บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
วัณโรคปอด เป็นโรคร้ายแรงที่ควรต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ และอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยวัณโรคปอดกว่า 1 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ต้องคอยสังเกต อาการวัณโรคปอด เช่น อาการไอเรื้อรัง เสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคร้ายนี้ไว้ค่ะ
สารบัญ
- อาการวัณโรคปอด สังเกตได้อย่างไร?
- อาการวัณโรคปอด เกิดจากอะไร?
- วัณโรคปอดรักษาได้ไหม?
- ทำอย่างไรไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรคปอด?
อาการวัณโรคปอด สังเกตได้อย่างไร?
อาการวัณโรคปอด มักจะไม่แสดงให้เห็นในระยะแรก ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัว แต่จะค่อย ๆ เริ่มแสดงอาการช้า ๆ ซึ่งสังเกตได้ ดังนี้
- มีไข้ต่ำ มักจะเกิดในช่วงบ่ายหรือค่ำ
- เบื่ออาหาร กินไม่ได้เหมือนเคย
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ
- ไอเรื้อรัง ติดต่อการนานหลายสัปดาห์
- มีเสมหะ หรือมีเสมหะปนเลือด
- เหงื่อออกตอนกลางคืน และมากผิดปกติ
- มีอาการเจ็บหน้าอกและเหนื่อยหอบ
หากมีอาการดังกล่าว ติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการทันที
อาการวัณโรคปอด เกิดจากอะไร?
วัณโรคปอด หรือ Tuberculosis (TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ชนิด Tuberculosis ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศ ได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือมีการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรควัณโรคปอด ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งวัณโรคปอด มีการติดต่อและแพร่กระจายได้สูง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียนี้ ติดต่อผ่านทางลมหายใจ จึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดได้ง่ายที่สุด
หากผู้ป่วยวัณโรคปอด มีการไอหรือจาม เชื้อวัณโรคจะแฝงตัวอยู่ในละอองฝอยของเสมหะ ที่ออกมาสู่อากาศ ซึ่งสามารถอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง แต่เชื้อจะถูกทำลายหากเจอแสงแดด แต่หากเชื้อไม่ถูกทำลาย จะมีโอกาสที่คนที่ไม่ได้ป่วย จะสูดเอาเชื้อวัณโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งถ้าหากภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้รับเชื้อไม่แข็งแรง ก็จะไม่สามารถทำลายเชื้อเหล่านี้ได้ และจะกลายเป็นวัณโรคในที่สุด
ระยะของโรควัณโรคปอด
- ระยะแฝง หลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคมา เชื้อจะแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ภายใน 2 – 8 สัปดาห์ ซึ่งผู้รับเชื้อจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เชื้อวัณโรคนี้จะแฝงตัวอยู่ในร่างกายหลายปี หรืออาจตลอดชีวิต โดยที่ไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่ถ้าหากร่างกายของผู้รับเชื้ออ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อวัณโรคที่แฝงตัวอยู่นี้ จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และเข้าไปฝังตัวอยู่ในปอด จนกลายเป็นผู้ป่วยโรควัณโรคปอดในที่สุด
- ระยะแสดงอาการ เป็นระยะที่หลังจากเชื้อวัณโรคฝังตัวในปอดแล้ว จะเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา ในบางรายจะเริ่มป่วยภายใน 2 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้
ใครเสี่ยงเป็นบ้าง?
วัณโรคปอด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่วัยที่เสี่ยงมากที่สุด คือ วัยสูงอายุ เนื่องจากภูมิคุ้มกัน และร่างกายไม่แข็งแรง อีกกลุ่มเสี่ยงก็คือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยมะเร็งปอด จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างวัณโรคปอดสูง นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานในสถานแออัด หรือต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค รวมทั้งผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด ก็มีโอกาสเสี่ยงมากเช่นกัน
วัณโรคปอดรักษาได้ไหม?
วัณโรคปอด สามารถรักษาให้หายได้ค่ะ โดยเฉพาะผู้ที่ตรวจพบเชื้อวัณโรคเร็ว ยิ่งหากพบเชื้อในระยะแฝง หรือระยะที่ยังไม่แสดงอาการออกมา แพทย์จะสามารถยับยั้งเชื้อวัณโรคนี้ไม่ให้แพร่กระจายหรือฝังตัวในปอดจนเกิดโรคได้
แต่ถ้าหากพบว่าป่วยเป็นโรควัณโรคแล้ว ก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกันค่ะ แต่ผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และทานยาที่แพทย์จ่ายให้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะหากกินยาไม่ครบ ไม่ถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง หรือกินบ้างไม่กินบ้าง เชื้อวัณโรคจะเกิดการดื้อยา โอกาสที่รักษาหายก็จะยิ่งน้อยลงนะคะ
ผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา มักเสียชีวิตภายใน 2 ปี ดังนั้น หากสงสัยว่ามีอาการวัณโรคปอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การดูแลตนเองของผู้ป่วยวัณโรคปอด
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากร่างกายออกกำลังกายไหว ก็สามารถทำได้ตามความเหมาะสม อย่าหักโหมจนเกินไป
- ทานยาให้ครบ และถูกต้องตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- พยายามอยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น เพราะอาจแพร่กระจายเชื้อวัณโรคนี้ให้ผู้อื่นได้
- ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก
- พยายามดูแลไม่ให้ที่นอน และเสื้อผ้ามีฝุ่น เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการไอได้
- สวมหน้ากากอนามัย และปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจาม
ทำอย่างไรไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรคปอด?
วัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อที่เราอาจได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเชื้อสามารถอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง ดังนั้น เราต้องป้องกันโรคร้ายนี้ไว้ก่อนจะดีกว่านะคะ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งสามารถป้องกันได้ ดังนี้ค่ะ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน และร่างกายแข็งแรง
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะอาหารเป็นปัจจัยหลักหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดต่าง ๆ เพราะส่งผลเสียต่อปอดโดยตรง ทำให้ปอดอ่อนแอ และอาจเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอด พยายามไม่ไปในพื้นที่แออัด
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือตรวจเอกซเรย์ (x-ray) ปอดปีละครั้ง
- พยายามสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันเชื้อวัณโรคแล้ว ยังป้องกันเชื้ออื่น ๆ และฝุ่นควันที่มีผลต่อปอดได้อีกด้วย
สรุป
วัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อที่ควรเฝ้าระวังและป้องกันไว้ เพราะเชื้อลอยตัวอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง จึงมีโอกาสรับเชื้อได้เสมอ และหากรับเชื้อมาแล้ว เชื้อเหล่านี้จะอาศัยช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ แพร่กระจายและฝังตัวในปอด ดังนั้น ต้องคอยสังเกตอาการวัณโรคปอดอยู่เสมอ ถ้าหากสงสัยว่าได้รับเชื้อควรรีบไปพบแพทย์ทันที และที่สำคัญที่สุด คือการดูแลตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง วัณโรคปอดก็ไม่สามารถทำร้ายเราได้แน่นอนค่ะ
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700