ช่วงต้นปีแบบนี้ หลายคนอาจกำลังตั้งตารอมาตรการลดหย่อนภาษีจากรัฐบาล เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2566 และ Easy E-Receipt ที่ใช้ในปี 2567 และสำหรับปีนี้รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Easy E-Receipt 2.0” ช่วยลดหย่อนภาษีในปี 2568 ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท ทั้งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาอีกด้วย
Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 แตกต่างจากปีที่แล้วอย่างไร?
Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย สำหรับบุคคลที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ยกเว้นนิติบุคคล) เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีกำลังซื้อ สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีได้ โดยนำจำนวนเงินที่ซื้อสินค้าและบริการ มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริง
โดยสิทธิประโยชน์ที่กล่าวข้างต้น เหมือนกันทั้ง ช้อปดีมีคืน (2563-2566) , Easy E-Receipt (2567) และ Easy E-Receipt 2.0 (2568) แต่จะมีวงเงินลดหย่อนภาษี เงื่อนไขในการซื้อสินค้า และหลักฐานที่เอาไปใช้ลดหย่อนที่แตกต่างกันไปในแต่ละปีเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป ในปี 2568 จะแตกต่างจากเดิมในเรื่องของการแบ่งวงเงินลดหย่อน และเงื่อนไขการใช้ โดย Easy E-Receipt 2.0 ในปี 2568 จะได้วงเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาทเท่าเดิม แต่จะเพิ่มการแบ่งการใช้วงเงินออกเป็น 2 ส่วน คือ 30,000 บาท สำหรับใช้ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปตามที่กำหนด และวงเงินอีก 20,000 บาท สำหรับใช้จ่ายร้านวิสาหกิจชุมชน SMEs และร้านค้า OTOP ที่อยู่ในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
Easy E-Receipt (เก่า)
- สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท
- ซื้อสินค้าหรือบริการที่กำหนด จากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ (e-Tax Invoice) ให้ได้เท่านั้น
- หากร้านค้าไม่จดทะเบียนภาษี จะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารทุกรูปแบบ หรือเป็นสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้เท่านั้น
- ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีหรือใบรับรูปแบบกระดาษได้
Easy E-Receipt 2.0 (ใหม่)
- สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท
- 30,000 บาท : ซื้อสินค้าหรือบริการที่กำหนด จากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ (e-Tax Invoice) ให้ได้เท่านั้น
- 20,000 บาท : ซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และจากร้านวิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยจะร้านจะต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้เท่านั้น
- หากร้านค้าทั่วไปที่ไม่จดทะเบียนภาษี จะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารทุกรูปแบบ โดยร้านจะต้องออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้เท่านั้น
- ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีหรือใบรับรูปแบบกระดาษได้
Easy E-Receipt 2.0 ซื้ออะไรได้-ไม่ได้บ้าง?
แม้จะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การช้อปสินค้าเพื่อเอามาลดหย่อนภาษีนั้น ก็ไม่ได้อิสระร้อยเปอร์เซนต์ ยังต้องช้อปภายใต้เงื่อนไขที่ทางรัฐบาลชุดนั้น ๆ กำหนดขึ้น อย่างในปีนี้ก็ได้ประกาศเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2568 ในมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ไว้ดังนี้
สินค้าและบริการที่สามารถลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งสามารถออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) เท่านั้น
- สินค้าและบริการที่กำหนด ได้แก่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ทุกประเภท จากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งสามารถออกใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น
- สินค้าและบริการจากร้านวิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ซึ่งสามารถออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น
สินค้าและบริการที่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้
- สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าประปา
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าโทรศัพท์และค่าอินเทอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม และโฮมสเตย์
- ค่ารักษาพยาบาล ค่าศัลยกรรม ทองคำ บัตรกำนัล (Gift Voucher)
- ค่าสินค้าและบริการที่มีข้อตกลงนอกเหนือจากวันที่ 16 ม.ค. – 28 กุมภาพันธ์ 68
โดยมาตรการ Easy E-Receipt นี้ จะต้องรอลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2568 (ช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค.2569) โดยในขั้นตอนยื่นแบบแสดงรายการภาษี จะมีช่องที่ให้กรอกส่วนลดค่าลดหย่อนฯ ก็ให้กรอกตัวเลขมูลค่าสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือสินค้าที่มีภาษี 7% มาบวกรวมกัน
Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 ใช้หลักฐานอะไรบ้าง
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) โดยจะต้องระบุ
- ข้อมูลผู้ขาย
- ชื่อ-นามสกุลของผู้ซื้อ
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) ของผู้ซื้อ
- วันที่ รายการ และจำนวนเงินด้วย
- ใบเสร็จรับเงิน ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยจะต้องระบุ
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อ ยี่ห้อ แบรนด์ ของผู้ขาย
- เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จำนวนเงิน
ใครที่มีสิทธิ์เข้าร่วม Easy E-Receipt 2.0 ได้บ้าง?
มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ที่ถูกนำมาแทนช้อปดีมีคืน ก็มีเงื่อนไขที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน ผู้ที่จะสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ จะต้องเป็นบุคคลที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2568 ที่จะเก็บในช่วงต้นปี 2569 เท่านั้น โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษี ดังนี้
- เงินได้ต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษี) ไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้
- เงินได้ต่อปี 150,001 – 300,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 2,500 บาท
- เงินได้ต่อปี 300,001 – 500,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 5,000 บาท
- เงินได้ต่อปี 500,001 – 750,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
- เงินได้ต่อปี 750,001 – 1,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 10,000 บาท
- เงินได้ต่อปี 1,000,001 – 2,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 12,500 บาท
- เงินได้ต่อปี 2,000,001 – 5,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 15,000 บาท
- เงินได้ต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป ลดหย่อนภาษีสูงสุด 17,500 บาท
และที่เหมือนกับมาตรการช้อปดีมีคืน คือผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่มีค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่ช่วยให้ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จะไม่ได้สามารถใช้สิทธิ์ในมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ได้
สรุป Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568
แม้มาตรการช้อปดีมีคืน จะจบไปแล้ว แต่ทางรัฐบาลชุดใหม่ก็ได้ออก Easy E-Receipt 2.0 ออกมาเพื่อช่วยลดหย่อนภาษี และกระตุ้นให้ประชาชนออกไปใช้จ่ายเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นสิทธิของประชาชนที่มีสิทธิตรงตามมาตรการ ควรจะได้รับนะคะ ดังนั้น รีบเช็กสิทธิ์ แล้วออกไปใช้จ่ายกันเยอะ ๆ นะคะ แต่ถึงอย่างไร การใช้จ่ายเงิน ก็ควรดูถึงความคุ้มค่า และประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เพื่อที่จะได้จัดสรรปันส่วนเงินได้อย่างเป็นระบบ แล้วจะไม่เกิดปัญหาภายหลังได้นะคะ