ปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้าซ้ำ ๆ เพราะ “โรครองช้ำ” หรือเปล่า?!

ปวดส้นเท้า เจ็บส้นเท้า รองช้ำ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         อาการเจ็บปวดตามร่างกาย หลายครั้งที่มักเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะปัญหา ปวดส้นเท้า เจ็บส้นเท้า หรืออาจปวดลุกลามทั่วบริเวณฝ่าเท้า ทำให้ไม่สามารถเดิน วิ่ง หรือแม้กระทั่งลุกขึ้นยืนได้ จนเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิต จริง ๆ แล้วอาการปวดส้นเท้าเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “รองช้ำ” หรือโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ แล้วจะรักษารองช้ำให้หายขาดได้ไหม? มาหาคำตอบในบทความนี้กันค่ะ

สารบัญ

ปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้าแบบไหน? เข้าข่ายอาการ “รองช้ำ”

         อาการปวดส้นเท้าที่แต่ละคนเจอ อาจแตกต่างกันออกไป เช่น อาการปวดส้นเท้าด้านหลัง ด้านซ้าย หรือด้านขวา หรือบางคนอาจปวดส้นเท้ามากจนลามไปเอ็นร้อยหวาย หรือปวดอุ้งเท้า-ฝ่าเท้า ซึ่งแม้จะปวดส้นเท้าเหมือนกัน แต่อาจไม่ใช่อาการของรองช้ำเสมอไป มาสังเกตกันว่า อาการปวดส้นเท้าหรือฝ่าเท้าที่คุณเป็นอยู่ ใช้สัญญาณอาการรองช้ำหรือเปล่า

ปวดส้นเท้า ปวดฝ่าเท้า

สัญญาณเตือนอาการรองช้ำ

  • อาการสำคัญของผู้ที่เป็นรองช้ำ คือ จะมีอาการปวดส้นเท้ารุนแรงที่สุด เมื่อเริ่มลงน้ำหนักที่ส้นเท้าใน 2-3 ก้าวแรกหลังจากที่ตื่นนอน หรือหลังจากนั่ง-นอนพักเป็นเวลานานแล้วกลับมาเดิน
  • จะเจ็บหรือปวดส้นเท้า ในลักษณะปวดจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม หรือปวดแสบเหมือนโดนของร้อนสัมผัส ในบางรายอาจลามจนปวดไปทั่วทั้งฝ่าเท้า
  • อาการปวดส้นเท้าจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เคลื่อนไหว อย่างการเดิน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เท้าไปสักพัก
  • แต่เมื่อหยุดพักอาการปวดส้นเท้าเหล่านั้นก็จะกลับมาอีกครั้ง แต่หากใช้เท้าหนักอาจเกิดการปวดระหว่างวันได้
  • รู้สึกยกเท้าขึ้นจากพื้นได้ยาก
  • หากปล่อยให้อาการรองช้ำเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดอาการปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้าตลอดเวลาได้

อาการปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้าข้างต้น ไม่เพียงแต่เป็นอาการของโรครองช้ำเท่านั้น แต่อาจเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ดังนั้น หากมีอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง

โรคเกาต์ และเกาต์เทียม ความเจ็บปวดของวัยเก๋า เลี่ยงได้แค่กินให้ถูก

โรครองช้ำ เกิดจากอะไร? ทำไมถึงก่อให้เกิดอาการ ปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้า?

         โรครองช้ำ คือ โรคที่พังผืดใต้ฝ่าเท้าเกิดการอักเสบ หรือฉีกขาด จากการรองรับการกระแทกของฝ่าเท้า ในขณะที่ยืน เดิน หรือทำกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักบนฝ่าเท้ามาก ๆ ทำให้เกิดแรงตึงตัวของฝ่าเท้า โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า จนทำให้พังพืดบริเวณนั้นอักเสบ จนแสดงอาการเจ็บปวดส้นเท้าหรือฝ่าเท้าออกมา ทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้ว่า “โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fascia)

โรครองช้ำ อาการ

         สาเหตุของโรครองช้ำ เกิดจากการใช้เท้าหนักเกินไป โดยไม่ได้ยืดเหยียดเท้าก่อนทำกิจกรรม จนทำให้เอ็นร้อยหวาย หรือพังผืดฝ่าเท้าเกิดการตึงมาก หรืออาจเกิดมาจากเส้นเอ็นเสื่อมสภาพ รวมทั้งการสวมใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าพื้นแข็ง ผิดขนาด เป็นต้น

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรครองช้ำ

  • ผู้ที่ใช้งานเท้าหนัก เช่น ทำอาชีพที่ต้องยืน-เดินนาน ผู้หญิงที่ต้องใส่ส้นสูงตลอดทั้งวัน
  • นักกีฬาโดยเฉพาะนักวิ่ง เช่น การวิ่งในระยะไกล หักโหมมาก วิ่งบนพื้นผิวที่แข็ง วิ่งกระแทกส้น
  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากเส้นเอ็นเสื่อมสภาพตามวัย
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้น้ำหนักไปลงที่เท้าเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • สวมใส่รองเท้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น รองเท้าพื้นแข็ง รองเท้าผิดขนาด รองเท้าส้นสูงเกินไป
  • มีโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าสูง-โก่ง ส้นเท้าบิด
  • ผู้ที่มีความผิดปกติในการเดิน ส่งผลต่อการลงน้ำหนักเท้าที่ผิดปกติ เช่น ผู้ที่เอ็นร้อยหวายยึด ผู้ที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
  • เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำให้เส้นเอ็นในจุดที่เชื่อมกับกระดูก หรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง

รักษารองช้ำให้หายขาดได้ไหม?

         หลายคนที่ทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดส้นเท้าจากรองช้ำ แล้วอยากจะหาทางรักษารองช้ำให้หายขาด อย่างแรกที่ควรทำที่สุดเลย คือการไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาค่ะ โรครองช้ำไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงที่รักษายากหรือรักษาไม่หาย แต่หากไม่ไปพบแพทย์แล้วด่วนหาทางรักษาด้วยตนเอง หรือไปใช้วิธีโบราณรักษา ก็อาจทำให้อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้น หรืออาจแย่ลงก็ได้ค่ะ

รักษารองช้ำให้หายขาด

         การรักษาทางการแพทย์นั้น แตกต่างกันไปตามอาการของโรคของแต่ละบุคคล ซึ่งมีทั้งการกินยา ฉีดยา กายบำบัด ใส่เฝือก หรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เฉพาะทางรักษา ในบางรายที่อาการร้ายแรงมากจริง ๆ ถึงจะเข้าขั้นผ่าตัด ดังนั้น หากต้องการรักษาให้หายขาด จำเป็นอย่างมากที่จะต้องไปพบแพทย์ก่อนค่ะ แล้วใช้เทคนิคเหล่านี้ ดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย

ดูแลรักษาเท้าจากอาการรองช้ำ (ควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์)

  • หยุดทำกิจกรรมที่ต้องใช้เท้ามาก ๆ หากจำเป็นต้องยืนนาน ๆ พยายามยกเท้าขึ้นบ่อย ๆ
  • ทุก 2-3 ชั่วโมง ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่ปวด ประมาณ 20 นาที หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นแล้วค่อย ๆ ยืดเหยียดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย
  • ปรับการเดินให้ก้าวสั้นลง และลงน้ำหนักให้เต็มฝ่าเท้าอย่างนุ่มนวล
  • พยายามออกกำลังกายที่เป็นการยืดกล้ามเนื้อ และยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นประจำ แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เท้าเยอะเกินไป
  • ใช้อุปกรณ์ซัพพอร์ตและพยุงข้อเท้า-เท้า ควบคู่ไปกับการใช้ยานวด
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
  • ใส่รองเท้าที่เหมาะสำหรับคนเป็นโรครองช้ำ

ปวดส้นเท้า

การเลือกรองเท้าสำหรับผู้ที่เป็นโรครองช้ำ

1. เลือกขนาดรองเท้าให้เหมาะสมกับเท้า ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป

2. เลือกรองเท้าที่มีทรงลึก ส่วนหุ้มส้นเท้าต้องสูง เพื่อห่อหุ้มส้นเท้า ลดแรงกระแทก และป้องกันการล้มขณะเดินหรือวิ่ง

3. วัสดุบริเวณพื้นรองเท้า ควรเป็นวัสดุที่หนานุ่มและยืดหยุ่น โดยต้องมีคุณสมบัติลดแรงกด ซับแรงกระแทก และกระจายน้ำหนักบริเวณฝ่าเท้าได้ดี เช่น โฟม ฟองน้ำ หรือยางชนิดหนานุ่ม

4. ด้านในรองเท้าควรออกแบบให้ประคองรูปเท้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หรืออาจมีส่วนเสริมอุ้งเท้า ที่ช่วยลดอาการเท้าบิด และลดความตึงของพังผืดฝ่าเท้า

5. พื้นรองเท้าด้านนอก ควรมีความยืดหยุ่นมาก แต่ไม่ควรให้โค้งหรือพับได้ง่าย ขณะเลือกให้ลองจับส่วนหัวและท้ายของรองเท้า แล้วพับให้รองเท้าโค้งเป็นรูปตัว C รองเท้าที่เหมาะสมควรจะพับได้ยาก และส่วนที่โค้งพับได้มากที่สุด ควรจะเป็นส่วนหัวหรือหน้าเท้า

6. เลือกรองเท้าที่เป็นแบบผูกเชือก หรือมีแถบที่สามารถปรับขนาดรองเท้าได้

7. หากใครที่ต้องการใส่แผ่นเสริมอุ้งเท้าช่วย ควรนำแผ่นรองเดิมออกก่อน ถ้าเป็นไปได้ควรนำแผ่นรองรองเท้าที่จะใช้ ไปลองใส่ตอนเลือกซื้อรองเท้าด้วย

ไม่อยากทรมานกับอาการ ปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้า มาปรับพฤติกรรมกัน!!

         จะเห็นได้ว่า อาการปวดส้นเท้าจากรองช้ำ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่มาก ใครที่เป็นอยู่คงรู้ดีเลยล่ะค่ะว่า เวลาที่อาการปวดกำเริบนั้น ทรมานแค่ไหน ส่วนใครที่ไม่อยากจะเสี่ยงทรมานกับอาการปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้าจากโรครองช้ำ หรือบางคนที่เป็นอยู่แล้วแล้วอยากจะทรมานน้อยลง ก็สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตค่ะ

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

  • หมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น บริเวณเท้าและน่องเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนออกกำลังกาย
  • หากเป็นนักกีฬาหรือออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ต้องไม่หักโหมจนเกินไป หากจะเพิ่มระยะการวิ่งควรเพิ่มทีละน้อย โดยวิ่งบนพื้นนุ่ม ๆ ก่อน หากมีอาการปวดควรหยุดทันที
  • สำคัญคือเรื่องของการเลือกใช้รองเท้า ต้องเลือกให้เหมาะสม ไม่ใส่รองเท้าพื้นแข็งและต้องมีขนาดพอดี หากใช้สำหรับออกกำลังกาย ควรเป็นรองเท้ากีฬา
  • สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องสวมรองเท้าส้นสูง หากมีเวลาพักควรถอดรองเท้าออก เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  • ไม่ควรเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง ๆ
  • พยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
  • ใช้อุปกรณ์ซัพพอร์ตและพยุงเท้า
  • ผู้ที่มีเท้าผิดรูป ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดรองเท้าพิเศษที่เข้ากับรูปเท้าได้อย่างพอดี

สรุป

         แม้อาการปวดส้นเท้า-ฝ่าเท้าจากโรครองช้ำ จะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงมากนัก แต่ก็สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่ควรปล่อยให้โรคนี้อยู่ติดตัวไปตลอดนะคะ เพราะหากอาการต่าง ๆ ทวีความรุนแรง จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างการหกล้มหรือลื่นล้ม เนื่องจากทรงตัวไม่อยู่จากอาการเจ็บเท้า สิ่งเหล่านี้คืออันตรายตัวจริงเลยล่ะค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล

โรงพยาบาลกระดูกและข้อ

โรงพยาบาลรามคำแหง

โรงพยาบาลสมิติเวช

โรงพยาบาลนครธน

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup