มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการท้องผูกเรื้อรังแฝงโรคร้ายโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว!

มะเร็งลำไส้ใหญ่

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         หลังการจากไปของพระเอกเรื่อง Blackpanther อย่างแชดวิก โบสแมน ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในวัยเพียง 43 ปี ทำให้ทั่วโลกหันมาตระหนักถึงความอันตรายของโรคนี้กันมากมาย เนื่องจากแชดวิกเป็นคนที่ดูมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งอายุก็ไม่ได้มาก หลายคนจึงกลัวว่าโรคเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับตัวเองก็ได้ บทความนี้จึงจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งปัญหาหลักมาจากอาการท้องผูกเรื้อรัง เพื่อที่เราจะได้สังเกตและเฝ้าระวังโรคร้ายนี้กันค่ะ

สารบัญ

สังเกตได้อย่างไร ว่าคุณเสี่ยงเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่?

         มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือ colorectal cancer (หรือบางคนอาจเรียก colon cancer) เป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงส่วนต่อของลำไส้ก็คือทวารหนัก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เปลี่ยนของเสียเหลวให้เป็นอุจจาระ และขับออกผ่านทางทวารหนัก โดยของเสียเหลว ได้มาจากการที่สารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะเป็นของเสียเหลว 

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ถูกพบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทุกชนิด และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของประเทศไทย 

         สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาวิจัยของแพทย์ พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนี้

  1. เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  2. มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปี จะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น
  3. ไม่ออกกำลังกาย หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน
  4. ผู้ที่มีปัญหาการอักเสบของลำไส้ใหญ่เรื้อรัง มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  5. ทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  6. ไม่ค่อยได้ถ่ายอุจจาระ
  7. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสารเสพติดเป็นประจำ
เครื่องตรวจระดับน้ำตาล ตรวจเบาหวาน

ข้อสังเกตอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่

  1. มีอาการท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  2. ถ่ายไม่สุด มีอาการปวดเบ่งบริเวณทวารหนักตลอดเวลา
  3. มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกทางทวารหนัก คล้ายกับอาการของโรคริดสีดวง
  4. รูปร่างของอุจจาระเปลี่ยนไป มีขนาดเล็กลีบลง
  5. มีอาการจุกเสียด แน่น หรือปวดท้องบ่อย ๆ
  6. ซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง แม้จะทานอาหารเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม
  7. อาจคลำเจอก้อน บริเวณท้องด้านขวาตอนล่าง
อ่านบทความ : ผู้สูงอายุท้องผูก ปัญหาที่คนในครอบครัวไม่ควรมองข้าม

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นแล้วหายไหม?

         ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีผลต่อการรักษา และโอกาสการหายขาด เพราะหากตรวจพบในระยะแรก ๆ ก้อนมะเร็งจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก และไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะรักษาโดยการตัดส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปเท่านั้น

colorectal cancer คือ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ยิ่งพบเร็วเท่าไหร่ โอกาสหายขาดจากโรคนี้จะยิ่งสูงขึ้น

         แต่หากมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะต้องมีการให้ยาเคมีบำบัด และฉายแสงร่วมกับการผ่าตัด โดยการลุกลาม จะเริ่มจากการลามออกมาสู่ผนังภายนอกลำไส้ ค่อย ๆ มายังต่อมน้ำเหลือง ไปยังบริเวณรอบ ๆ ลำไส้ใหญ่ และสุดท้ายจะลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะตับและปอด ความร้ายแรงของอาการ ขึ้นอยู่กับมะเร็งว่าลุกลามไปยังอวัยวะอื่นมากน้อยแค่ไหน ยิ่งลุกลามน้อย โอกาสหายก็จะยิ่งสูง          ซึ่งอาการของโรคมะเร็งลำไส้แต่ละระยะนั้น ไม่ได้มีอาการหรือลักษณะเด่นอะไรแน่ชัด ว่าแต่ละระยะแตกต่างกันอย่างไร ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับถ่ายติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหรือท้องผูกเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า อาการเหล่านี้ร้ายแรงแค่ไหน การเข้ารับการตรวจจากแพทย์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญนะคะ

         สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไร ก็สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เพื่อดูความเสี่ยงและอาการผิดปกติภายใน แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งวิธีการตรวจก็มีหลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุก 1 – 2 ปี การตรวจสารทึบรังสีตรวจลำไส้ใหญ่ การตรวจแบบส่องกล้องในลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี เป็นต้น

ทำอย่างไร ถึงจะไม่เสี่ยงเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่

         หลังจากรู้จักกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ไปแล้ว จะสังเกตได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ มาจากพฤติกรรมการดำรงชีวิต ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องเริ่มจากการลดปัจจัยเสี่ยงพวกนั้นลงก่อนนะคะ

ท้องผูก

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  2. เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ จะช่วยเพิ่มกากใย ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ลดอาการท้องผูก (พยายามขับถ่ายให้เป็นประจำทุกวัน)
  3. หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพราะนอกจากเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ยังเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิต
  4. งดสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. หากเป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้ที่มีครอบครัวเคยมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาแล้ว ควรคอยสังเกตอาการตนเอง และเข้าตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำนะคะ


สรุป

         มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ หรือหากแสดงอาการออกมา คนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป เพราะเห็นว่าไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่แท้จริงแล้ว โรคนี้น่ากลัวมากนะคะ เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แม้จะอายุยังไม่มาก ดังนั้น ควรดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ และเข้าตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีนะคะ

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup