เช็กลิสต์ 5 อาการ “ปวดหัวไมเกรน” ปวดหัวข้างเดียว ใช่ไมเกรนหรือเปล่า?

ปวดหัวไมเกรน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         อาการปวดหัว เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งปวดหัวข้างซ้าย ปวดหัวข้างขวา ปวดหัวจี๊ด ๆ หรือปวดหัวตุ้บ ๆ ซึ่งมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับอาการปวดหัวเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ คอยกลับมากวนใจหลาย ๆ คนเป็นประจำ คงหนีไม่พ้นอาการ “ปวดหัวไมเกรน” ที่เราเคยได้ยินต่อ ๆ กันมาว่า ปวดหัวข้างเดียวคืออาการของไมเกรน แต่จริง ๆ แล้วจะใช่อาการไมเกรนหรือไม่นั้น ไปหาคำตอบในบทความนี้กันค่ะ

สารบัญ

ปวดหัวไมเกรน อาการเป็นอย่างไร? ปวดหัวข้างเดียวใช่ไมเกรนหรือเปล่า?

         ใครที่มักปวดหัวเป็นประจำ โดยเฉพาะปวดหัวข้างเดียว แล้วสงสัยว่าใช่อาการปวดหัวไมเกรนหรือเปล่า เพราะเรามักได้ยินกันว่า อาการปวดหัวข้างเดียวคืออาการของไมเกรน แต่ต้องบอกเลยว่า จริง ๆ แล้วอาการปวดหัวข้างเดียว ไม่ใช่สัญญาณของโรคไมเกรนเสมอไปนะคะ แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง เช่น โรคเครียด โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคต้อหินเฉียบพลัน โรคเนื้องอกในสมอง เป็นต้น

ปวดหัวไมเกรน อาการ

         ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือมีอาการปวดหัวแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำและรุนแรง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดนะคะ อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวข้างเดียว ก็ยังนับว่าเป็นหนึ่งในอาการเด่นของโรคไมเกรน ซึ่งพอจะสังเกตอาการปวดหัวไมเกรนเบื้องต้นได้ ดังนี้ค่ะ

ปวดหัวไมเกรน อาการเป็นอย่างไร?

  • มักปวดหัวข้างเดียว อาจเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวาสลับกันก็ได้ (แต่ในบางรายพบว่าปวดหัวทั้งสองข้างก็มี) ซึ่งมักปวดเช่นนี้เป็นประจำ
  • ลักษณะการปวดจะเป็นจังหวะคล้ายเส้นเลือดเต้น หรือที่หลายคนเรียกว่าปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวตุ้บ ๆ เป็นระยะ มักเป็นบริเวณขมับ และอาจปวดร้าวมาที่กระบอกตาหรือท้ายทอย
  • ส่วนใหญ่อาการปวดมักรุนแรงระดับปานกลางไปถึงรุนแรงมาก กินระยะการปวดหลายชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน
  • อาการปวดหัวมักเป็นจนไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้เลย แม้กระทั่งการนั่ง เดิน หรือขึ้น-ลงบันได แต่อาการปวดหัวจะดีขึ้น ถ้าได้นอนนิ่ง ๆ อยู่ในห้องที่มืด สงบ และเย็น
  • มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาไม่สู้แสง ทนเสียงดังไม่ได้ เป็นต้น
ปวดหัวข้างขวา – ข้างซ้าย ปวดหัวตำแหน่งไหนบอกอะไร? อ่านเลย!!!

สังเกตสัญญาณเตือน! ก่อนไมเกรนจะกำเริบ

         สำหรับใครที่มีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคไมเกรน หรือเป็นอยู่แล้ว เคยสังเกตไหมคะว่า ก่อนที่อาการไมเกรนจะกำเริบ มักจะมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นก่อน หรือหลังจากหายปวดแล้ว กลับพบอาการผิดปกติบางอย่าง (ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน) นั่นก็เพราะว่าโรคไมเกรนจะมีอาการแตกต่างกันไปตามระยะ ซึ่งสามารถสังเกตอาการก่อน-หลังเกิดไมเกรนได้ ดังนี้ค่ะ

อาการไมเกรน

อาการก่อน-หลังเกิดไมเกรน

1.อาการบอกเหตุ (1-2 วัน ก่อนเริ่มปวดหัวไมเกรน)

  • รู้สึกปวดตึงต้นคอ
  • หาวบ่อย ควบคุมการหาวไม่ได้
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ
  • อยากอาหารมาก กระหายน้ำ
  • ปัสสาวะบ่อย แต่ไม่อุจจาระ (ท้องผูก)

2.อาการเตือน หรืออาการนำ (20-40 นาที ก่อนเริ่มปวดหัวไมเกรน)

  • เห็นจุดแสงวาบเหมือนแฟลช หรือเป็นไฟกะพริบ ๆ แม้หลับตาก็ยังเห็นอยู่
  • สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพต่าง ๆ เป็นเส้นซิกแซก หรือรูปทรงผิดขนาด
  • รู้สึกอ่อนแรง หรือรู้สึกเหมือนมีใครกำลังสัมผัสตัว
  • พูดหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก
  • รู้สึกชาหรือเหมือนมีเข็มเล็ก ๆ มาจิ้มที่มือ แขน หรือเท้า

3.อาการหลังหายปวด

  • รู้สึกสับสน มึนงง เวียนหัว
  • หงุดหงิดง่าย
  • หมดแรง อ่อนล้า
  • มีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง

ปวดหัวไมเกรน

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดนะคะ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไมเกรนได้

พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหา ปวดหัวไมเกรน

        ใครที่เป็นไมเกรนแบบเป็น ๆ หาย ๆ รู้หรือไม่คะว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราก็มีส่วนทำให้ไมเกรนกลับมากำเริบบ่อย ๆ เพราะโรคไมเกรนเกิดมาจากการกระตุ้นของสิ่งเร้า ทำให้ระบบประสาทตอบสนองและเปลี่ยนแปลงไวกว่าคนปกติ ใครที่เป็นไมเกรนอยู่ ลองมาเช็กกันว่า คุณมีพฤติกรรมแบบนี้หรือเปล่า!?

ปวดหัวไมเกรน

  • เครียดบ่อย หรือเป็นโรคเครียด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคไมเกรน และยังทำให้อาการไมเกรนที่เป็นอยู่แล้วกำเริบขึ้นมา หรือแย่ลงไปเรื่อย ๆ ด้วย
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนหลับไม่เป็นเวลา
  • กินข้าวไม่ตรงเวลา หรือกินไม่ครบ 3 มื้อ จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (เช็กระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด Click!!!)
  • กินอาหารบางประเภทที่มีส่วนในการกระตุ้นอาการไมเกรน ในปริมาณที่มากเกินไป เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของยีสต์ อาหารที่มีสารกันบูด-ผงชูรส อาหารแปรรูป และอาหารหมักดอง
  • มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ ติดคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม รวมถึงสูบบุหรี่
  • อยู่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างจ้า หรือมีเสียงดังมาก
  • อากาศร้อนหรือหนาวเกินไป
  • แพ้กลิ่นบางอย่าง เช่น น้ำหอม ดอกไม้ ควันบุหรี่
  • ไมเกรนอาจกำเริบในช่วงก่อนมีหรือมีประจำเดือน
  • เป็นโรคบางอย่างที่ไปกระตุ้นไมเกรน เช่น ไซนัส ออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ

         สำหรับใครที่เป็นโรคไมเกรน ลองสังเกตสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ดูนะคะ ถ้าหากคุณสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยไม่ให้ไมเกรนกลับมากำเริบบ่อย ยิ่งหากกินยาสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์เป็นประจำแล้ว อาการไมเกรนอาจจะหายจากคุณไปเลยก็ได้ค่ะ

ไมเกรน เกิดจาก

แนะนำให้หมั่นสังเกตอาการไมเกรนของคุณเป็นประจำ ทั้งตำแหน่งที่ปวดในแต่ครั้ง ความถี่ที่เกิดไมเกรน ความรุนแรงในการปวด สิ่งกระตุ้น อาการทั้งก่อนและหลัง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดนะคะ

สรุป

         อาการปวดหัวไมเกรน เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของใครหลายคน ดังนั้น คุณควรต้องหมั่นสังเกตอาการปวดหัวของคุณอยู่เสมอ และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและหาทางรักษา แม้อาการปวดหัวข้างเดียว จะเป็นลักษณะของอาการปวดหัวไมเกรนก็จริง แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้เช่นกันค่ะ อย่าลืมที่จะดูแลสุขภาพของคุณให้แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup