ครรภ์เป็นพิษโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ภัยเงียบที่อาจพรากชีวิตลูกน้อยโดยไม่รู้ตัว

ครรภ์เป็นพิษ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         การตั้งครรภ์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพราะการตั้งครรภ์สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากมาย อาทิ ท้องนอกมดลูก ภาวะแท้งบุตร เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งภาวะโรคแทรกซ้อนเหล่านี้อาจจะรุนแรงถึงขั้นพรากชีวิตลูกน้อยในครรภ์ได้

โรคแทรกซ้อน

สารบัญเนื้อหา

 สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษ

           ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งมีสาเหตุการเกิดมาจากกลไกในการสร้างสารเคมี พรอสตาแกลนดิน คุณแม่ที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษจะสร้างพรอสตาแกนดินที่ทำให้เส้นเลือดบีบตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงผิดปกติ  และเส้นเลือดดังกล่าวยังปล่อยน้ำที่อยู่ในหลอดเลือดให้รั่วซึมออกนอกเส้นเลือดได้ง่ายอีกด้วย

เครื่องวัดความดัน

           และอีกหนึ่งสาเหตุคือความผิดปกติการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่ผู้เป็นแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ รกจะฝังตัวได้ไม่แน่นพอ ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด ทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงรกได้น้อยลง          ทำให้เกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละนิดๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย  ฉะนั้นจึงต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าหากมีอาการชักร่วมด้วย อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้         ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสครรภ์เป็นพิษ มีจากหลายปัจจัย เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี การตั้งครรภ์ครั้งแรก มีประวัติ ครรภ์เป็นพิษ หรือคนในครอบครัว และการมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์         ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ หรือครอบครัวที่กำลังวางแผนจะมีบุตร ควรตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด พูดคุย ปรึกษากับสูตินรีแพทย์ในเรื่องของการดูแลตัวเองและลูกน้อยในครรภ์เป็นพิเศษ เพื่อการมีสุขภาพที่ดีทั้งคุณแม่และคุณลูก อีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

เตือน! เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภัยร้ายที่คุณแม่ทุกคนควรระวัง เสี่ยงอันตรายทั้งแม่และลูก!!!

ครรภ์เป็นพิษ

อาการของครรภ์เป็นพิษ

              โดยส่วนใหญ่คุณแม่ที่มีภาวะของครรภ์เป็นพิษจะไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังเผชิญปัญหานั้นอยู่ เนื่องจากอาการของครรภ์เป็นพิษนั้นในระยะแรกจะไม่แสดงอาการรุนแรงอะไร จนทำให้คุณแม่หลายคนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองป่วย รู้ตัวอีกทีภาวะของครรภ์เป็นพิษก็อาจจะมีความรุนแรงขึ้น และอาจจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์อื่นๆตามมา             

         ฉะนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และสังเกตว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับตัวเองและลูกน้อยในครรภ์

  1. ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยตรวจพบระดับความดันนี้ 2 ครั้งในระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  2. ตรวจพบโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่บ่งชี้ว่าไตมีปัญหา
  3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แม้จะรับประทานยาแก้ปวดก็ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้
  4. มีปัญหาในเรื่องของการมองเห็น สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว สายตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสงผิดปกติ
  5. หายใจไม่สะดวกหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจลำบาก
  6. ปวดท้องหรือปวดบริเวณช่วงไหล่
  7. คลื่นไส้ อาเจียน
  8. เมื่อปัสสาวะแล้วมีปริมาณน้อยผิดปกติ
  9. การทำงานของตับบกพร่อง
  10. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการบวมน้ำร่วมด้วยเช่น มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า เท้า เป็นต้น

โรคแทรกซ้อนผลกระทบจากครรภ์เป็นพิษ

             เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการของครรภ์เป็นพิษแล้ว ปัญหาที่ต้องเผชิญต่อมาเลยก็คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยตรงกับคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์ หากมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก             

ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

         หนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น มาจากการที่หลอดเลือดตีบ และรั่วได้ง่าย จึงทำให้ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ประสิทธิภาพภาพในการขับถ่ายของเสียในร่างกายลดลง เมื่อขับปัสสาวะออกมาจึงมีปริมาณน้อยผิดปกติ             

         ส่งผลให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย หากไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการมีน้ำคั่งในถุงลมปอด ทำให้หายใจไม่สะดวก และมีน้ำคั่งใต้ผิวหนังทำให้คุณแม่เกิดอาการบวมน้ำบวมตามใบหน้า มือ เท้า ในรายที่อาการเข้าสู่ภาวะรุนแรงอาจมีอาการชัก มีเลือดออกในสมอง และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้           

ผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์  

         แน่นอนว่าถ้าเกิดผลกระทบต่อคุณแม่แล้ว ลูกน้อยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณมดลูกมีปริมาณน้อยลง ก็จะทำให้ทารกในครรภ์เติบโตช้าในบางรายที่มีอาการร้ายแรง ก็อาจจะทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้

โรคแทรกซ้อน

การรักษาครรภ์เป็นพิษ

           ในกรณีที่ตรวจเจอว่าคุณแม่มีภาวะของครรภ์เป็นพิษ แนวทางการรักษาจะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาอย่างละเอียด เพื่อป้องกันความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ซึ่งการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ           

การรักษาครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง

         ในระยะนี้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากที่คลอดแล้ว แต่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังอาการหลังคลอด และหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในระยะนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม บางรายอาจะมีการจ่ายยาลดความดันโลหิตร่วมด้วย           

การรักษาครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง

         ในระยะนี้ผู้ป่วยควรจะนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เผื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาลดความดันโลหิต ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาป้องกันอาการชัก หรือยาชนิดอื่น ๆ ตามปัจจัยเสี่ยงหรือความรุนแรงของแต่ละบุคคล รวมทั้งต้องตรวจร่างกายและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง

       การวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษ   

         การวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์จจะต้องตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงควบคู่กับอาการผิดปกติบางอย่างหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งวิธีการตรวจจะสามารถทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้           

การตรวจสุขภาพทั่วไป เป็นการสอบถามประวัติของคุณแม่ตั้งครรภ์และคนในครอบครัว แพทย์จะตรวจดูอาการผิดปกติในเบื้องต้น เช่น สายตามีปัญหาหรือไม่ มีอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า หรือแสดงอาการบางอย่างที่บ่งบอกว่าไตทำงานผิดปกติ โดยภาวะครรภ์เป็นพิษส่วนใหญ่มักจะตรวจพบในขณะไปพบแพทย์ตามตารางนัดฝากครรภ์

การตรวจวัดระดับความดันโลหิต การตรวจวัดความดันโลหิตจะทำให้ทราบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าข่ายภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่ โดยแพทย์อาจต้องตรวจวัดหลายครั้ง ซึ่งในการตรวจแต่ละครั้งจะมีระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง หากวัดระดับความดันโลหิตได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ก็อาจมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ         

การตรวจเลือด วิธีการนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงการทำงานของตับ ไต และปริมาณของเกล็ดเลือด         

การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ หากมีการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ แพทย์จะส่งตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง         

การตรวจสุขภาพของทารก ตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์โดยดูอัตราการเต้นของหัวใจเมื่อทารกมีการเคลื่อนไหวหรือดิ้น ซึ่งในบางรายอาจประเมินความสมบูรณ์ของทารกด้วยการอัลตราซาวด์ดูปริมาณน้ำคร่ำร่วมกับการหายใจ การขยับกล้ามเนื้อ หรือการเคลื่อนไหวของทารก

โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

      ในคุณแม่ตั้งครรภ์นอกจากภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว ยังมีโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

ภาวะรกลอกก่อนกำหนดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ครรภ์แฝด
ท้องนอกมดลูกตกเลือดหลังคลอดตกเลือดหลังคลอด
แท้งบุตรการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจครรภ์เกินกำหนด
ภาวะรกเกาะต่ำโรคโลหิตจางไทรอยด์เป็นพิษ
โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะคลื่นไส้อาเจียนมากผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์

สรุป  

              ภาวะครรภ์เป็นพิษถือเป็นโรคแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ฉะนั้นเพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตอย่างแข็งแรง คุณแม่ต้องหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงที่อาจขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะหากละเลย หรือไม่ให้ความสนใจ อาจทำให้ต้องสูญเสียบางชีวิตไปก็เป็นได้

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup