การวัดความดัน เป็นหนึ่งในการตรวจร่างกายพื้นฐานเมื่อคุณเข้ารับการตรวจหรือการรักษาใด ๆ ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล เนื่องจากความดันนั้นสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ แต่บางคนมักเจอปัญหา “วัดความดันที่โรงพยาบาลสูงตลอด” แต่เมื่อวัดเองที่บ้าน ผลที่ออกมาดันปกติซะงั้น อาการแบบนี้เราเรียกว่า ภาวะ White Coat Hypertension มาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สารบัญ
- วัดความดันที่โรงพยาบาลสูงตลอด เกิดจากอะไร?
- ความดันสูงเวลาวัดที่โรงพยาบาล นับว่าเป็นโรคความดันสูงไหม?
- วิธีแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดัน ทำยังไงได้บ้าง?
ทวนความจำ “ความดัน” คืออะไร?
“ค่าความดันโลหิต” คือ การวัดค่าของการสูบฉีดเลือดของร่างกาย ซึ่งปกติแล้วความดันโลหิตจะมี 2 ค่า ด้วยกัน คือค่าตัวบน หรือค่าความดันโลหิตที่บ่งบอกถึงแรงดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวเต็มที่ และค่าตัวล่าง หรือความดันโลหิตที่บ่งบอกถึงแรงดันโลหิตเมื่อหัวใจคลายตัวเต็มที่ โดยค่าปกติไม่ควรเกิน 120/80 (ตัวบย/ตัวล่าง) ซึ่งค่าความดันโลหิตสูง สามารถบ่งชี้ไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับแรงดันหรือการสูบฉีดเลือด ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคไตวาย เป็นต้น
วัดความดันที่โรงพยาบาลสูงตลอด เกิดจากอะไร?
เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาเวลาที่ไปตรวจสุขภาพ หรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วต้องวัดความดัน พบว่าความดันโลหิตสูงจนไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ เช่น การฉีดวัคซีน ผ่าฟันคุด ฯลฯ แต่พอกลับมาที่บ้านไม่ว่าจะวัดยังไงความดันก็ปกติ แถมไปให้คุณหมอตรวจทั้งหัวใจ ทั้งไทรอยด์ ทุกอย่างก็ปกติ ทำไมวัดความดันที่โรงพยาบาลสูงตลอด เป็นเพราะอะไร?
ภาวะความดันสูงเวลาวัดที่โรงพยาบาล เราเรียกว่า White Coat Hypertension หรือ White Coat Syndrome เรียกง่าย ๆ เป็นภาษาไทยก็คือภาวะกลัวชุดขาวของบุคลากรทางการแพทย์ อย่างหมอหรือพยาบาล แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เกิดจากการกลัวคุณหมออย่างเดียวนะคะ แต่อาจเกิดจากการกลัวเครื่องวัดความดันทำให้เจ็บ กลัวเข็ม กดดัน-วิตกกังวล เหนื่อยจากการเดินทาง เป็นต้นค่ะ
ภาวะความดันสูงชั่วคราว เวลาวัดความที่โรงพยาบาล เป็นภาวะที่เจอได้ค่อนข้างบ่อยประมาณ 30-40% เลยค่ะ โดยความดันจะสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ยิ่งในบางคนที่พอรู้ว่าความดันสูง ก็ยังกังวล ทำให้วัดซ้ำก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะนั่งพักแล้วก็ยังสูง แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่มีภาวะ White Coat Hypertension ความดันจะสูงแค่ที่โรงพยาบาลหรือนอกสถานที่เท่านั้น เวลาอยู่บ้านทุกช่วงเวลาจะต้องมีความดันที่ปกติค่ะ
นอกจากนี้ยังมีภาวะ Masked hypertension คือผู้ที่วัดความดันสูงเฉพาะตอนอยู่ที่บ้าน แต่เวลามาตรวจที่โรงพยาบาลค่าความดันกลับปกติ แต่ภาวะนี้จะพบได้น้อยกว่าภาวะ White Coat Hypertension หรือพบประมาณ 15-30% ค่ะ มักพบในเพศชายที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือมีภาวะเครียดร่วมด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ White Coat Hypertension
- ความวิตกกังวล กดดัน เครียด ตื่นเต้น ฯลฯ เพราะเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและพบกับบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เกิดความกลัว ตื่นเต้น กังวล ทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตมากกว่าปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ยิ่งถ้ารู้ว่าสูงแล้วต้องวัดซ้ำเรื่อย ๆ บางคนอาจกลัวโดนตำหนิ กดดันหรือคาดหวังจดจ่อกับค่าความดันมากเกินไป ก็จะยิ่งสูงขึ้น
- การเดินทาง อาจเหนื่อยจากการนั่งรถประจำทาง ต้องเดินทางนาน ๆ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อเดินทางโดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไกลด้วยแล้ว ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตได้ ยิ่งเมื่อเจอบุคลากรทางการแพทย์ด้วยก็ยิ่งทำให้อาการดังกล่าวปรากฎได้ชัดเจนขึ้นไปอีก
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่เสียงดัง แดดจัด คนพลุกพล่านแออัด การต้องรอคิวนาน ๆ การพูดคุยเสียงดัง สิ่งเหล่านี้ทำให้การวัดความดันที่โรงพยาบาลจะสูงกว่าตอนอยู่บ้าน
วัดความดันที่โรงพยาบาลสูงตลอด นับว่าเป็นโรคความดันสูงไหม?
ภาวะ White Coat Hypertension ไม่นับเป็นอาการของโรคความดันโลหิตสูง แต่เป็นเพียงอาการหัวใจเต้นเร็วและการสูบฉีดเลือดจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น แต่สิ่งสำคัญคือเมื่ออยู่บ้านในเวลาปกติ ความดันจะต้องปกติเท่านั้น ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหน หากวัดที่บ้านก็สูงเช่นกัน นั่นแปลว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงค่ะ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
วิธีตรวจสอบว่าคุณมีภาวะ White Coat Hypertension หรือเปล่า ก่อนอื่นคุณต้องมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่มีมาตรฐานแม่นยำติดบ้านไว้ค่ะ โดยเบื้องต้นให้ทำการวัดความดัน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน โดยให้เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ก่อนกินอาหารเช้า และก่อนกินยาลดความดัน (กรณีหมอจ่ายยาลดความดันมาให้) และช่วงค่ำก่อนเข้านอน หลังจากทำธุระและเข้าห้องน้ำเสร็จแล้ว
โดยทั้งสองช่วงเวลา ให้ทำการวัดช่วงละอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 นาที และจดบันทึกค่าเอาไว้ ให้วัดความดันและจดบันทึกแบบนี้ประมาณ 4-7 วัน แล้วนำค่าความดันเหล่านี้ไปปรึกษากับทางแพทย์ เพื่อประกอบกาวินิจฉัยและหาทางออกต่อไปค่ะ แต่โดยปกติแล้วหากคุณเป็น White Coat Hypertension จริง ๆ แพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายยาลดความดันให้คุณกลับมากินที่บ้านค่ะ
ภาวะ White Coat Hypertension ไม่ใช่ภาวะที่อันตราย แต่น่ากังวลสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะความดันสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ ฯลฯ เพราะภาวะนี้สามารถพัฒนาไปเป็นความดันโลหิตสูงจริง ๆ ได้
วิธีแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดัน ทำยังไงได้บ้าง?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ White Coat Hypertension นั้น มาจากความตื่นเต้น หรือวิตกกังวลมากเกินไป โดยเบื้องต้นให้คุณลองพยายามลดอาการตื่นเต้นตอนวัดความดันลงก่อน ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมวิธีแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดัน มาแนะนำ ดังนี้ค่ะ
- หลังจากที่เดินทางหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ มา แต่ต้องมีการวัดความดันโลหิต ควรต้องนั่งพักให้หายเหนื่อยหอบ หรือหายใจให้อยู่ในระยะปกติก่อนทำการวัด
- พยายามทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด ถ้ากลัวก็ให้ลองพยายามคิดถึงเรื่องอื่นที่ทำให้สบายใจ ไม่กังวล ทำให้ไม่โฟกัสกับค่าความดันมากเกินไป
- งดดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หรืออาหารที่เค็มมากเกินไปในวันที่วัดความดัน พร้อมทั้งเข้าห้องน้ำขับถ่ายให้เสร็จเรียบร้อยก่อนทำการวัด จะเป็นอีกทางที่ช่วยให้วัดความดันที่โรงพยาบาลไม่สูง
- ลดการพูดคุยขณะวัดความดันโลหิต เพราะจะทำให้ความดันคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน แถมยังอาจทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นด้วย
- ขณะวัดความดันไม่ควรนั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิ ให้นั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้ สบาย ๆ โดยไม่ต้องเกร็ง
- วัดความดันโลหิตในที่ที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวน จะทำให้ได้ค่าความดันที่แม่นยำที่สุด
- ถ้าค่าความดันยังสูงพยายามอย่าวิตก ให้นั่งซักพักแล้วค่อยไปวัดซ้ำใหม่
สรุป
จากบทความข้างต้น คงสามารถไขข้อสงสัยของหลาย ๆ ท่านเกี่ยวกับการวัดความดันที่โรงพยาบาลสูงตลอด แต่วัดที่บ้านแล้วปกติได้ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ก็เกิดจากสภาวะของจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในทุก ๆ ครั้งก่อนที่คุณจะไปเข้ารับการตรวจหรือการรักษา ควรทำจิตใจไม่ให้เกิดความตื่นเต้นหรือวิตกกังวลจนเกินไป หากไม่แน่ใจว่าตกอยู่ในภาวะ White Coat Hypertension หรือเปล่า แนะนำให้มีเครื่องวัดความดันเพื่อตรวจค่าความดันที่บ้านจะดีที่สุดนะคะ