บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ในช่วงหน้าร้อน ไม่ได้นำพาแค่เพียงอากาศร้อนมาเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ฮีทสโตรก รวมไปถึงโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ ที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษา จึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก อีกทั้งหลายคนยังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคนี้อยู่ จึงอาจรับมือได้ไม่ถูกวิธี บทความนี้จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับโรคพิษสุนัขบ้าให้มากยิ่งขึ้นกันค่ะ
สารบัญ
- โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เป็นแค่ในสุนัข! ถึงไม่โดนกัดก็ติดเชื้อได้!
- วิธีสังเกตอาการสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- โรคพิษสุนัขบ้าในคน อาการเป็นอย่างไร? ทำไมถึงรักษาไม่หาย
- ถ้าโดนสัตว์เลีย ข่วน หรือ กัด ต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า?
โรคพิษสุนัขบ้า ไม่ได้เป็นแค่ในสุนัข! ถึงไม่โดนกัดก็ติดเชื้อได้!
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) คือ โรคติดเชื้อในระบบประสาท ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ ได้เข้าสู่ร่างกายของสัตว์ จากนั้นได้ฝังตัวอยู่ที่ระบบประสาท บริเวณสมองและเยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้สัตว์คลุ้มคลั่ง หรือมีอาการผิดไปจากเดิมในลักษณะแปลก ๆ หรือที่ภาษาชาวบ้านจะเรียกอาการเหล่านี้ว่าบ้า หรือว้อ (ภาษาอีสานนิยมเรียกโรคหมาว้อ)
เชื้อไวรัสนี้ จะปะปนอยู่ในน้ำลายของสัตว์ สามารถติดต่อสู่คนได้หากเชื้อไวรัสเข้าสู่บาดแผล หรือเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณตา จมูก ปาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกกัดเท่านั้น แม้ถูกสัตว์เลียบาดแผล หรือข่วน ก็สามารถทำให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน
ด้วยชื่อโรคพิษสุนัขบ้า หลายคนจึงมักเข้าใจผิดว่า โรคนี้พบแค่ในสุนัขหรือหมาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว กระต่าย หนู ลิง กระรอก วัว ม้า ฯลฯ ดังนั้น คนที่เลี้ยงหรือใกล้ชิดสัตว์เหล่านี้ จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูง
ทำไมโรคพิษสุนัขบ้าถึงระบาดหนักในหน้าร้อน?
จริง ๆ แล้วโรคพิษสุนัขบ้า สามารถพบได้ในทุกฤดูกาล แต่ในช่วงหน้าร้อนหรือช่วงที่มีอากาศร้อนมาก ๆ จะส่งผลให้สัตว์เกิดอากาศหงุดหงิดง่าย คนที่ใกล้ชิดสัตว์เหล่านั้น จึงเสี่ยงถูกกัดหรือข่วนได้แม้ไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้ เมื่อสัตว์หงุดหงิดก็อาจทำให้สัตว์กัดกันเอง จนทำให้สัตว์ที่ไม่ได้ติดเชื้อติดเชื้อได้ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมหน้าร้อนถึงพบผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากกว่าฤดูกาลอื่น
วิธีสังเกตอาการสัตว์ที่เป็น โรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสเรบีส์ หรือพิษสุนัขบ้า โดยส่วนใหญ่จะมีอาการที่ผิดแปลกไปจากนิสัยปกติ (แต่สัตว์บางตัวแม้ติดเชื้อก็อาจไม่แสดงอาการ) ซึ่งเราต้องหมั่นสังเกตก่อนเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ระมัดระวังการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยสัตว์บางตัวอาจจะดุร้าย หรือบางตัวอาจจะเซื่องซึมก็ได้ โดยอาการที่มักพบมีดังนี้
- แบบดุร้าย สัตว์จะมีอาการคลุ้มคลั่ง หงุดหงิด ตื่นตกใจง่าย ไวต่อแสง-เสียง ไล่กัดคนและสัตว์ตัวอื่น มีอาการแปลก ๆ อย่างกระโดดงับลมหรือแมลง กินของแปลก ๆ เช่น เศษไม้ หิน ดิน ทราย หลังจากนั้นจะมีอาการอ่อนเพลีย ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และเสียชีวิตในที่สุด
- แบบเซื่องซึม สัตว์จะมีอาการซึม สั่น เหมือนไม่สบาย กินอาหารได้น้อยลง ซุกซ่อนอยู่ในที่มืดและเงียบ จะกัดคนก็ต่อเมื่อถูกรบกวน เอาเท้าตะกรุยคอคล้ายกระดูกติดคอ เสียงเห่าหอนผิดปกติ และยังมีอาการหางตก ลิ้นห้อย ปากหุบไม่ได้จนน้ำลายไหลย้อย ระยะสุดท้ายจะตัวแข็ง เป็นอัมพาต ชัก และเสียชีวิตในที่สุด
หากพบสัตว์มีอาการข้างต้น หรือสงสัยว่าสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ให้ออกห่างระมัดระวังการถูกเลีย ข่วน หรือกัด แล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ หากเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์จรให้แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อป้องกันสัตว์ไปแพร่เชื้อให้คนหรือสัตว์ตัวอื่น หรือสามารถแจ้งได้ผ่านเว็บไซต์ระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า
พบสัตว์น่าสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าโรคพิษสุนัขบ้า ในคน อาการเป็นอย่างไร? ทำไมถึงรักษาไม่หาย
โรคพิษสุนัขบ้า นอกจากจะทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนไปแล้ว หากคนได้รับเชื้อก็จะมีอาการผิดแปลกไปเช่นเดียวกัน โดยอาการผิดปกติจะแสดงออกมาหลังได้รับเชื้อตั้งแต่ 3-4 วัน หรือนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณเชื้อที่ได้รับ ความรุนแรงของสายพันธุ์ ความแข็งแรง เป็นต้น โดยอาการจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะเริ่มต้น อาการจะคล้ายกับโรคไข้หวัด อย่างอาการมีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หนาวสั่น อ่อนเพลีย แต่จะมีอาการสำคัญคือ อาการเจ็บหรือคันมาก บริเวณบาดแผลที่ถูกกัดหรือเลีย แม้แผลบริเวณนั้นจะหายไปนานแล้ว
- ระยะกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการทางสมอง เริ่มจากกระสับกระส่าย วุ่นวายอยู่ไม่นิ่ง ขี้หงุดหงิด ดวงตาเบิกโพลง หายใจเร็ว คลุ่มคลั่งเมื่อเจอเสียงดังหรือถูกสัมผัสเนื้อตัว สะดุ้งผวาเมื่อถูกลม เกิดอาการกลัวน้ำ แม้กระทั่งกินน้ำหรือกลืนน้ำลายก็ไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุที่คนมักเรียกโรคนี้ว่า โรคกลัวน้ำ ระยะหลังจะมีอาการชัก กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งกระตุก และเป็นอัมพาต
- ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะเริ่มแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ระบบหายใจล้มเหลว เข้าสู่อาการโคม่า หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าสู่ระยะฟักตัวแล้ว (มีอาการข้างต้น) ให้หายเป็นปกติได้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามักเสียชีวิตเกือบ 100% ถึงรอดชีวิตก็ต้องอยู่ในอาการโคม่าและได้รับความเสียหายทางระบบประสาทอย่างรุนแรง ที่อยากจะฟื้นฟู โดยองค์การอนามัยโลก ได้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าว่า มีมากกว่า 60,000 รายทั่วโลกต่อปี
ถ้าโดนสัตว์เลีย ข่วน หรือ กัด ต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เป็น โรคพิษสุนัขบ้า?
ถึงแม้โรคพิษสุนัขบ้า จะยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน แต่เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ แม้จะเผลอถูกสัตว์เลียแผล ข่วน หรือกัด ก็ยังมีวิธีที่สามารถรับมือได้ทัน เพราะหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อไวรัสจะใช้เวลาหลายวันกว่าจะฟักตัวหรือเดินทางเข้าไปฝังตัวที่ระบบประสาท บางรายใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ดังนั้นจึงมีเวลาเพียงพอที่จะให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ทัน โดยปฏิบัติดังนี้
- หากถูกสัตว์เลียบาดแผล ข่วน หรือกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่บริเวณนั้นเบา ๆ ให้ถึงก้นแผล แล้วล้างน้ำสะอาด ทำซ้ำเช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง ราว 15 นาที วิธีนี้จะทำให้เชื้อไวรัสหลุดออกจากแผลไปตามน้ำได้บ้าง จากนั้นเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง
- จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน โพวิโดนไอโอดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือถ้าไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์ 70% ได้
- หลังจากนั้นให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อที่จะได้ประเมินการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกัน (PEP) ซึ่งหากไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน จะต้องฉีดวัคซีน PEP จำนวน 5 เข็ม ให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ แต่ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไป
- หากเป็นสัตว์เลี้ยง ให้แยกสัตว์ตัวที่น่าสงสัยนั้นออกมากักไว้ แล้วสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจกับสัตวแพทย์ เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าคุณได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้ามาอย่างแน่นอนหรือไม่
สรุป
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตผู้คนและสัตว์ไปนับไม่ถ้วน น่ากลัวไม่แพ้โรคร้ายอื่น ๆ เลยล่ะค่ะ ดังนั้น พยายามอย่าแหย่หรือทำให้สัตว์โกรธ และหากถูกสัตว์เลีย ข่วน หรือกัด ห้ามปล่อยปะละเลย ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ก็จะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ค่ะ