บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แผลเบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งผู้เป็นเบาหวาน ประมาณร้อยละ 15 จะเกิดแผลที่บริเวณเท้ามากที่สุด และร้อยละ 14 – 24 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องถูกตัดขา
จากการสำรวจพบว่า ใน 1 ปี จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถูกตัดเท้ากว่า 1 ล้านเท้า และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ว่าจะมีผู้ป่วยเบาหวานหลายคน ที่ถูกตัดเท้า หรือตัดขา แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่เป็นแผลเบาหวาน แล้วจะถูกตัดขา หรือเท้าเสมอไป เพราะแผลเหล่านี้ มีโอกาสรักษาให้หายได้ แต่จะดีที่สุด หากเลือกที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น บทความนี้ มีวิธีดูแลแผลเบาหวาน วิธีป้องกันไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน รวมทั้งเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับแผลเบาหวาน มาฝากกันค่ะ
สารบัญ
- เบาหวานตัดขา? ทำไมเป็นแผลเบาหวานถึงต้องตัดขาทิ้ง?
- ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลเบาหวาน
- ดูแลเท้าอย่างไรไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน
- วิธีดูแลแผลเบาหวาน ลดความเสี่ยงถูกตัดขา
- สัญญาณเตือนแผลเบาหวานที่เท้า
เบาหวานตัดขา? ทำไมเป็น แผลเบาหวาน ถึงต้องตัดขาทิ้ง?
หลายคนคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “เบาหวานตัดขา” “เป็นเบาหวานต้องตัดขาทิ้ง” สงสัยไหมคะว่า ทำไมเป็นโรคเบาหวานถึงต้องตัดขาทิ้ง?
สาเหตุที่เป็นโรคเบาหวาน แล้วต้องตัดขานั้น เกิดจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ จึงมีไขมัน และน้ำตาลที่ไม่ถูกย่อยสลาย ไขมัน และน้ำตาลเหล่านี้ จะจับตัวอยู่ตามเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบ และแข็งจนเกิดการอุดตัน โดยเฉพาะที่บริเวณเท้า
นอกจากนี้ ผู้ป่วย จะมีอาการชาบริเวณปลายมือ และปลายเท้า เมื่อเกิดแผล ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการเจ็บปวด หรือรู้สึกตัว อีกทั้งหลอดเลือดดำก็ทำงานผิดปกติ จึงทำให้เมื่อเกิดแผล เลือดจะไหลเวียนไปยังบริเวณแผลได้ไม่เพียงพอ ทำให้แผลหายช้า กลายเป็นแผลเรื้อรัง
หากผู้ป่วยไม่สังเกตบาดแผลที่เกิดขึ้น หรือไม่รีบรักษา แผลที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ ลุกลาม และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเกิดการเน่าและติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นทิ้ง เพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ และช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ เพราะหากไม่ตัดอวัยวะที่ติดเชื้อทิ้ง เชื้อเหล่านั้นอาจจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
เนื่องด้วยแผลเบาหวาน มักเกิดบริเวณเท้ามากที่สุด จึงทำให้มีผู้ที่ถูกตัดขาเป็นจำนวนมาก หลายคนจึงเข้าใจว่า เป็นเบาหวานจะต้องถูกตัดขาเสมอ แต่แท้จริงแล้ว แผลเบาหวานเหล่านี้ สามารถรักษาให้หาย โดยไม่ต้องตัดขาหรือเท้าทิ้งเลยค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด แผลเบาหวาน
แผลเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย และเป็นภาวะแทรกซ้อน ที่ผู้ป่วยเบาหวานเป็นมากที่สุด จึงจำเป็นต้องลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อไม่ให้แผลเบาหวานนี้เกิดขึ้นค่ะ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานมานานหลายปี และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- มีอาการของโรคเส้นประสาท
- ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี
- มีภาวะแทรกซ้อนที่ไต
- จอประสาทตาผิดปกติ
- ชอบสูบบุหรี่
- มีอายุมาก และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- มีประวัติการตัดนิ้วเท้าหรือขา หรือมีแผลที่เท้ามาก่อน
- ไม่ชอบสวมรองเท้า หรือสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
ดูแลเท้าอย่างไรไม่ให้เกิด แผลเบาหวาน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่ยังไม่เกิดแผลเบาหวานขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีมากเลยค่ะ ดังนั้น จึงควรดูแลรักษาให้สุขภาพเท้าดีเช่นนี้ ต่อไปนะคะ
- หมั่นสังเกตเท้า และความสะอาดทุกวัน หากพบความผิดปกติใด ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
- ทาโลชั่นทุกวัน ภายหลังจากการทำความสะอาด เพื่อให้เท้ามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- ตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ยาว หรือตัดจนสั้นเกินไป และขณะตัดควรระมัดระวัง อย่าให้เกิดบาดแผล
- สวมถุงเท้า เพื่อลดการเสียดสีของเท้า และหมั่นซักถุงเท้าบ่อย ๆ
- เลือกใช้รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่สวมใส่สบาย ลดการเกิดบาดแผลได้
วิธีดูแล แผลเบาหวาน ลดความเสี่ยงถูกตัดขา
หากผู้ป่วยเบาหวาน พบบาดแผลเกิดขึ้น ให้ผู้ป่วยหยุดใช้งานอวัยวะที่เกิดแผลทันที เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันที่แผล อาจทำให้แผลขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ สวมใส่รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จะช่วยป้องกันการที่รองเท้ากดทับจนเกิดบาดแผลได้ และรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็กอาการ
แต่หากแผลที่เกิด มีลักษณะเป็นรอยขีดข่วน ให้รีบล้างทำความสะอาดแผล ด้วยน้ำอุ่น และสบู่อ่อน ๆ อย่างเบามือที่สุด โดยไม่ต้องขัด หรือถู จากนั้นเช็ดให้แห้ง แล้วจึงใส่ยาฆ่าเชื้อ ที่ไม่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ แล้วปิดแผล ด้วยผ้าปิดแผลที่แห้ง และผ่านการฆ่าเชื้อ ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ยา แบบทั่วไป เพราะแผลอาจไม่แห้ง จากนั้นให้สังเกต และเฝ้าระวังอาการต่อไป หากผิดปกติ หรืออาการรุนแรงขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
สัญญาณเตือน แผลเบาหวาน ที่เท้า
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ถูกตัดขา สาเหตุหลัก เกิดจากการเป็นแผลแล้วไม่รู้ตัว หรือปล่อยไว้จนแผล เกิดการลุกลาม และรุนแรงขึ้น ซึ่งยิ่งรุนแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการโดนตัดขา มากเท่านั้น ดังนั้น ถ้าไม่อยากถูกตัดขา จึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตอาการ ดังนี้ค่ะ
- ขนที่เท้า หรือขาน้อยลง
- สีผิวจะคล้ำ หรือดำขึ้น โดยมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณนิ้วเท้า
- คลำชีพจรที่หลังเท้าไม่ได้ ปวดขาหรือเท้าเวลาเดิน
- เท้าข้างที่เป็นแผลจะเย็น (อุณหภูมิเท้าสองข้างไม่เท่ากัน)
- เล็บหนาตัวขึ้น
- มีแผลเรื้อรังที่เท้า บริเวณแผลมีอาการบวมแดง รู้สึกเจ็บ หรือระคายเคือง มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- มีน้ำหนองไหล หากเป็นมากจะมีการเน่าของนิ้ว
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
แผลเบาหวานจะมีความรุนแรง แตกต่างกันออกไป แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับ 0 : ไม่มีอาการของแผลเปื่อย
ระดับ 1 : มีแผลเกิดขึ้น แต่ไม่มีอาการเจ็บหรืออักเสบ
ระดับ 2 : แผลลึกลงไป จนเห็นเส้นเอ็นและกระดูก
ระดับ 3 : แผลมีการลุกลาม เป็นบริเวณกว้าง อาจมีฝีเกิดร่วมด้วย
แต่ไม่ว่าจะมีความรุนแรงของแผล อยู่ในระดับใด ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีจะดีที่สุด ยิ่งมาเร็ว โอกาสหายก็จะยิ่งสูง ลดความเสี่ยงการโดนตัดขา
สรุป
แผลเบาหวาน เป็นภาวะแทรกซ้อน ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระวังเป็นอย่างมาก อย่าละเลย แม้จะเป็นแผลเพียงเล็กน้อย เพราะไม่เช่นนั้น แผลเหล่านั้น อาจจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตบริเวณเท้า หากมีความผิดปกติใด จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงการโดนตัดขา และที่สำคัญ ผู้ป่วยควรสวมใส่รองเท้า ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อลดโอกาสการเกิดบาดแผลนะคะ
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700