บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
กาแฟ ถือเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ที่มนุษย์ทำงานเกือบทุกคนต้องกินเป็นประจำ วันไหน ไม่กินกาแฟแล้วปวดหัว ง่วง อ่อนเพลีย วันนั้นทั้งวันถึงกับทำงานไม่ได้ สงสัยไหมคะว่า อาการติดกาแฟเกิดจากอะไร? อันตรายไหม? บทความนี้มีคำตอบค่ะ และสำหรับใครที่มองหาวิธีเลิกกาแฟอยู่ล่ะก็ ไม่ต้องไปหาที่ pantip หรือที่ไหนไกลเลยค่ะ เพราะบทความนี้ก็มีวิธีเลิกกาแฟง่าย ๆ แบบไม่ต้องหักดิบ มาฝากทุกท่านด้วยค่ะ 😊
สารบัญ
ไม่กินกาแฟแล้วปวดหัว ง่วง อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร?
สำหรับใครที่กินกาแฟเป็นประจำทุกวัน พอถึงวันไหนที่ต้องงดกาแฟขึ้นมา อย่างวันที่ต้องไปฉีดวัคซีนโควิด ตรวจร่างกาย หรือแม้แต่ไม่มีเวลาว่างไปซื้อ แล้วเกิดอาการไม่กินกาแฟแล้วปวดหัว อ่อนเพลีย ง่วง ไม่เป็นอันทำอะไร ต้องบอกเลยค่ะว่า คุณมีอาการติดกาแฟแล้วล่ะ!☹
ในกาแฟมีสารหลักคือ คาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง มีแรง และยังทำปฏิกิริยากับสารอะดีโนซีน (Adenosine) หรือสารที่ทำให้รู้สึกง่วงในสมอง ทำงานได้น้อยลง หลายคนที่กินเข้าไปจึงรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงนอน สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่การที่เราดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวัน ร่างกายก็จะคุ้นเคยและเกิดการจดจำว่า สารคาเฟอีนในกาแฟนี้ คือสารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เมื่อกินแล้วเจ้าของร่างกายจะสามารถทำงานได้ จะกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว หรือก็คือร่างกายเรากำลังเสพติดเจ้าสารเคเฟอีนอยู่นั่นเองค่ะ
เมื่อร่างกายเสพติดและจดจำว่า สารคาเฟอีนเป็นสารจำเป็นที่ต้องได้รับทุกวัน ดังนั้นวันไหนที่เราเกิดไม่ได้กินกาแฟขึ้นมา ร่างกายก็จะเกิดภาวะขาดคาเฟอีน แล้วส่งผลให้เราเกิดอาการปวดหัว เพลีย ง่วง ซึม หงุดหงิด อ่อนแรง หรือเราเรียกอาการติดกาแฟเหล่านี้ว่า ภาวะถอนคาเฟอีน (Caffeine withdrawal) โดยอาการที่พบได้จะมีดังนี้ค่ะ
อาการภาวะถอนคาเฟอีน
- รู้สึกปวดหัวตุ้บ ๆ หรือบีบ ๆ และค่อย ๆ รุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับกาแฟ
- ง่วงนอน หาว รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีอาการซึม หดหู่ และหงุดหงิดง่าย
- ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ขาดสมาธิ มึนงง สับสน
- คลื่นไส้อาเจียน
โดยปกติแล้วอาการไม่กินกาแฟแล้วปวดหัว จะเกิดขึ้นภายใน 12 – 24 ชั่วโมง หลังกินกาแฟแก้วสุดท้าย และหากปล่อยให้ปวดหัวโดยไม่ยอมกินกาแฟ อาการอื่น ๆ ก็จะตามมา และอาจรุนแรงมากในช่วง 20 – 48 ชั่วโมง หรือ 1 – 2 วันแรก และอาจมีอาการต่อเนื่องไปอีก 2 – 7 วัน แต่ถ้าหากได้กินกาแฟเข้าไป อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นภายใน 30 นาที
ซึ่งอาการติดกาแฟหรือภาวะถอนคาเฟอีน จะมีความรุนแรงมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนค่ะ ใครที่ร่างกายไวต่อสารคาเฟอีนมาก หรือมีพฤติกรรมชอบกินกาแฟวันละหลาย ๆ แก้ว ติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน หรือกินน้อยครั้ง แต่แต่ละครั้งชอบกินเข้ม ๆ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะเสี่ยงมีอาการติดกาแฟอีนที่รุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นค่ะ
อันตรายจากการติดกาแฟ
- มีภาวะกระสับกระส่าย พูดไม่รู้เรื่อง
- เสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับ
- แร่ธาตุและความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน
- ความดันโลหิตสูง อาจอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว
- หัวใจเต้นแรง ใจสั่น จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน จะทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ต้านอินซูลิน
รู้หรือไม่?! สารคาเฟอีน ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังพบในน้ำอัดลม ชา ไอศกรีม เครื่องดื่มชูกำลัง ยาแก้ปวดบางชนิด และแฝงอยู่ในอาหารอีกหลายชนิด
7 วิธีเลิกกาแฟแบบไม่ต้องหักดิบ แก้ปัญหา ไม่กินกาแฟแล้วปวดหัว ได้จริง!
หลายคนคงทราบดีเลยว่า การไม่กินกาแฟแล้วปวดหัวทรมานอย่างไร แต่พออยากจะเลิกก็ไม่สามารถทนต่ออาการของภาวะถอนคาเฟอีนได้ หรือที่หลาย ๆ คนชอบเรียกว่า ลงแดง จนต้องกลับไปจับกาแฟมากินทุกที สำหรับใครที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ล่ะก็ บทความนี้มีวิธีเลิกกาแฟแบบง่าย ๆ ไม่ต้องหักดิบเลยให้ทรมานมาฝากกันค่ะ
1.ลดปริมาณแทนการหักดิบ
แน่นอนว่าการเลิกกาแฟแบบกะทันหันหรือหักดิบทันที จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ตามมา เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น ควรใช้วิธีค่อย ๆ ลดปริมาณกาแฟลงดีกว่าค่ะ เช่น จากที่เคยดื่มวันละ 3 แก้ว ก็ค่อย ๆ ลดลงมาเหลือ 1 – 2 แก้วเรื่อย ๆ จนสามารถเหลืออาทิตย์ละ 3 แก้ว หรืออาจจะใช้วิธีเปลี่ยนแก้วให้ขนาดเล็กลง จนสามารถหยุดกินได้ค่ะ
2.เข้มให้น้อยลง
ร่างกายของคนเรา ไม่ควรรับคาเฟอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งในกาแฟ 1 แก้ว มักมีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 100 – 120 มิลลิกรัม แต่หากยิ่งชงเข้มมาก ๆ ปริมาณคาเฟอีนก็จะมากตามไปด้วย ลองหันมากินกาแฟเข้มให้น้อยลง หรือผสมน้ำเข้าไปเพื่อเจือจาง และทำเช่นนี้เรื่อย ๆ ทุกวันก็จะช่วยให้เราสามารถลดการกินกาแฟลงได้โดยไม่มีอาการถอนคาเฟอีนค่ะ
3.ลองเปลี่ยนเครื่องดื่ม
คาเฟอีนในกาแฟอาจมีปริมาณมาก ลองหันมาดื่มเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนน้อยลงมา จะช่วยดีกว่าการเลิกกาแฟแบบกะทันหัน เช่น ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือใครที่ยังชอบกลิ่นและรสของกาแฟ ก็สามารถเลือกกินเป็นกาแฟดีแคฟ (Decaf) หรือกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนแทนได้ค่ะ
4.ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ
น้ำเปล่าสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ทำให้สดชื่นขึ้น และยังช่วยขับสารคาเฟอีนในร่างกายออกไปอีกด้วย นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมาก ๆ เนื่องจากคาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย จึงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ ดังนั้น ควรดื่มน้ำแทนน้ำที่สูญเสียไป เพื่อช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำและรู้สึกอ่อนเพลียนะคะ
5.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และลดสูบบุหรี่
เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มีฤทธิ์ในการกดประสาทเช่นเดียวกับกาแฟ ต่อให้ลดปริมาณกาแฟลง แต่ยังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการอยากกินกาแฟมากขึ้นกว่าเดิม อาการของภาวะถอนคาเฟอีนก็จะยิ่งแย่ลง ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และลดสูบบุหรี่นะคะ
6.ห้ามงดอาหารเช้า
หลายคนมักงดการทานมื้อเช้า แล้วหันมากินกาแฟแทน การทำเช่นนี้จะทำให้เรายิ่งกินกาแฟมากขึ้น และยังส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้น ต้องหันมากินอาหารเช้า ควบคู่กับการกินกาแฟในปริมาณที่น้อยลงมา ร่างกายก็จะค่อย ๆ ปรับตัวและขับคาเฟอีนออกจากร่างกายได้ค่ะ
7.หาวิธีแก้ง่วงแทนการกินกาแฟ
หากใครที่ต้องกินกาแฟเป็นประจำ เพราะมีอาการง่วงจนทำงานไม่ได้ สิ่งที่ควรแก้ไขคือความง่วงค่ะ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมง ไม่นอนดึกหรืออดนอน หากระหว่างทำงานยังมีอาการง่วง ลองหาวิธีทำให้ไม่ง่วง เช่น ลองลุกไปยืดเส้นยืดสาย สูดอากาศ เข้าห้องน้ำ นอกจากจะช่วยให้หายง่วงแล้ว ยังลดปัญหานั่งทำงานแล้วปวดหลังได้ด้วยค่ะ
สรุป
กาแฟไม่ได้มีแค่โทษเสมอไป หากกินอย่างถูกต้องก็จะส่งผลดีต่อร่างกาย ดังนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเลิกไปตลอดชีวิต ในทางกลับกัน หากกินอย่างไม่ถูกต้องจนร่างกายเสพติดกาแฟ นอกจากจะมีภาวะถอนคาเฟอีนที่แสนทรมานแล้ว ยังเสี่ยงต่ออีกสารพัดโรคร้ายเลยล่ะค่ะ หวังว่าวิธีเลิกกาแฟในบทความนี้ จะช่วยให้หลาย ๆ คน สามารถบอกลาอาการไม่กินกาแฟแล้วปวดหัวที่กำลังเผชิญอยู่ได้นะคะ 😊