บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
หลังจากที่คุณแต้ว-ณฐพร ดาราชื่อดังต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาลด่วน เนื่องจากป่วยเป็น โรคอหิวาตกโรค ทำเอาหลายคนตกใจเมื่อได้ยินชื่อโรค บ้างก็ไม่คิดว่าโรคร้ายในอดีตนั้นจะวนกลับมา บ้างก็อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อน วันนี้ Allwell จะชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคร้ายนี้ มาเช็กกันว่า อหิวาตกโรค อาการ เป็นอย่างไร? แล้วเราจะป้องกันโรคร้ายนี้อย่างไรได้บ้างค่ะ
สารบัญ
- เช็กด่วน! อหิวาตกโรค อาการเป็นอย่างไร?
- โรคอหิวาตกโรค เกิดมาจากอะไร?
- การรักษาโรคอหิวาตกโรค
- อหิวาตกโรคน่ากลัว แต่ป้องกันได้!
เช็กด่วน! อหิวาตกโรค อาการเป็นอย่างไร?
โรคอหิวาตกโรค เป็นโรคที่ดังมากในอดีต ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยนั้นน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคงต้องระวัง เพราะมีผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรคอยู่ตลอด ซึ่งจริง ๆ แล้วโรคนี้ถ้ารักษาได้อย่างทันท่วงที จะสามารถหายได้ภายใน 1-5 วัน แต่หากปล่อยไว้ให้อาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นจะต้องรู้ว่า อหิวาตกโรค อาการ เป็นอย่างไร เพื่อให้เราหมั่นสังเกตอาการไว้ ก่อนที่จะร้ายแรงนั่นเองค่ะ
อาการอหิวาตกโรค
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมากและบ่อย มีลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว อาจมีกลิ่นเหม็นคาว ผู้ป่วยอาจอุจจาระไหลออกมาโดยไม่รู้ตัวได้
- คลื่นไส้อาเจียนอยู่หลายชั่วโมง แต่มักไม่มีไข้ และไม่มีอาการปวดท้อง
- รู้สึกกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย
- หากอาการรุนแรง มักจะมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะเลือดเป็นกรด ริมฝีปากแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น เป็นต้น
อหิวาตกโรคมักจะหายได้ภายใน 1-5 วัน แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงแล้วไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะเข้าขั้นช็อก ชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
โรคอหิวาตกโรค เกิดมาจากอะไร?
อหิวาตกโรค หรือที่นิยมเรียกกันในสมัยก่อนว่าโรคห่า เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในอดีตเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดตำนานแร้งวัดสระเกศที่กัดกินศพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและหดหู่มากในอดีต แต่ปัจจุบันที่การแพทย์นั้นมีความเจริญก้าวหน้า ก็ได้มียารักษาจนโรคนี้ค่อย ๆ หายไปจากความสนใจของคนในยุคใหม่ แต่แท้จริงแล้ว โรคนี้ยังไม่ได้หายไปไหน จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องทำความรู้จักโรคนี้เอาไว้ เพื่อป้องกันนั่นเองค่ะ
โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ในทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน โดยเชื้อจะไปอยู่ที่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมา โดยพิษนั้นจะทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก กระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำ ทำให้เกิดอาการหลัก คือ ถ่ายเหลวอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและแร่ธาตุกะทันหัน
เชื้ออหิวาตกโรคมักจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งในระยะนี้จะนำมาสู่การแพร่กระจายเชื้อ โดยมักมาจากการที่แมลงวันมาตอมอุจจาระ แล้วนำเชื้อไปติดอาหารหรือน้ำดื่มต่าง ๆ นอกจากนี้ เชื้ออหิวาตกโรคจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในภาวะที่เป็นกรดได้ ดังนั้น ผู้ที่มีกรดในกระเพาะต่ำมักจะติดเชื้อตัวนี้ได้ง่าย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่กินยาลดกรด
สาเหตุของโรคอหิวาตกโรค
- มักมากับอาหารที่กินเข้าไป
- อาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้ออหิวาตกโรค โดยมักเป็นอาหารที่มีแมลงวันมาตอม
- อาหารทะเลที่สุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอย
- กินผักผลไม้ที่ไม่ได้ปอกเปลือก
- สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภค
- ติดต่อจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วยที่มีเชื่ออหิวาตกโรค
การรักษาโรคอหิวาตกโรค
โรคอหิวาตกโรค หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มักจะหายได้ภายใน 1-5 วัน แต่หากพบอาการผิดปกติแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการจะพัฒนาไประดับรุนแรง ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตสูงถึง 50% ดังนั้น หากพบอาการของอหิวาตกโรค ผู้ดูแลควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยทันที ในขณะที่รอมาพบแพทย์
การรักษาโรคอหิวาตกโรคเบื้องต้น สิ่งหลัก ๆ คือต้องระวังผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำจนช็อก แนะนำให้ผู้ดูแลให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและเกลือแร่มาก ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระและอาเจียน ในระหว่างรอแพทย์เป็นไปได้ควรงดอาหารกับผู้ป่วยชั่วคราว โดยเฉพาะอาหารที่มีรสจัด เผ็ดร้อน หรือของหมักดอง เมื่อถึงมือแพทย์แล้ว แพทย์จะให้น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาต่อไป
สิ่งสำคัญหลังจากพบว่าผู้ป่วยติดเชื้ออหิวาตกโรค ผู้ดูแลจะต้องป้องกันไม่ตนเองหรือคนอื่น ๆ ในบ้านติดเชื้อไปด้วย โดยอย่างแรกควรรายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นทราบทันที จากนั้นให้นำสิ่งของที่ผู้ป่วยใช้ โดยเฉพาะภาชนะ และสุขภัณฑ์ต่าง ๆ มาทำลายเชื้อโรค โดยใช้นํ้ายาฆ่าเชื้อ เช่น ครีชอล ไอซาล หรือต้มในนํ้าร้อนเดือด พร้อมทั้งทำความสะอาดพื้น และบริเวณต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยสัมผัสให้สะอาด
อหิวาตกโรคน่ากลัว แต่ป้องกันได้!
นอกจากเราจะต้องรู้วิธีการสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาลโรคอหิวาตกโรคเบื้องต้นแล้ว สิ่งสำคัญคือการที่เราจะต้องไปเสี่ยงให้โรคนี้เกิดขึ้นกับเรา หรือคนรอบตัวจะดีที่สุดค่ะ ดังนั้น เราต้องป้องกันโดยการดูแลสภาพแวดล้อม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงโรคร้ายนี้กันค่ะ
การป้องกันโรคอหิวาตกโรค
- ทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด โดยหลีกเลี่ยงอาหารดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอย
- ล้างมือและถูสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ดูแลสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เช่น ทำลายขยะ ไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำ หรือฝังลงพื้นดินใกล้แหล่งน้ำ
- ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อเล่นหรืออาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค
- สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
สรุป
อหิวาตกโรค หรือโรคห่าในอดีต เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายในอดีต แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ป่วยน้อยลงก็จริง แต่โรคร้ายนี้ยังไม่หายไปไหน ยังคงมีรายงานการระบาดอยู่ตลอด ซึ่งแม้การดูแลตัวเองให้ดีเป็นวิธการป้องกันที่ดีที่สุด แต่โรคนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคุณก็ได้ ดังนั้น นอกจากจะดูแลตัวเองให้ดีแล้ว ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเองอยู่เสมอด้วยนะคะ