ไขข้อสงสัย?! ยาหมดอายุกินได้ไหม? ดูวันหมดอายุยาตรงไหน? เปิดตู้ยาแล้วมาเช็กกัน!

ยาหมดอายุกินได้ไหม วันหมดอายุยา

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         ในช่วงเวลาที่เกิดป่วยขึ้นมากะทันหัน ยาที่เหลือเก็บในบ้าน คงเป็นตัวเลือกที่ใครหลายคนนึกถึงเป็นอย่างแรก แต่ยาก็ย่อมมีวันหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ จึงกลายมาเป็นคำถามคาใจของใครหลายคนว่า ยาหมดอายุกินได้ไหม? กินไปแล้วจะเป็นอันตราย หรือจะยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาโรคหรือเปล่า? มาหาคำตอบในบทความนี้กันค่ะ

สารบัญ

ยาหมดอายุกินได้ไหม? ดูวันหมดอายุยาตรงไหน?

         ยาหมดอายุ คือ ยาที่มีลักษณะผิดไปจากข้อกำหนด หรือเหลือตัวยาสำคัญน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของทางผู้ผลิต โดยทางผู้ผลิตจะยึดเกณฑ์จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือเกณฑ์ตามตำรายาสากลประเทศต่าง ๆ ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ยาหมดอายุกินได้ไหม กินไปจะเป็นอันตราย หรือมีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาโรคหรือเปล่า

ยาหมดอายุกินได้ไหม

ยาหมดอายุกินได้ไหม?

         ยาหมดอายุไม่ควรกินค่ะ เนื่องจากตัวยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคนั้นได้เสื่อมสลายจนเหลือปริมาณน้อยกว่า 90% ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาโรคได้ และยาหมดอายุบางชนิดอาจมีแบคทีเรียเจริญเติบโตอยู่ภายใน หากกินหรือใช้ อาจทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยาบางชนิด อาจกลายสภาพเป็นยาพิษ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายโดยเฉพาะตับและไต จนอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยค่ะ

วันหมดอายุยา ดูตรงไหน?

         สำหรับยาที่มีบรรจุภัณฑ์ มักจะระบุวันหมดอายุยาไว้ที่ใต้กล่อง ข้างกระปุก บนแผงยา หรือด้านล่างฉลากยาค่ะ โดยจะใช้คำว่า ยาสิ้นอายุ หรือหากเป็นภาษาอังกฤษจะใช้คำหรือตัวย่อว่า Exp Date, Expiry, Expires, Use By หรือ Use Before แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ยานั้นหมดอายุค่ะ

ยาหมดอายุกินได้ไหม

         ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์หรือฉลาก ระบุแค่เดือนและปีที่หมดอายุ ให้นับวันสุดท้ายของเดือนที่ระบุมา เป็นวันหมดอายุค่ะ เช่น ระบุมาว่า “Use Before 07/22” วันที่ยาหมดอายุก็คือวันที่ 31/07/2022 หรือ วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.2022 (พ.ศ.2565) นั่นเองค่ะ

กล่องใส่ยา ALLWELL Pill Box B4

Original price was: 699฿.Current price is: 349฿.

สำหรับจัดยา 7 วัน | แบ่งออกเป็น 4 ช่อง เช้า, กลางวัน, เย็น, ก่อนนอน | ขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก

อ่านเพิ่ม

ยาที่ซื้อมาไม่มีวันหมดอายุบอก ทำไงดี?!

         ปัญหานี้หลายคนอาจเจอได้บ่อย ๆ เนื่องจากโรงพยาบาล หรือตามร้านขายยา มักจะแบ่งขายใส่ซองหรือถุงซิปล็อกมาให้ แล้วด้านหลังของถุงใส่ยาก็จะระบุเพียงว่า เป็นยารักษาอาการอะไร กินเวลาไหนบ้าง และกินครั้งละกี่เม็ดเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุวันหมดอายุมาด้วย หรือยาบางอย่างแม้จะมาพร้อมบรรจุภัณฑ์ แต่ก็ไม่ได้มีวันหมดอายุยาบอกเอาไว้

ยาหมดอายุกินได้ไหม

         แม้จะไม่ทราบวันหมดอายุยาเหล่านั้นได้แน่ชัด แต่เราสามารถประมาณวันหมดอายุได้ค่ะ เนื่องจากยาที่เปิดใช้แล้ว จะค่อย ๆ เสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ยาเสียหรือหมดประสิทธิภาพในการรักษาก่อนวันหมดอายุที่ระบุมาบนผลิตภัณฑ์ค่ะ โดยเราสามารถประมาณวันหมดอายุได้ ด้วยการนับระยะเวลาที่เราได้รับการแบ่งขายยานั้นมา หรือเปิดผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานยานี้ครั้งแรก จนถึงวันเดือนปีปัจจุบันว่าผ่านมานานแค่ไหนแล้ว

ยาที่เปิดใช้แล้ว/แบ่งซื้อ หมดอายุเมื่อไหร่?

  • อายุยาไม่เกิน 1 ปี ได้แก่ ยาแบบเม็ดทุกรูปแบบ ทั้งชนิดเคลือบ (เช่น วิตามิน ยาบำรุงเลือด) ชนิดไม่เคลือบ (เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้) และชนิดแคปซูล เช่น (ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด)
  • อายุยาไม่เกิน 6 เดือน ได้แก่ ยาน้ำชนิดใส (เช่น ยาแก้ไอสำหรับเด็ก ยาน้ำเชื่อมต่างๆ) และยาน้ำชนิดแขวนตะกอน (เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาน้ำสตรี ยาธาตุ) ยาชนิดครีม ชนิดเจล และขี้ผึ้ง (เช่น ยาหม่อง ยานวด ยาทาบรรเทาแมลงสัตว์กัดต่อย) ยกเว้น เจลแอลกอฮอล์ หากเปิดแล้ว ต้องรีบใช้ภายใน 3 เดือน
  • อายุยาไม่เกิน 1 เดือน ได้แก่ ยาหยอดตา-ป้ายตา แต่หากยานั้นไม่ผสมสารกันเสีย ควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน
  • อายุยาไม่เกิน 7 วัน ได้แก่ ยาชนิดผงละลายน้ำที่ผสมน้ำแล้ว แต่ถ้าหากเก็บในตู้เย็นจะอยู่ได้ถึง 14 วัน

ยาหมดอายุ

อายุยาข้างต้น เป็นการประมาณเท่านั้น อาจแตกต่างจากนี้ได้ ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่ใช้ ส่วนประกอบ และสภาพการเก็บรักษายา

ยาเสื่อมสภาพ อันตรายไม่แพ้ยาหมดอายุ!

         ยาเสื่อมสภาพ คือ ยาที่ลักษณะภายนอก (ทางกายภาพ) เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ทั้งรูปร่าง สี กลิ่น รสชาติ ซึ่งยาเสื่อมสภาพนี้อันตรายไม่ต่างจากยาหมดอายุเลยค่ะ ดังนั้น หากพบว่ายาเสื่อมสภาพ แม้จะยังไม่หมดอายุหรือเปิดใช้ได้ไม่นาน ก็ควรทิ้งทันทีเลยค่ะ โดยเราสามารถสังเกตลักษณะของยาเสื่อมสภาพได้ ดังนี้

ยาหมดอายุกินได้ไหม

วิธีสังเกตยาหมดอายุ/เสื่อมสภาพ

1.ยาเม็ด

  • ชนิดเคลือบ ยาเม็ดชนิดเคลือบ โดยปกติจะมีลักษณะเป็นมันเงา แต่ถ้ายาเกิดเสื่อมสภาพ จะสังเกตเห็นยาดูมีลักษณะเยิ้ม เหนียว มีกลิ่นหืน บูด หรือผิดปกติไปจากเดิม
  • ชนิดไม่เคลือบ เม็ดยาจะดูชื้น สัมผัสดูจะนิ่ม ๆ มีลักษณะแตก บิ่น หรือร่วนเป็นผง อาจสังเกตเห็นจุดด่าง หรือขึ้นรา และมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  • ชนิดแคปซูลแข็ง เปลือกแคปซูลจะบวมโป่ง มีเชื้อราขึ้นเป็นจุด ๆ ผงยาเปลี่ยนสี หรือจับกันเป็นก้อน
  • ชนิดแคปซูลนิ่ม เปลือกแคปซูลเสียรูปทรงไปจากเดิม มีลักษณะเยิ้มเหลว เหนียว หรือเปื่อยทะลุ จนตัวผงยาภายใน ไหลออกมากด้านนอก

กินยาหมดอายุ

2.ยาน้ำ

  • ยาน้ำชนิดใส (ยาน้ำเชื่อม) สีเปลี่ยนไป มีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นบูด จากที่เคยใส จะเป็นตะกอนหรือขุ่น เหมือนผงยาละลายไม่หมด หรืออาจสังเกตเห็นฟองก๊าซ หรือเยื่อเบา ๆ ลอยอยู่
  • ยาน้ำชนิดแขวนตะกอน มีสี กลิ่น รสเปลี่ยนไป ดูมีความเข้มข้น เมื่อเขย่าขวดแรง ๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นตะกอนเกาะกันแน่น

3.ยาชนิดผงละลายน้ำ ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่สามารถละลายน้ำได้ หรือบรรจุภัณฑ์จะมีไอน้ำ หรือหยดน้ำเกาะ

4.ยาหยอดตา-ป้ายตา ตัวยาจากใสจะกลายเป็นขุ่น เมื่อหยอดตาแล้ว จะรู้สึกแสบตามากกว่าปกติ

ครีมหมดอายุ

5.ยาอื่น ๆ

  • ชนิดครีม เนื้อครีมแยกชั้น สี และเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป จะรู้สึกหนืดมากกว่าปกติ มีกลิ่นเหม็นหืน
  • ชนิดขี้ผึ้ง ลักษณะการเสื่อมสภาพคล้ายกับชนิดครีม แต่อาจสังเกตเห็นของเหลวไหลออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยา
  • ชนิดเจล จากที่ใสจะกลายเป็นขุ่น และเนื้อยาไม่เกาะเป็นเนื้อเดียวกัน

รู้หรือไม่ว่า การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ยาเสื่อมสภาพเร็ว โดยเฉพาะยาที่ไวต่ออุณหภูมิ ความชื้น และแสง

How to ทิ้งยาหมดอายุอย่างไรให้ปลอดภัย

         หลังจากที่ทราบไปแล้วว่า ยาเสื่อมสภาพ และยาหมดอายุไม่สามารถกินได้ ต้องทำการทิ้งทันที โดยทิ้งไม่ถูกวิธีนั้น ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ และก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่เราจะต้องรู้วิธีการทิ้งยาหมดอายุหรือเสื่อมสภาพให้ถูกวิธีค่ะ

ทิ้งยาหมดอายุ

  • ปฏิบัติตามวิธีการทิ้งยานั้น ๆ ตามเอกสารกำกับยา หรือฉลากยาที่ให้มากับบรรจุภัณฑ์
  • ไม่ควรทิ้งลงอ่างล้างจาน หรือชักโครก นอกจากเอกสารกับกำยาจะแนะนำให้ปฏิบัติเท่านั้น
  • ควรลบชื่อและข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นทราบถึงข้อมูลการรักษา
  • ใส่ถุงซิปล็อก แล้วเขียนกำกับหน้าถุงว่า ยาหมดอายุทิ้ง แล้วทิ้งแยกในถังขยะอันตราย
  • หากไม่มีเอกสารกำกับยา หรือไม่มั่นใจว่าจะทิ้งได้ถูกต้องและปลอดภัย สามารถนำยาดังกล่าวไปคืนให้โรงพยาบาล ร้านที่จ่ายยาให้เรามา หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดสารเคมีอันตรายในครัวเรือน เพื่อที่จะได้ทำลายยาอย่างถูกวิธี
อยากผอมกินยาลดความอ้วนสิ ผอมเร็ว แต่อันตรายเสี่ยงเสียชีวิตไว!

ยาเหลือเต็มบ้าน (ยังไม่หมดอายุ) เอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้!

         สำหรับใครที่มียาเหลือเต็มบ้าน เนื่องจากได้ยามาเยอะ หรือได้รับการจ่ายมาซ้ำซ้อน ยาปล่อยให้ยาของคุณหมดอายุหรือเสื่อมสภาพไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะยาเหลือใช้เหล่านี้ สามารถเอาไปให้กับผู้ที่ต้องการได้ ALLWELL ขอชวนทุกท่านมาบริจาคยาเหลือใช้ (ที่ยังไม่หมดอายุ) ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการยากันค่ะ

บริจาคยาเหลือใช้

1.ยาที่เปิดรับบริจาค

  • ยาที่ยังไม่หมดอายุ อย่างน้อย 6 เดือน ได้ทั้งยาพารา ยาแก้แพ้ หรือยารักษาตามอาการ
  • ยาต้องยังไม่เปิดใช้ ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทเท่านั้น
  • ยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน (วันหมดอายุ 1 ปีขึ้นไป)

2.ยาที่ไม่รับบริจาค

  • ยาหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ
  • ยาที่เปิดใช้งานแล้ว
  • ยาที่ต้องแช่เย็นเท่านั้น
  • ยาทา เช่น ยาแดง ยาหยอดตา ยาแก้ร้อนใน
  • ยาเฉพาะโรค เช่น ยาโรคหัวใจ ยาไทรอยด์ ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด

3.สถานที่ที่เปิดรับบริจาค

  • โรงพยาบาลอุ้มผาง [ที่อยู่ในการจัดส่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง (ยาบริจาค) เลขที่ 159 หมู่ที่ 1 ตำบล อุ้มผาง อำเภอ อุ้มผาง จังหวัด ตาก 63170]
  • ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส ทั่วประเทศ (เช็กสาขาใกล้บ้านได้ที่นี่ >>https://exta.co.th/store/)

สรุป

         สำหรับข้อสงสัยเรื่อง ยาหมดอายุกินได้ไหม ต้องขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า ไม่ควรกินเป็นอย่างยิ่ง หากพบแล้วควรทิ้งทันที (ต้องทิ้งอย่างถูกวิธี) อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ยาเหลือแม้จะยังไม่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ แต่หากเป็นยารักษาโรคเฉพาะ ยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาแก้อาเจียน ฯลฯ ไม่ควรนำมากินต่อ และให้ผู้อื่นกินโดยเด็ดขาดนะคะ ทางที่ดีที่สุด คือการไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค และกินยาตามคำสั่งแพทย์ค่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม

โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์

ดร. ภญ. ศรีวรรณ ธีระมั่นคง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup