูอาหารที่เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนจากเชื้อโรค แบคทีเรีย สารพิษหรือสารเคมี ซึ่งมักจะพบในอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารไม่สะอาด และในอาหารที่ปรุงไว้นานแล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อนที่จะรับประทาน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ และอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่เราควรจะรับประทานอย่างละมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
ยำทะเล/ยำหอยแครง | อาหาร หรือขนมที่ทำด้วยน้ำกะทิสด |
ข้าวผัดโรยเนื้อปู | ลาบ/ก้อยดิบ |
ขนมจีน | ส้มตำ |
ข้าวมันไก่ | ยำกุ้งเต้น |
สลัดผักที่มีธัญพืช | น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน |
ผักผลไม้แก้อาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ
มีอาหารที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษแล้ว ก็ต้องมีอาหารที่ช่วยแก้ได้ ผักผลไม้ต่อไปนี้ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณช่วยแก้ท้องเสียได้ ถ้าหากใครมีอาการอาหารเป็นพิษอยู่ก็ลองหามาทานกันดูนะคะ
ฝรั่ง | กล้วยน้ำหว้า |
มังคุด | ทับทิม |
ขิง | มะพร้าว |
ฟ้าทะลายโจร | กระชาย |
อาหารเป็นพิษ เกิดได้ถ้าไม่รู้จักเลือกกิน
การรักษาอาหารเป็นพิษ
เมื่อเรารู้ถึงอาการอาหารเป็นพิษแล้ว ความสำคัญต่อมาคือ แนวทางการรักษา ซึ่งในผู้ป่วยอาหารเป็นพิษถ้าไม่ได้มีอาการรุนแรงก็อาจจะใช้วิธีดูแลตัวเองและรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรจะรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและหาวิธีรักษากันต่อไป
การรักษาอาหารเป็นพิษด้วยตนเอง
1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ โดยการดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ หรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากอาการเสีย ท้องร่วงและอาเจียน
2.ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและถ่ายอุจจาระ โดยให้จิบทีละน้อยตลอดทั้งวัน ควบคู่กับการรับประทานอาหารตามปกติ และสามารถดื่มได้จนกว่าจะหยุดอาเจียนหรือกลับมาถ่ายอุจจาระแบบเป็นปกติแล้ว
3.รับประทานยาแก้ท้องเสีย โดยผู้ป่วยที่จะใช้ยาแก้ท้องเสียต้องได้รับคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร การใช้ยาจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียควบคู่ไปกับการดื่มน้ำและผงเกลือแร่ซึ่งเป็นการรักษาหลัก
4.รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม โดยเริ่มรับประทานในปริมาณน้อย ๆ ก่อน และควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัดด้วย
วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ
จุดเริ่มต้นของการเกิดอาการอาหารเป็นพิษนั้น มาจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ที่ปะปนมาในน้ำดื่มและอาหาร ฉะนั้นวิธีป้องกันอาหารเป็นพิษที่ดีที่สุดคือ การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่สะอาด และถูกสุขอนามัย เท่านี้เราก็จะสามารถป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้แล้ว ซึ่งวิธีป้องกันก็สามารถทำได้หลายวิธีได้แก่
1.ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
2.ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
3.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืน โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ เพราะจะบูดเสียง่ายมาก
4.ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
5.แยกอาหารดิบและอาหารสุกออกจากกัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรีย
6.เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู และสัตว์ชนิดอื่น ๆ
7.รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรือหากเป็นอาหารกล่อง อาหารถุง ก่อนทานให้นำมาอุ่นร้อนก่อนทานทุกครั้ง
8.การทานอาหารทะเลต้องปรุงสุกก่อนเสมอ หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือสุกๆ ดิบๆ
9.หากสังเกตเห็นความผิดปกติในอาหารนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น รส และลักษณะของอาหารแตกต่างไปจากเดิม ไม่ควรรับประทานเด็ดขาด
10.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเก่าที่อยู่ในตู้เย็นมาเป็นเวลานาน
11.ไม่ละลายอาหารสดแช่แข็งด้วยการแช่น้ำหรือตั้งทิ้งไว้ เพราะจะเป็นการเพิ่มปริมาณของเชื้อโรคจากอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ ควรนำมาละลายด้วยการอุ่นด้วยไมโครเวฟ
สรุป
การรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และถูกสุขอนามัยไม่ได้เป็นเพียงการป้องกันอาการอาหารเป็นพิษเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายเราสะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ฉะนั้นอย่าลืมทานอาหารกันอย่างละมัดระวัง หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ และดื่มน้ำที่สะอาดกันด้วยนะคะ