โรคเบาจืด คืออะไร? เมื่ออาการหิวน้ำบ่อย-ปัสสาวะมาก ไม่ใช่เรื่องปกติ!?

โรคเบาจืด คือ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         โรคเบาหวาน คงเป็นโรคที่หลายคนได้ยินกันอย่างคุ้นเคย แต่รู้หรือไม่คะว่า นอกจากโรคเบาหวานแล้ว ยังมีโรคเบาจืด ซึ่งเป็นโรคร้ายรักษาไม่หาย ไม่แพ้โรคเบาหวานเลยล่ะค่ะ แม้จะเป็นโรคที่พบไม่ได้บ่อยนัก แต่ถ้าเสี่ยงเป็นแล้วรักษาไม่หายต้องกินยาไปตลอดชีวิต บทความนี้ จึงจะพาทุกท่านไปรู้จักกับโรคเบาจืด เพื่อที่จะได้สังเกตตัวเราหรือคนในครอบครัว หากพบสัญญาณของโรคร้ายค่ะ

สารบัญ

โรคเบาจืด คืออะไร? แตกต่างจากโรคเบาหวานอย่างไร?

         โรคเบาจืด คือ โรคที่เกิดจากการที่ร่างกายเสียสมดุลน้ำ จากการขาดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้หลอดไตดูดน้ำกลับเข้าสู่เส้นเลือด ทำให้ร่างกายปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ โดยคนปกติจะปัสสาวะวันละ 1-2 ลิตร แต่ในผู้ป่วยโรคเบาจืดจะปัสสาวะมากกว่าวันละ 2 ลิตร ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจปัสสาวะได้มากถึงวันละ 20 ลิตร และก่อให้เกิดอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรง

โรคเบาจืด คือ

         ในขณะที่โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เนื่องจากการขาดหรือดื้ออินซูลิน สิ่งที่โรคเบาหวานคล้ายโรคเบาจืด คือเรื่องของลักษณะอาการเด่นที่พบ คือ ปัสสาวะบ่อย-มากผิดปกติ และกระหายน้ำ แต่ในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีน้ำตาลถูกขับออกมาด้วย ในขณะที่โรคเบาจืดจะขับแค่เพียงน้ำออกมาเท่านั้น

โรคเบาจืด แบ่งตามสาเหตุได้ 4 ชนิด

1.โรคเบาจืดจากความเสียหายของสมอง บริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือบริเวณต่อมใต้สมอง ทำให้ไม่สามารถผลิต สะสม และหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ตามปกติ จึงทำให้ของเหลวจำนวนมากถูกกำจัดออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งการที่สมองเกิดความเสียหายนั้น เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ

  • อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • ผลพวงจากการผ่าตัดสมอง
  • การสูญเสียเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงต่อมใต้สมอง
  • เนื้องอกบริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง
  • การติดเชื้อที่สมอง
  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • โรคบางชนิดที่ส่งผลให้สมองบวม
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม

โรคเบาจืด สาเหตุ

2.โรคเบาจืดจากความผิดปกติของไต หลังจากที่ต่อมใต้สมอง หลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกออกมาสู่กระแสเลือดและท่อไต ไตจะเกิดการดูดน้ำกลับเข้าเลือด ทำให้ปริมาตรของเลือดเพิ่มขึ้น และขับถ่ายปัสสาวะได้น้อยลง แต่หากไตเกิดความผิดปกติหรือเสียหาย จนไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ จะทำให้ปัสสาวะออกมามากผิดปกติ โดยสาเหตุที่ส่งผลให้ไตผิดปกติ อาทิ

  • โรคไตเรื้อรัง
  • ทางเดินปัสสาวะอุดตัน
  • ระดับแคลเซียมในร่างกายสูง หรือโพแทสเซียมในร่างกายต่ำจนเกินไป
  • การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของไต เช่น ยารักษาอาการทางจิต(ลิเทียม) ยาต้านไวรัสบางชนิด

3.โรคเบาจืดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ อาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพจิต หรือการใช้ยาบางชนิด

4.โรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ เกิดจากเอ็นไซม์บางตัวที่สร้างขึ้นจากรก เข้าไปทำให้ไตตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกลดลง ทำให้กลายเป็นโรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ได้

เตือน! เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภัยร้ายที่คุณแม่ทุกคนควรระวัง เสี่ยงอันตรายทั้งแม่และลูก!!!

สัญญาณอาการ โรคเบาจืด ต้องหมั่นสังเกต!

         โรคเบาจืด สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้พบได้บ่อย ๆ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติตนเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ โดยอาการเบาจืด จะมีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ ดังนี้

อาการเบาจืด

อาการของโรคเบาจืด

  • ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ โดยปัสสาวะมักจะมีสีอ่อน หรือใสเหมือนน้ำเปล่าได้
  • หิวน้ำมากผิดปกติ ดื่มน้ำเท่าไหร่ก็รู้สึกว่าไม่พอ จนแทบจะต้องดื่มน้ำตลอดเวลา
  • ปากแห้ง คอแห้ง รู้สึกอ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย จนอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวง่าย
  • ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
  • อาจปัสสาวะรดที่นอน เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ขณะนอนหลับ
เครื่องวัดความดัน

อาการโรคเบาจืดในเด็ก

  • ปัสสาวะมาก กระหายน้ำ เช่นเดียวกับอาการเบาจืดในผู้ใหญ่
  • ปวดท้องน้อยหรือเอว เนื่องจากปัสสาวะคั่ง
  • ร้องไห้ผิดปกติ หงุดหงิดง่าย
  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • อยากอาหารน้อยลง น้ำหนักลดผิดปกติ
  • โตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
  • ปัสสาวะรดที่นอน

โรคเบาจืด อาการ

         อาการของโรคเบาจืด อาจจะดูไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้อาการต่าง ๆ รุนแรงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้

ผู้สูงอายุ “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่” แก้ได้! ด้วย 5 เทคนิคแก้ปัญหาช้ำรั่ว ไม่ให้ช้ำใจ

โรคเบาจืด รักษาได้ไหม?

         โรคเบาจืด จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถทำให้ทุเลาลงได้ ด้วยการรักษาสาเหตุของโรคและรักษาตามอาการต่าง ๆ ที่พบ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณปัสสาวะที่ผู้ป่วยในแต่ละวันให้อยู่ในระดับที่ปกติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ

เบาจืด

การรักษาโรคเบาจืดตามสาเหตุ

  • เกิดความเสียหายบริเวณสมอง จะต้องทำการรักษาความเสียหายนั้นให้ปกติก่อน ในรายที่ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกไม่เพียงพอ แพทย์อาจให้ทานยาทดแทนฮอร์โมนที่ขาดไป แต่ถ้าหากอาการไม่รุนแรงมากนัก แพทย์อาจพิจารณาให้ไม่ต้องรักษา แต่เพิ่มปริมาณการดื่มน้ำให้มากขึ้นแทน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ไตทำงานผิดปกติ ก็จะต้องทำการรักษาความผิดปกตินั้นก่อนเช่นเดียวกัน แต่หากความผิดปกตินั้นเกิดจากการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณาให้หยุดยา (ห้ามหยุดยาเอง) ถ้าอาการเบาจืดไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
  • กลไกควบคุมการกระหายน้ำผิดปกติ และโรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่ลดปริมาณของเหลวที่บริโภคเข้าไป และอาจสั่งใช้ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกสังเคราะห์ เพื่อช่วยให้ปริมาณปัสสาวะลดลงด้วย ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีอาการทางจิตร่วมด้วย การรักษาอาการทางจิตก็สามารถช่วยให้โรคเบาจืดทุเลาลงได้เช่นกัน และหากการใช้ยาไม่สามารถช่วยได้ก็อาจต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เพื่อปริมาณลดปัสสาวะลง

ผู้ป่วยโรคเบาจืด ควรดูแลตนเองอย่างไร?

         นอกจากการเข้ารับการรักษาจากแพทย์แล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้

โรคเบาจืดรักษา

วิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาจืด

  • ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องของการกินยาให้ถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ รวมทั้งการไปพบแพทย์ทุกครั้งตามนัด
  • หมั่นสังเกตอาการข้างเคียงจากการกินยา เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน หากพบอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้ยิ่งขาดน้ำมากขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
  • รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เกลือแร่ที่เพียงพอ

สรุป

         แม้โรคเบาจืด จะไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อย แต่เราก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาจืดได้ 100% ซึ่งหากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น เราควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง และไม่กินยาโดยไม่จำเป็น หากพบอาการน่าสงสัยที่จะเป็นโรคเบาจืด ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยทันที

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup