ความดันสูง เป็นภัยเงียบที่ซ่อนตัวเก่งมาก ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่ มักหลงคิดไปว่าร่างกายแข็งแรงดี แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งเกิดอาการปวดหัว ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง รู้ตัวอีกที ก็นอนเป็นอัมพฤกษ์ – อัมพาตอยู่บนเตียงแล้ว แต่รู้หรือไม่คะ ว่าความดันสูงที่ซ่อนตัวมิดชิดแค่ไหน ก็แพ้ความเก่งกาจของ เครื่องวัดความดัน เพราะถูกออกแบบมาเพื่อจับวายร้ายอย่างความดันสูงโดยเฉพาะ ดังนั้น ถ้าไม่อยากเป็นโรคร้ายล่ะก็ ควรวัดความดันของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไว้ก่อนนะคะ
คลิก อ่านบทความ : ความดันสูง – ความดันต่ำ ภัยเงียบตัวร้ายสำหรับผู้สูงอายุหลายท่านอาจสงสัยว่า ถ้าอยากซื้อเครื่องวัดความดันติดบ้านไว้สักเครื่อง ควรซื้อแบบไหนถึงจะดี? ซื้อมาแล้วกลัวใช้ไม่เป็น? ตัวเลขมากมายบนหน้าจอหมายถึงอะไร? บทความนี้ จะตอบทุกข้อสงสัยของทุกท่านเองค่ะ
สารบัญ
- เครื่องวัดความดันที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลเสียอย่างไร?
- 6 วิธีเลือกเครื่องวัดความดัน เลือกอย่างไรให้เหมาะสม
- วิธีการใช้และอ่านค่าเครื่องวัดความดัน
- กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคความดันสูง
เครื่องวัดความดัน ที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลเสียอย่างไร?
ความดันโลหิต เกิดจากการที่หัวใจบีบและคลายตัว จึงเกิดเป็นความดัน เพื่อส่งเลือดให้ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากความดันภายในหลอดเลือดนี้ต่ำหรือสูงผิดปกติ จะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ ซึ่งเครื่องวัดความดัน หรือ เครื่องวัดความดันโลหิต ถูกออกแบบมาเพื่อวัดค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง เพื่อที่จะได้สังเกตและเฝ้าระวังค่าความดันผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้
หากเครื่องวัดความดันที่เลือกใช้ไม่มีคุณภาพหรือมาตรฐาน จะทำให้ค่าความดันที่วัดได้นั้นไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไป ทำให้ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว ค่าความดันเป็นปกติหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีภาวะความดันสูง แต่วัดความดันออกมาว่ามีค่าความดันปกติ ทำให้เราชะล่าใจและไม่รู้ตัวว่ามีภาวะความดันสูงอยู่ เนื่องจากความดันสูงมักไม่แสดงอาการผิดปกติอะไรออกมา กว่าจะปรากฏอาการมาให้เห็น ก็อาจจะเป็นโรคแทรกซ้อนไปแล้ว
ดังนั้น หากเราใช้เครื่องวัดความดันที่มีคุณภาพ และมาตรฐาน จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ และแม่นยำมากกว่า เพราะได้รับการรับรอง และตรวจสอบแล้ว ซึ่งหากค่าความดันผิดปกติก็จะทราบได้ทันที และสามารถเฝ้าระวัง และป้องกันได้อย่างทันท่วงทีค่ะ นอกจากนี้ เครื่องวัดความดันที่ ไม่มีคุณภาพ และมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่มักจะเสียบ่อย และอายุการรับประกันตัวเครื่องนั้นน้อยกว่า 2 ปี หากเครื่องเสียขึ้นมา เตรียมบอกลาเครื่องวัดความดันของคุณได้เลยค่ะ
การมีเครื่องวัดความดันที่มีคุณภาพ ติดบ้านไว้ จึงสำคัญมากนะคะ เพราะจะช่วยให้เราสามารถตรวจเช็กค่าความดันได้ในทุก ๆ วัน หากมีความผิดปกติใดขึ้นมา ก็สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคร้ายที่จะตามมาได้นะคะ
6 วิธีเลือก เครื่องวัดความดัน เลือกอย่างไรให้เหมาะสม
หลายคนคงอยากจะมีเครื่องวัดความดันติดบ้านไว้สักเครื่อง แต่ยังลังเลอยู่ว่า จะซื้ออย่างไรถึงจะดี มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และคุ้มค่าคุ้มราคาที่เสียเงินซื้อไปใช่ไหมล่ะคะ บทความนี้ จึงมีวิธีเลือกซื้อเครื่องวัดความดันง่าย ๆ มาฝากค่ะ
- ควรเลือกเครื่องวัดความดันที่มีการรับรองมาตรฐาน เช่น CE (Conformite Europeene) UL (Underwriters Laboratories) มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)
- แนะนำให้ใช้เครื่องวัดความดันที่เป็นแบบดิจิตอล หรือแบบอัตโนมัติ เพราะใช้งานได้ง่าย และไม่ซับซ้อน ผู้สูงอายุก็สามารถใช้งานเองได้ โดยไม่ต้องให้คนช่วยเหลือ
- เครื่องวัดความดัน ชนิดที่มีผ้าพันรอบต้นเเขน จะมีความแม่นยำมากกว่าชนิดอื่น เนื่องจากอยู่ใกล้หัวใจที่สุด
- เลือกเครื่องวัดความดัน ชนิดที่มีจออ่านข้อมูลดิจิตอลที่แสดงผลได้ชัดเจน และควรแสดงค่าอัตราการเต้นของหัวใจด้วย
- ใช้เครื่องที่สามารถบันทึกค่าความดันได้ เพื่อย้อนดูผลการวัดย้อนหลัง
- ให้เลือกเครื่องวัดความดันที่มีบริการหลังการขายและมีการการรับประกันคุณภาพสินค้ามากกว่า 2 ปีขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากสินค้าเกิดความเสียหายใดขึ้นมา จะสามารถซ่อมแซมหรือเคลมสินค้าได้ (รายละเอียดเงื่อนไขการรับประกัน แตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์สินค้า)
วิธีการใช้และอ่านค่า เครื่องวัดความดัน
จริง ๆ แล้วเครื่องวัดความดันแบบอัตโนมัติ มีวิธีการใช้ที่ง่ายและไม่ซับซ้อนเลยค่ะ แต่ก่อนที่จะใช้เครื่องวัดความดัน ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการวัด เพื่อให้ค่าความดันที่ได้นั้นเป็นตัวเลขที่ถูกต้องที่สุด เพื่อที่จะได้วินิจฉัยว่าเป็นความความดันสูงหรือเปล่า ซึ่งวิธีการเตรียมตัวก่อนใช้เครื่องวัดความดัน มีดังนี้
- ไม่ดื่มชา คาเฟอีน แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกาย ก่อนทำการวัด 30 นาที เพราะจะทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนได้
- ควรปัสสาวะ หรือขับถ่าย ให้เรียบร้อยก่อนทำการวัด
- ให้นั่งอยู่ในที่ที่สงบ ไม่หนาว หรือร้อนจนเกินไป และนั่งผ่อนคลายอย่างน้อย 5 นาที
- ควรสวมเสื้อแขนสั้น หากสวมเสื้อกันหนาวอยู่ให้ถอดออกก่อน
- นั่งบนเก้าอี้ แล้วเอนหลังพิงผนักพิง วางเท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น ส่วนแขน ให้วางหงายแขนข้างซ้าย หรือข้างขวาไว้บนโต๊ะระดับเดียวกับหัวใจ ไม่กำมือ และพูดคุยระหว่างตรวจวัด
วิธีการใช้เครื่องวัดความดัน
- เมื่อเตรียมตัวจนพร้อมแล้ว ให้ใส่ปลอกแขนของเครื่องวัดความดัน โดยที่ไม่พันจนหลวม หรือแน่นเกินไป และปลายปอกแขนต้องอยู่เหนือข้อศอก 2 – 3 เซนติเมตร
- กดปุ่มที่เครื่องวัดความดัน จากนั้นปอกแขนจะค่อย ๆ พองขึ้นจนรู้สึกแน่น และจะคลายตัวออก
- ตัวเลขที่ขึ้นบนหน้าจอ คือค่าความดันของคุณ ให้จดบันทึกค่าไว้ ควรวัดหลาย ๆ ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ยเพื่อให้แม่นยำ
วิธีการอ่านค่าตัวเลขบนเครื่องวัดความดัน
เมื่อวัดความดันแล้ว บนหน้าจอของเครื่องจะแสดงผลเป็นตัวเลขตัวบนและตัวล่าง โดยที่ตัวเลขตัวบนเป็นค่าความดันของกระแสเลือดขณะหัวใจบีบตัว ซึ่งค่าปกติอยู่ที่ 120 – 129 มิลลิเมตร และตัวเลขตัวล่างเป็นค่าความดันของกระแสเลือดขณะหัวใจคลายตัว ซึ่งค่าปกติอยู่ที่ 80 – 84 มิลลิเมตรปรอท หากตัวเลขตัวบนสูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขตัวล่างสูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท จะเรียกว่ามีภาวะความดันสูง
กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคความดันสูง
อาหาร เป็นสิ่งจำเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่ผู้ป่วยโรคความดันสูง ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาหาร คือส่วนสำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องรับในทุก ๆ วัน เพื่อนำสารอาหารต่าง ๆ ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกกินอาหารที่เหมาะกับโรคด้วย ดังนี้
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อย 8 – 10 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้เลือดไหลเวียนสะดวก ไม่ติดขัด ความดันภายในหลอดเลือดก็จะลดลง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำหวาน เพราะอาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
- งดการสูบบุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด
- กินอาหารให้น้อยลงกว่าปกติ แต่แบ่งเป็นหลายมื้อ จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรนั่งพักหลังรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดความดันก่อนมื้ออาหาร
- ผู้ป่วยความดันสูง ให้หลีกเลี่ยงการกินเค็ม หรือกินอาหารที่มีโซเดียมมาก เพราะเป็นโซเดียมจะเพิ่มความดันของเลือดให้มากขึ้น นอกจากนี้อาหารหวานและมัน ก็มีส่วนทำให้ความดันสูงเช่นกัน
สรุป
ความดันสูง เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว หากเราระมัดระวังในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ แต่หากปล่อยปะละเลย โรคเหล่านี้ คือภัยร้ายที่เป็นตัวการนำไปสู่โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย แต่หากป่วยเป็นโรคความดันไปแล้ว เราก็ยังสามารถควบคุมให้ความดันกลับมาเป็นปกติได้ ด้วยการดูแลตนเองและเข้าพบแพทย์อยู่เป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เครื่องวัดความดัน ที่จะช่วยย้ำเตือนเราในทุก ๆ วัน ให้คำนึงถึงการดูแลตัวเอง ให้ค่าความดันคงที่อยู่เสมอ