บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
เคยไหมคะ เวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือต้องยืนตากแดดเป็นระยะเวลานาน จะรู้สึกว่าตัวร้อน ๆ กระหายน้ำ เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย หรือบางคนถึงกับเป็นลมไปเลยใช่ไหมล่ะคะ อาการเหล่านี้ เป็นอาการเริ่มต้นของโรค “ฮีทสโตรก” หรือที่เรามักรู้จักกันในชื่อ “โรคลมแดด” จากสถิติในทุก ๆ ปีจะมีผู้ป่วยจากโรคลมแดด เฉลี่ยปีละประมาณ 3,500 รายเลยล่ะค่ะ! ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เสียชีวิตได้ บทความนี้ จึงอยากจะพาทุกท่านไปรู้จักกับภัยร้ายหน้าร้อนนี้ พร้อมทั้งมีวิธีป้องกันมาฝากกันค่ะ
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมสถิติไว้ว่า ในช่วงฤดูร้อน เคยมีผู้เสียชีวิตสูงสุด (ปี 2559) กว่า 60 ราย ซึ่งในปีนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ย 38.1 องศาเซลเซียส และสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส
สารบัญ
- ฮีทสโตรก เกิดจากอะไร? ใครบ้างที่ต้องระวัง?
- อาการฮีทสโตรก สังเกตได้อย่างไรบ้าง?
- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้เป็นฮีทสโตรก
- 7 วิธีดูแลตัวเองในหน้าร้อน ไม่ให้เป็นฮีทสโตรก
ฮีทสโตรก เกิดจากอะไร? ใครบ้างที่ต้องระวัง?
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) คือ ภาวะที่อุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกิน 40 – 41 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิร่างกายปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 36 – 37 องศาเซลเซียส) และไม่สามารถระบายความร้อนให้กลับมาปกติได้ ส่งผลต่อระบบอวัยวะภายในอย่างระบบประสาท หัวใจ และไต จนทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดอาการอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้
- โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (non-exertional heatstroke: NEHS) เกิดจากอุณหภูมิภายในอากาศสูงหรือร้อนจัด ทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ โดยอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้น เช่น ภาวะขาดน้ำ การสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังอาจเกิดจากยารักษาโรคบางชนิดได้
- โรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (exertional heatstroke: EHS) เกิดจากการออกแรงใช้กำลังที่หักโหมเกินไป เช่น นักกีฬาหรือทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนัก ในอากาศร้อนจัด
ใครบ้างที่มีความเสี่ยง?
- นักกีฬาหรือทหาร ที่ต้องทำการฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องฝึกซ้อมกลางแจ้ง และไม่ได้เตรียมพร้อมร่างกายมาก่อน
- ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาว เดินทางไปยังประเทศที่มีอากาศร้อน อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันได้
- ผู้ที่ต้องกินยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เกิดฮีทสโตรก เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย หรือผู้ที่ใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน
- เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายที่ไม่แข็งแรงเท่าวัยอื่น ๆ จึงปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ช้า และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้
- ผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคความดันโลหิต หรือผู้ที่เคยเป็นโรคลมแดดมาก่อน
อาการ ฮีทสโตรก สังเกตได้อย่างไรบ้าง?
ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นโรคหนึ่งที่อันตรายมาก ซึ่งหากไม่ได้รับการบำบัดหรือรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายได้ ซึ่งวิธีสังเกตอาการของโรคฮีทสโตรก มีดังนี้ค่ะ
- ตัวร้อนจัด มีไข้สูง กว่า 40 – 41 องศาเซลเซียส
- รู้สึกปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- กระหายน้ำมาก
- ในระยะเริ่มต้น มักมีเหงื่อออกมาก แต่หากผ่านไปสักพัก จะมีภาวะไร้เหงื่อ แม้อยู่ในสถานที่ร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก
- มีอาการโซเซ เป็นตะคริว เริ่มมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไป เช่น ก้าวร้าว ลุกลี้ลุกลน พูดช้า เพ้อ สับสน เห็นภาพหลอน
- รู้สึกเหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง
- ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ
- เป็นลม หรือหมดสติ
หากมีอาการข้างต้น แล้วไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดเบื้องต้น จะทำให้อาการต่าง ๆ รุนแรงขึ้น การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว เกิดอาการชักเกร็ง จนนำไปสู่อาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้เป็น ฮีทสโตรก
อย่างที่ได้ทราบไปแล้วว่าฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นโรคที่ไม่สามารถชะล่าใจได้นะคะ เมื่อเป็นแล้วจะต้องรีบรักษาทันที ไม่เช่นนั้นอาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่บางครั้งการนำตัวคนป่วยส่งแพทย์อาจจะไม่ทันเวลา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฐมพยาบาล เพื่อบำบัดอาการฉุกเฉินเบื้องต้นก่อนนะคะ
- ให้นำตัวผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จับผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด หากสวมเสื้อผ้าหนา ให้ถอดเสื้อผ้าบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น เสื้อกันหนาว ถุงเท้า เครื่องประดับ เพื่อให้ร่างกายระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น
- พยายามทำให้ร่างกายผู้ป่วยเย็น โดยใช้น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตามร่างกาย โดยเช็ดทวนรูขุมขน เน้นบริเวณหลังคอ ข้อพับ และขาหนีบ ห้ามใช้ผ้าเปียกคลุมตัวผู้ป่วย เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำภายในร่างกาย หากเป็นไปได้ให้เปิดพัดลม หรือแอร์ร่วมด้วย
- หากผู้ป่วยยังมีสติดี ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ยิ่งถึงมือหมอเร็วเท่าไหร่ โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งสูง
อ่านบทความ : แมวหายใจแรง หมาหอบ เป็นเรื่องปกติจริงเหรอ? ภัยเงียบของเพื่อนสี่ขา ที่เจ้าของควรรู้!นอกจากคนแล้ว สัตว์ก็สามารถเป็นฮีทสโตรกได้ เกิดจากอากาศร้อนหรือการทำกิจกรรมที่เหนื่อยเกินไป ทำให้สัตว์หายใจหอบออกมาอย่างผิดปกติ ซึ่งอันตรายถึงชีวิตเช่นเดียวกับคน
7 วิธีดูแลตัวเองในหน้าร้อน ไม่ให้เป็น ฮีทสโตรก
ประเทศไทยกับอากาศร้อน จะเรียกว่าเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ค่ะ โดยเฉพาะหน้าร้อนของทุก ๆ ปี จะมีอากาศที่ร้อนมากเป็นพิเศษ ซึ่งเคยร้อนสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียส! ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดดสูงเลยล่ะค่ะ แต่จะไม่ให้ออกจากบ้านเลยก็เป็นไปได้ บทความนี้จึงมี 7 วิธีป้องกันฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดมาฝากกันค่ะ
- เมื่อต้องไปประเทศที่มีอากาศร้อนมาก ให้หลีกเลี่ยงการทำงานหรือการออกกำลังกายหนัก
- ดื่มน้ำ 1 – 2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด และควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 8-10 แก้วตลอดทั้งวัน ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหาย หรือริมฝีปากแห้ง
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน น้ำหนักเบา ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี อาจสวมแว่นกันแดด ทาโลชั่นกันแดด และกางร่ม เพื่อไม่ให้ร่างกายถูกแสงแดดโดยตรง
- ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นควรออกกำลังกายเวลารุ่งเช้า และตอนเย็นจะดีที่สุด
- พยายามหลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูกไหล ก่อนการออกกำลังกายหรือต้องอยู่บริเวณที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
- เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี ไม่ควรอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง หรืออยู่ในรถที่จอดกลางแดด เพราะภายในรถ อุณหภูมิอาจสูงได้ถึง 50 องศาเซลเซียส
สรุป
ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่ระวัง อาจทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อต้องออกไปเจออากาศร้อน ควรป้องกันตัวเองไว้ก่อน เป็นเรื่องที่ดีที่สุดนะคะ นอกจากนี้ หากพบเห็นเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวมีอาการน่าสงสัยว่าเป็นฮีทสโตรก ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำตัวส่งแพทย์ทันทีนะคะ