ลืมกินยา ทำอย่างไรดี? เกร็ดเล็ก ๆ เกี่ยวกับการกินยาที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ลืมกินยา

         เชื่อว่าผู้ป่วยเกือบทุกคน หลังจากเข้ารับการรักษา แพทย์จะจ่ายยากลับมาให้กินที่บ้านใช่ไหมล่ะคะ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน “ยา” คงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่กาย ที่ต้องเจอะเจอกันไปทุกวัน วันละหลายครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น บางคนมีเรื่องต้องคิด ต้องทำหลายอย่าง จน ลืมกินยา หรือกินยาไม่ตรงเวลาไปซะอย่างนั้น แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ควรทำอย่างไรดีล่ะ? จะส่งผลเสียอะไรหรือเปล่า? ถ้าสงสัยล่ะก็ ไปหาคำตอบในบทความนี้กันเลยค่ะ

ลืมกินยา

คลิก! อ่านบทความ : ความดันต่ำ – ความดันสูง ภัยเงียบตัวร้ายสำหรับผู้สูงอายุ

สารบัญ

หาก ลืมกินยา ต้องทำอย่างไร?

         การลืมกินยา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน วิธีแก้ไขก็ไม่ยากเลยค่ะ ก่อนอื่นต้องคำนึงถึงช่วงเวลาของยาที่เราลืมกินไปก่อน เพราะระบบภายในร่างกายของเรา จะเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารการกิน การหลับพักผ่อน ซึ่งยาแต่ละตัวก็มีฤทธิ์ และตัวยาแตกต่างกันไปค่ะ

ลืมกินยา

1.ลืมกินยาก่อนอาหาร

         ยาที่ต้องกินก่อนอาหาร ส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากยาตัวนั้นไม่สามารถทนกรดในกระเพาะอาหารได้ จึงต้องกินในช่วงเวลาที่ท้องยังว่าง คือ ก่อนกินอาหารประมาณ 30 นาที เพราะหากกินอาหารไปแล้ว น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จะถูกหลั่งออกมา แล้วทำลายยาตัวนั้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาถูกลดทอนลง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุผล เช่น เป็นยายับยั้งกรดในกระเพาะอาหาร จึงจำเป็นต้องกินก่อนที่กระเพาะจะหลั่งกรด

วิธีแก้ไข : หากนึกขึ้นได้หลังกินอาหาร ควรรอให้ท้องว่างก่อน คือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังกินข้าว แต่หากยาตัวนี้ต้องกินก่อนอาหารในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้รอกินยาในมื้อถัดไปได้เลย

2.ลืมกินยาหลังอาหาร

         ยาที่ต้องกินหลังอาหาร อาจมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารอยู่บ้าง แต่หลัก ๆ แล้วไม่ค่อยส่งผลเสียอะไร เภสัชกรจึงจัดให้กินหลังอาหารเพื่อให้สัมพันธ์กับมื้ออาหาร เพื่อให้ง่ายต่อการจำช่วงเวลากินยา ควรกินหลังอาหารประมาณ 15-30 นาที

วิธีแก้ไข : หากนึกขึ้นหลังกินอาหารไม่เกิน 15 นาที สามารถกินยาตัวนั้นตามได้เลย หากเกิน 15 นาทีไปแล้ว ให้รอกินในมื้อถัดไปจะดีกว่า แต่ถ้ายาตัวนั้น กินแค่วันละครั้ง สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ต้องกินอาหารรองท้องก่อน เพราะอาจระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

3.ลืมกินยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที

         สาเหตุที่ยาต้องกินหลังอาหารทันที หรือกินไปพร้อม ๆ กับอาหาร นั่นก็เพราะยาตัวนั้นมีฤทธิ์ที่ทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง (หรือที่ชอบเรียกกันว่า ยากัดกระเพาะ) อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ – อาเจียนได้ การกินอาหารจึงช่วยลดอาการเหล่านี้ลงได้ และกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

วิธีแก้ไข : .หากต้องกินยาตัวนี้ในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้รอกินในมื้อถัดไปได้เลย แต่หากเป็นตัวยาที่จำเป็นต้องกินจริง ๆ ควรหาอาหารรองท้องก่อนกินยา

ลืมกินยา 1 มื้อ

4.ลืมกินยาก่อนนอน

         เนื่องจากยาชนิดนี้ มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงควรกินก่อนที่จะเข้านอน เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้ร่างกายเกิดอาการปวดหัวหรือมึนงงได้ นอกจากนี้ ยาก่อนนอน อาจจะออกฤทธิ์ได้ดีกับกลไกของร่างกายในตอนนอน

วิธีแก้ไข : การลืมกินยาก่อนนอน ส่วนใหญ่แล้วจะนึกขึ้นได้ในตอนที่ตื่นแล้ว ดังนั้นให้งดยาตัวนั้นไปเลย ค่อยกินอีกครั้ง ในช่วงเวลาก่อนนอนของอีกวัน

5.ลืมกินยาตามอาการ

         ยาตามอาการ คือยาที่ต้องกินเมื่อมีอาการเจ็บป่วย เช่น ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งส่วนใหญ่ มักเป็นยาที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร สามารถกินได้ทันทีเมื่อมีอาการ

วิธีแก้ไข : หากยังมีอาการเจ็บป่วยอยู่ แล้วนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้กินยา สามารถกินได้เลยทันที แต่ถ้าหากไม่มีอาการแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้

ไม่ว่ายาที่ลืมกิน จะเป็นชนิดไหน หากลืมกินยา ไม่ควรกินรวบยาในมื้อถัดไป (เบิ้ลโดสยา) เพราะจะเป็นการกินยาเกินขนาด อาจทำให้เกิดอันตรายได้

วิธีกินยาที่ถูกต้อง กินอย่างไร?

         แม้ว่ายา จะหาซื้อง่าย แต่ใช่ว่าทุกคนจะกินได้เหมือนกันหมดนะคะ การจะกินยาอะไรสักอย่าง จำเป็นจะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้แต่ยาสามัญประจำบ้าน อย่างพาราเซตามอล ก่อนจะกิน ก็ต้องคำนึงหลายอย่าง เช่น อาการ โรคประจำตัว น้ำหนักตัว อายุ เพราะถ้ากินยาไม่ถูกต้อง นอกจากจะรักษาอาการป่วยไม่หายแล้ว อาจจะเพิ่มความรุนแรงของอาการ หรือเพิ่มโรคแทรกซ้อนตามมาได้เลยนะคะ มาดูกันว่า จะกินยาแต่ละครั้ง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ลืมกินยา

1.กินให้ถูกโรค ป่วยเป็นโรคอะไร ก็ควรจะกินยาตัวนั้น ที่สำคัญคือ ควรให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้จ่ายให้ ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือกินยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรค หรือกินยาหลายประเภทหลายชนิดพร้อมกัน อาจทำให้ฤทธิ์ของยาตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้

2.กินให้ถูกคน ก่อนกินยา ต้องคำนึงว่า ยาชนิดนี้ใช้กับใครได้บ้าง เพศไหน อายุเท่าไหร่ เพราะอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายของคน แต่ละเพศ และแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะ ผู้ที่ตั้งครรภ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น เพราะยาหลายชนิด สามารถผ่านจากแม่ไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ หากกินยาไม่ถูกต้อง อาจส่งผลทำให้เด็กที่คลอดออกมามีความพิการ หรือเสียชีวิตได้

3.กินให้ถูกเวลา ช่วงเวลาในการกินยา เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะยาแต่ละตัวมีปัจจัยหลายอย่างในการออกฤทธิ์ เช่น ยาก่อนอาหาร จะไม่สามารถทนกรดที่กระเพาะอาหารหลั่งออกมาได้ จึงจำเป็นต้องกินก่อนอาหาร เพื่อให้ยาถูกดูดซึม ก่อนถูกกรดในกระเพาะทำลาย

กินยาไม่ตรงเวลา

4.กินให้ถูกขนาด ต้องไม่กินยามาก หรือน้อยเกินไป ควรกินให้ถูกขนาดตามแพทย์สั่ง จึงจะได้ผลดีในการรักษา เพราะหากกินมากเกินไป จะเกิดเป็นพิษในร่างกาย หรือหากน้อยเกินไป ตัวยาก็ไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้

5.กินให้ถูกวิธี ก่อนจะกินยาอะไรสักอย่าง ควรอ่านฉลากแนะนำการใช้ก่อนทุกครั้ง เพราะยาบางประเภทไม่ได้ใช้เพื่อกิน หากกินเข้าไปจะเกิดอันตรายได้ เช่น ยาสอด ยาทา ยาฉีด

ทริคง่าย ๆ ทำอย่างไรไม่ให้ ลืมกินยา

         การลืมกินยา อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาถูกลดทอนลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต อาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นไม่ควรที่จะลืมกินยาบ่อย ๆ นะคะ มาดูกันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ลืมกินยาได้บ้าง

ลืมกินยาตอนเช้า

1.พยายามกินยาในเวลาเดิม เพื่อฝึกให้เป็นกิจวัตร เพื่อให้ร่างกายจดจำพฤติกรรมการกินยา เช่น กินยาหลังละครจบ กินยาหลังแปรงฟัน

2.ตั้งนาฬิกาปลุก หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ช่วยย้ำเตือนถึงเวลาที่ต้องกินยา

3.ใช้กล่องใส่ยา ช่วยในการจัดยาที่ต้องกินในแต่ละมื้อและแต่ละวัน ลดปัญหาการลืมกินยา อีกทั้งยังสามารถพกพาออกไปนอกบ้านได้อีกด้วย

4.ในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาด้านความจำ อาจให้คนรอบข้าง หรือผู้ดูแล ช่วยเตือนถึงกำหนดการกินยา

5.วางยาไว้ที่บริเวณที่มองเห็นได้ง่าย หรือเป็นบริเวณที่ใช้บ่อย ๆ เช่น มุมโปรดในบ้าน

สรุป

         การรักษาโรคที่ดีที่สุด คือการที่ผู้ป่วย ให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หนึ่งในนั้นคือการกินยา อย่างถูกต้องถูกเวลาตามคำแนะนำ เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าผู้ป่วยไม่กินยาหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ ไม่ว่าจะรักษากับแพทย์ที่เก่งแค่ไหน ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้นะคะ

การดูแลตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup