ผู้สูงอายุ “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่” แก้ได้! ด้วย 5 เทคนิคแก้ปัญหาช้ำรั่ว ไม่ให้ช้ำใจ

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ช้ำรั่ว

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         การ “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่” หรือที่บางคนเรียกว่าช้ำรั่ว เป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องพบเจอ เช่น ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะรดที่นอน ปัสสาวะรั่วเมื่อไอจาม สร้างความเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจให้ผู้สูงอายุ บทความนี้มี 5 เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้ปัญหาที่น่าช้ำใจเหล่านี้หมดไป ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกันก่อนว่า การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นี้เกิดจากอะไรค่ะ

สารบัญ

อาการ “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่” ของผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร?

         การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือ อาการที่ปัสสาวะเล็ดหรือราดออกมา โดยไม่มีอาการปวดปัสสาวะ หรือปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง แบบไม่สามารถควบคุมหรือกลั้นได้ ในภาษาชาวบ้านจะนิยมเรียกอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นี้ว่า โรคช้ำรั่ว ซึ่งผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จะขับถ่ายปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้ง และมีปริมาณปัสสาวะน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวัน

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงผู้สูงอายุเท่านั้น จากการสำรวจพบว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แต่มักพบในผู้สูงอายุมากที่สุด

         อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือโรคช้ำรั่ว เป็นปัญหาที่สร้างบาดแผลทางใจ ทำให้ผู้สูงอายุอับอาย สูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้านอนหลับ เป็นโรคซึมเศร้า และยังก่อให้เกิดปัญหาทางกายอย่างการเป็นผดผื่น เกิดแผลกดทับจากความอับชื้น อาการคัน ปัสสาวะกัดผิว เป็นต้น โดยอาการกลั้นปัสสาวะเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ปัสสาวะเล็ด เมื่อไอจาม หัวเราะ ยกของหนัก หรือขณะเปลี่ยนท่าทาง ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุที่มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยาน หูรูดและท่อปัสสาวะเสื่อมไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้ปัสสาวะเล็ดได้
  • ปัสสาวะราด รู้ว่าปวดปัสสาวะแต่กลั้นไม่ได้ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดมาจากสมองหรือไขสันหลังส่วนที่ทำหน้าที่กดความรู้สึกของกระเพาะปัสสาวะเสียหาย จึงทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ มักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และยังพบในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่กระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อย เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ อัลไซเมอร์ เป็นต้น
  • ปัสสาวะเล็ดร่วมกับปัสสาวะราด มักเกิดในผู้ที่มีอาการปัสสาวะเล็ดอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้รับการรักษา จึงทำให้นำไปสู่อาการปัสสาวะราดได้

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด

  • ปัสสาวะรดที่นอน เกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดคลายตัวมากในขณะหลับ ซึ่งมาจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง
  • ปัสสาวะไหลซึมตลอดเวลาหรือไหลแบบไม่รู้ตัว อาจเกิดจากท่อปัสสาวะมีรูรั่ว กระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบตัวได้ หรือเกิดในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางสมอง

5 เทคนิคแก้ปัญหา กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แบบไม่ต้องผ่าตัด!

         ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นเรื่องที่นิ่งนอนใจไม่ได้เลยล่ะค่ะ เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีรักษาของแพทย์ คือการให้ผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต บทความนี้มี 5 เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยลดปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ให้น้อยลง สำหรับผู้สูงอายุท่านไหนที่ไม่มีปัญหานี้ ก็สามารถใช้เทคนิคนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ค่ะ

ผู้สูงอายุฉี่รดที่นอน

  1. ลดความดันในช่องท้อง เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รักษาอาการท้องผูก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  2. ฝึกควบคุมการขับถ่าย โดยกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นก่อนปัสสาวะและในขณะปัสสาวะควรปัสสาวะให้หมด โดยห้ามเบ่งแรง
  3. ปรับวิธีการดื่มน้ำ โดยให้ดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว หรือดื่มตามน้ำหนักตัว (น้ำหนัก 1 กิโลกรัม/น้ำ 30 มิลลิลิตร) แต่ไม่ควรดื่มน้ำมากกว่านี้จนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  5. หมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดในทุก ๆ วัน

มาบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดให้แข็งแรง ป้องกันปัญหาปัสสาวะเล็ดกันเถอะ

         ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุหลักที่พบบ่อยคือเรื่องของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดไม่แข็งแรง หรือเสื่อมสภาพไปตามวัย ดังนั้น หากผู้สูงอายุหมั่นฝึกบริการกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดให้แข็งแรงได้ จะช่วยลดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ดีเลยค่ะ

ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

  1. นอนราบกับพื้น ยกเข่าทั้งสองตั้งขึ้น แยกขาออกจากกันเล็กน้อยให้ปลายเท้าขนานกับไหล่
  2. ออกแรงเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ก้น และท้องน้อย ค้างไว้เป็นเวลา 5 วินาที
  3. เมื่อครบ 5 วินาที ค่อย ๆ คลายกล้ามเนื้อแล้วกลับมาอยู่ในท่าตั้งต้น (ตามข้อที่ 1)
  4. ทำตามข้อที่ 2 และ 3 ซ้ำ ให้ครบ 1 นาที (นับเป็น 1 รอบ) ทำซ้ำเป็นจำนวน 10 รอบ หรือ 10 นาที

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ ไลฟ์รี่)

บริหารกล้ามเนื้อหูรูด

         ฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูด ครั้งละประมาณ 5 วินาที และหยุดขมิบ 10 วินาที ทำซ้ำให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยแบ่งทำในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น เป็นประจำทุกวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น

ผู้สูงอายุควรฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดทุกวัน เพราะสามารถช่วยป้องกันและลดอาการปัสสาวะไม่อยู่หรือเล็ดราดได้ แต่หากมีอาการที่รุนแรงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ

อ่านบทความ : 10 ท่าบริหารผู้ป่วยติดเตียงง่าย ๆ ทำตามได้ที่บ้านเลย!

สรุป

         แม้ว่าการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือโรคช้ำรั่ว จะไม่ใช่โรคหรือภาวะที่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ทั้งกายและใจให้ผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีความสุข ลองเอาเทคนิคดี ๆ ที่บทความนี้เอามาฝาก ไปปรับใช้หรือลองทำควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์นะคะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup