7 อาการน่าสงสัยของ “แมว-หมาเป็นเบาหวาน” รักษาไม่หาย! อันตรายที่เจ้าของต้องระวัง!

หมาเป็นเบาหวาน แมวเป็นเบาหวาน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         แม้การที่น้องแมว-น้องหมาตัวอ้วนกลมจะดูน่ารักก็จริง แต่ในเรื่องของสุขภาพแล้ว การที่น้ำหนักเกินไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยค่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงอาจเสี่ยงต่อการเป็น “โรคเบาหวาน” ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ บทความนี้ จึงอยากจะชวนคนรักสัตว์เลี้ยง มาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานในสัตว์ พร้อมทั้งชวนมาสังเกต 7 อาการของน้องแมว-หมาเป็นเบาหวาน กันค่ะ

สารบัญ

ชวนสังเกต! 7 อาการน่าสงสัยของน้องแมว-หมาเป็นเบาหวาน

         เจ้าของหลายคนมักอดใจไม่ไหวเวลาที่น้องสัตว์เลี้ยงมาอ้อนขออาหาร โดยเฉพาะอาหารของคน ในความเป็นจริงเราไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงกินเลยค่ะ เพราะนอกจากจะทำให้น้องหมาน้องแมวเป็นโรคไตแล้ว ก็ยังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานด้วยค่ะ นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงที่กินเก่งกินบ่อยจนน้ำหนักเกินกลายเป็นโรคอ้วน ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเช่นกันค่ะ มาลองสังเกตกันว่า สัตว์เลี้ยงของคุณมีอาการของเบาหวานหรือเปล่า?!

แมวเป็นเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง

  • ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ (มากกว่า 6-7 ครั้ง/วัน)
  • กินน้ำบ่อยขึ้น ดูกระหายน้ำ (ต่อวันกินน้ำมากกว่า 100 ซีซี/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)
  • หิวมากกว่าปกติ (แต่บางตัวก็ความอยากอาหารลดลง-เบื่ออาหาร) พบว่ามีอาการอาเจียน
  • กินเยอะแต่น้ำหนักตัวลดลง ดูผอมลงเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ
  • ดูเหนื่อย อ่อนเพลีย ซึมลง ไม่เล่นเหมือนปกติ
  • อาจเป็นต้อกระจก (พบมากในสุนัข) สังเกตได้จากตาของสัตว์เลี้ยงจะมีลักษณะขาว-ขุ่นมัว ในเลนส์ตามีเส้นใยคล้ายรูปดาว อาจทำให้เกิดตาบอดเฉียบพลันได้
  • สังเกตเห็นการเดินที่ผิดปกติ (พบมากในแมว)

         หากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการร้ายแรงถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม หากสัตว์เลี้ยงมีอาการอาเจียนและท้องเสียมาก ร่วมกับมีอาการซึม ถือว่าเป็นภาวะร้ายแรง ควรรีบพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด

ค่าระดับน้ำตาลสัตว์เลี้ยง

การตรวจหาเบาหวานของสัตว์เลี้ยง

         สัตวแพทย์จะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์เลี้ยง โดยมักจะนัดให้อดอาหารและน้ำของสัตว์เลี้ยง อย่างน้อย 8 ชั่วโมง (หากบางตัวหิวน้ำมาก อาจพิจารณาให้พอดื่มน้ำเปล่าได้) โดยจะเจาะเลือดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลที่ใช้กับสัตว์หรือคน แล้วเทียบตามค่ามาตรฐานระดับน้ำตาลของสัตว์เลี้ยง คือ สุนัข 59-121 mg/dL และแมว 57-125 mg/dL ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้

เครื่องตรวจระดับน้ำตาล ตรวจเบาหวาน

ทำไมแมว-หมาเป็นหวาน ได้?! คล้ายกับโรคเบาหวานของคนหรือเปล่า

         หลายคนสงสัยว่าโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง เหมือนกับโรคเบาหวานของคนหริอเปล่า? ต้องบอกเลยว่า กลไกการเกิดโรคนั้นคล้ายกันเลยค่ะ โดยหมาเป็นเบาหวาน จะคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ของคน ส่วนแมวที่เป็นเบาหวาน จะคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ของคนค่ะ แถมอาการของแมว-หมาที่เป็นเบาหวานดังที่กล่าวข้างต้น หลายข้อก็คล้ายกับอาการของคนอีกด้วย

หมาเป็นเบาหวาน

         ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยงนั้น มาจากการที่ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถสร้างฮอร์โมน อินซูลิน (Insulin) ที่มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เลย หรือสร้างได้น้อยมาก จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ได้ จึงลอยค้างอยู่ในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือโรคเบาหวานนั่นเอง ซึ่งถ้าปล่อยให้น้ำตาลอยู่ในเลือดไปนาน ๆ จะกระทบต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้

         น้ำตาลที่ลอยค้างในกระแสเลือดจะถูกขับออกมาผ่านปัสสาวะ จึงทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการปัสสาวะบ่อย เมื่อปัสสาวะบ่อยมาก ๆ ก็จะเกิดการหิวกระหายน้ำมากกว่าปกติ เพราะที่ปัสสาวะออกมานั้นมีทั้งน้ำตาลและน้ำ อีกทั้งการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ จึงทำให้สัตว์เลี้ยงขาดสารอาหารและพลังงาน จึงทำให้เกิดอาการหิวมากกว่าปกติ แต่น้ำหนักตัวกลับลดลง เนื่องจากมีการเสียสมดุลของพลังงานในร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานในหมาและแมว

  • น้ำหนักมากเกินไป หรือเป็นโรคอ้วน
  • มักเกิดกับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 8 ปี (แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ)
  • พบในสัตว์เพศเมียมากกว่าเพศผู้ถึง 2 เท่า
  • บางสายพันธุ์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานสูง เช่น ซามอยด์ พุดเดิ้ล Burmeses ฯลฯ
  • ฮอร์โมนผิดปกติเนื่องจากการความเครียด การตั้งครรภ์ หรือการทำหมัน
  • โภชนาการไม่ดี ทั้งขาดสารอาหาร กินอาหารผิด ๆ และปริมาณในการให้อาหาร
  • ใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ ฯลฯ
  • เป็นร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มะเร็งของตับอ่อน โรคคุชชิง

แมว-หมาเป็นเบาหวาน รักษาได้ไหม? เจ้าของต้องทำอะไรบ้าง?

         หากพูดถึงโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะในคนหรือสัตว์เลี้ยง ต้องบอกเลยว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ค่ะ แต่สามารถทำการรักษาควบคู่ไปกับการดูแล เพื่อประคับประคองให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น และป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะตามมาได้ โดยเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเบาหวานแน่นอนแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำให้เริ่มทำการรักษาเลย

หมาเป็นเบาหวาน

         ในขั้นตอนการรักษา หากแพทย์พิจารณาว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน ในครั้งแรก ๆ สัตวแพทย์จะเป็นผู้ฉีดอินซูลินให้ก่อน เพื่อปรับระดับยาและทดสอบผลหลังฉีดอินซูลิน ว่าอินซูลินระดับไหนที่เหมาะสมและปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงตัวนั้น ๆ หลังจากนั้นสัตวแพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อให้เจ้าของกลับมาฉีดอินซูลินให้สัตว์เลี้ยงด้วยตัวเองที่บ้านเป็นประจำ

         สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อสัตว์เลี้ยงที่เป็นเบาหวาน (ทุกชนิด) เจ้าของจำเป็นจะต้องเฝ้าติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์เลี้ยงเองที่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน (เบาหวานเป็นพิษ) และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

โดยใช้เครื่องเจาะน้ำตาลหรือเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับสัตว์เลี้ยงหรือสำหรับคนก็ใช้ได้เหมือนกัน

หมาเป็นเบาหวาน

         วิธีการเจาะเลือดสัตว์เลี้ยงเพื่อตรวจเช็กค่าระดับน้ำตาล เจ้าของจะต้องเจาะตัวอย่างเลือดของสัตว์เลี้ยงบริเวณใบหูหรืออุ้งเท้า แล้วนำมาเทสบนแผ่นทดสอบ ขั้นตอนในการตรวจสามารถปฏิบัติได้เหมือนกับการตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดของคนเลยค่ะ โดยเจ้าของจะต้องเช็กค่าให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่สัตวแพทย์แนะนำ (ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับสัตว์ที่ฉีดและไม่ฉีดอินซูลินจะแตกต่างกัน)

วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์เลี้ยง

เจาะเลือดที่บริเวณใบหู

เจาะเลือดที่บริเวณอุ้งเท้า

สิ่งสำคัญในการรักษาเบาหวาน คือการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง

         แน่นอนว่า เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นเบาหวาน การได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมจากสัตวแพทย์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการดูแลสุขภาพและชีวิตประจำวันของสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสม เพราะนอกจากจะทำให้โรคเบาหวานทุเลาลงแล้ว ยังทำให้น้องหมาน้องแมวสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างยาวนานขึ้นอีกด้วยค่ะ

อาการแมวเป็นเบาหวาน

  • ดูแลเรื่องอาหารการกิน : เจ้าของจำเป็นจะต้องควบคุมเรื่องอาหารของสัตว์เลี้ยง ให้อาหารเป็นเวลาและในปริมาณที่กำหนด โดยสัตวแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดชนิดของอาหารที่เหมาะสมให้ส่วนใหญ่ในสุนัขแนะนำให้เน้นอาหารที่มีกากใยสูง ส่วนในแมวให้เน้นอาหารโปรตีนสูง – คาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งไม่ควรให้อาหารอื่น ๆ ที่สัตวแพทย์ไม่ได้แนะนำ
  • คอยให้น้ำสัตว์เลี้ยงเสมอ : โดยตั้งน้ำสะอาดไว้ตลอดทั้งวัน เพราะสัตว์เลี้ยงที่เป็นเบาหวานจะมีอาการหิวน้ำบ่อย ซึ่งหากไม่ได้กินน้ำเพียงพอ อาจทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายได้
  • ฉีดอินซูลินอย่างถูกต้อง : ในสัตว์เลี้ยงที่จำเป็นจะต้องฉีดอินซูลินเพื่อรักษา เจ้าของจะต้องทำการฉีดอินซูลินในปริมาณและเวลาที่สัตวแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • พาออกกำลังกาย : เพราะการออกกำลังกายนอกจากจะทำให้สัตว์เลี้ยงสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังทำให้อินซูลินในร่างกายสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนัก รวมถึงทำให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น แต่ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงออกกำลังกายอย่างหนัก หลังจากฉีดอินซูลิน เพราะอาจเป็นอันตรายได้
  • ตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ : โดยเฉพาะรายที่สัตวแพทย์แนะนำมาให้ต้องมีการตรวจเช็กตลอด เพื่อคอยควบคุมและติดตามผลระดับน้ำตาลของสัตว์เลี้ยงไม่ให้สูงจนเป็นอันตราย พร้อมทั้งคอยสังเกตอาการผิดปกติของสัตว์เลี้ยง
  • หมั่นตรวจสุขภาพทุกๆ ครึ่งปี : เพื่อตรวจเช็กความสมบูรณ์ของร่างกายวิธีข้างต้นเป็นวิธีพื้นฐานเบื้องต้นที่ใช้ดูแลสัตว์ที่เป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน วิธีการดูแลอาจมีความแตกต่างกันในสัตว์ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสัตวแพทย์ผู้รักษา
แมวหายใจแรง หมาหอบ เป็นเรื่องปกติจริงเหรอ? ภัยเงียบของเพื่อนสี่ขา ที่เจ้าของควรรู้!

สรุป

         โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง เป็นโรคร้ายที่เจ้าของควรระวัง เพราะเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังสร้างอันตรายถึงชีวิตกับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย แต่ถึงแม้สัตว์เลี้ยงจะกลายเป็นโรคเบาหวานไปแล้ว ก็ไม่ต้องหมดกำลังใจนะคะ เพราะเจ้าของสามารถดูแลให้น้องสุขภาพดี แข็งแรง และมีอายุยืนยาวได้ ด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพและปฏิบัติตามคำสั่งสัตวแพทย์ผู้รักษาน้องอย่างเคร่งครัดนะคะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup