เคยสงสัยไหมว่า ทำไม ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือตรวจเบาหวาน แบบเจาะเลือดปลายนิ้วที่บ้าน กับเจาะข้อพับแขนที่โรงพยาบาล ทำไมถึงได้ค่าระดับน้ำตาลแตกต่างกัน? แล้วแบบนี้เราควรเชื่อค่าไหนดี? บางคนก็ด่วนสรุปไปว่า เครื่องตรวจวัดน้ำตาลที่ใช้อยู่เสียหรือไม่แม่นยำ แต่แท้จริงแล้วเกิดจากอะไรนั้น ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันค่ะ
สารบัญ
- ตรวจน้ำตาลในเลือด แบบเจาะปลายนิ้ว vs แบบเจาะข้อพับแขนทำไมได้ค่าแตกต่างกัน?
- ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างไร ให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
ตรวจน้ำตาลในเลือด แบบเจาะปลายนิ้ว vs แบบเจาะข้อพับแขน ทำไมได้ค่าแตกต่างกัน?
เชื่อว่าหลายคนเวลาหมอนัดให้ไป ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือตรวจเบาหวานที่โรงพยาบาล ก่อนออกจากบ้านไปพบหมอ คงมีการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อตรวจระดับน้ำตาลเองไปก่อนอยู่แล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลไม่ได้สูง แต่กลับต้องแปลกใจ ที่พอไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล ค่าน้ำตาลกลับสูงซะงั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กินหรือดื่มอะไรเลย ทำไมค่าน้ำตาลถึงได้แตกต่างกัน?
การตรวจน้ำตาลในเลือดต่างวิธีกัน ก็ย่อมได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ต้องเป็นความแตกต่างที่ทางการแพทย์รับได้ คือ ไม่เกิน 15 – 20 มก./ดล. เช่น เจาะที่ปลายนิ้วได้ 100 มก./ดล. เจาะที่ข้อพับแขน (หลอดเลือดดำ) จึงควรอยู่ในช่วง 75 – 120 มก./ดล. นั่นเองค่ะ
แล้วทำไมถึงได้ค่าแตกต่างกัน?
สาเหตุที่ค่าระดับน้ำตาลที่ได้จากการเจาะปลายนิ้ว ด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลพกพา (Blood Glucose Meter) ไม่เท่ากับค่าระดับน้ำตาลที่ได้จากการเจาะข้อพับแขนนั้น เพราะตัวอย่างเลือดที่นำมาทดสอบ มาจากเส้นเลือดต่างชนิดกัน ความเข้มข้นและปริมาณสารประกอบต่าง ๆ จึงไม่เท่ากัน เลยทำให้ได้ค่าที่แตกต่างกัน
การเจาะปลายนิ้ว จะใช้เลือดจากเส้นเลือดฝอยที่อยู่ปลายนิ้ว ส่วนการเจาะเลือดที่ข้อพับแขนหรือท้องแขน คือการเจาะจากหลอดเลือดดำค่ะ โดยหลอดเลือดแต่ละหลอด มีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
- หลอดเลือดแดง ทำหน้าที่นำเลือดออกจากหัวใจ เพื่อนำไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งเลือดที่ได้จากหลอดเลือดแดงนี้ จะมีสีแดงสดและมีจะปริมาณออกซิเจนสูงกว่าเลือดจากบริเวณอื่น
- หลอดเลือดดำ ทำหน้าที่นำเลือดที่ใช้แล้วจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา เพื่อนำกลับไปฟอกที่ปอด ซึ่งเลือดที่ได้จากหลอดเลือดดำจะมีลักษณะสีดำ มีปริมาณของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์สูง
- หลอดเลือดฝอย เป็นหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการแลกเปลี่ยนน้ำและสารเคมีระหว่างเลือดกับเนื้อเยื่อ เลือดที่ได้จากหลอดเลือดฝอยจะเจอทั้งสารอาหาร แก๊ส และองค์ประกอบต่าง ๆ มากมาย
จะเห็นได้ว่า เส้นเลือดแต่ละประเภททำหน้าที่ต่างกัน ปริมาณสารที่ค้นพบในเลือดแต่ละหลอดจึงต่างกันไปด้วย ดังนั้น เวลาต้องเจาะเลือดเพื่อหาสารใด จะมีกรรมวิธีที่ระบุชัดเจนว่า ต้องเจาะตัวอย่างเลือดมาจากหลอดเลือดใด บริเวณไหนนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปว่า เลือดแต่ละตำแหน่งค่ามาตรฐานและค่าเฉลี่ยของสารต่าง ๆ จะไม่เท่ากัน ดังนั้น ไม่สามารถนำผลเลือดจากหลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำมาแทนกันได้ ยกเว้นในการตรวจบางอย่างที่ทางการแพทย์ทดสอบและระบุมาแล้วว่า สามารถใช้แทนกันได้ เช่น การตรวจหาแลคเตตจากหลอดเลือดแดง สามารถตรวจจากหลอดเลือดดำได้เช่นกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ค่าระดับน้ำตาลของทั้งสองวิธีแตกต่างกันได้อีก เช่น เทคนิคและวิธีการเจาะเลือด ระดับกลูโคสที่เครื่องสามารถตรวจวัดได้ มาตรฐานของเครื่องตรวจน้ำตาลแต่ละยี่ห้อ ดังนั้น หากต้องการได้ค่าการตรวจน้ำตาลที่แม่นยำ นอกจากวิธีที่การตรวจที่ถูกต้องแล้ว การเลือกซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลที่ได้มาตรฐานก็มีส่วนสำคัญ
5 เทคนิคเลือกซื้อ เครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว ให้ได้ของดีมีคุณภาพ!ค่าที่ได้ไม่เหมือนกัน แล้วแบบนี้ควรเชื่อค่าไหนดี?
เราสามารถใช้ค่าระดับน้ำตาลทั้งสองพิจารณาร่วมกันได้ค่ะ แต่หากในกรณีที่ใช้วินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่เป็นโรคเบาหวาน เราจะยึดจากผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จากเส้นเลือดดำด้วยวิธีเจาะข้อพับแขน ซึ่งคนที่สามารถวินิจฉัยให้ได้มีแต่แพทย์เท่านั้นค่ะ ส่วนหากเป็นกรณีที่ต้องการติดตามผลการรักษา ป้องกัน หรือประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน สามารถเช็กผลด้วยวิธีเจาะปลายนิ้วเองที่บ้านได้เลยค่ะ
สนใจ เครื่องตรวจน้ำตาล ตรวจเบาหวาน อุปกรณ์ครบชุด คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมตรวจน้ำตาลในเลือด ด้วยตนเองอย่างไร? ให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
การตรวจน้ำตาลในเลือด แบบเจาะปลายนิ้วด้วยตนเอง หากตรวจผิดวิธีก็อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อนได้ ซึ่งในหลายครั้ง ค่าระดับน้ำตาลจากการเจาะปลายนิ้ว ต่างจากค่าน้ำตาลที่ได้จากการเจาะจากข้อพับแขน เกิน 15-20 มก./ดล. ที่เป็นผลมาจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเรามาดูสิ่งที่ควรระวังและพึงปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อนน้อยที่สุดกันค่ะ
- ก่อนทดสอบต้องตรวจเช็กวันหมดอายุ หรืออายุการใช้งานของแผ่นทดสอบทุกครั้ง ซึ่งวันหมดอายุสามารถตรวจสอบได้ที่ข้างกล่องบรรจุ และหากเปิดใช้งานแผ่นทดสอบแล้ว แผ่นทดสอบจะหมดอายุหลังจากเปิดใช้งาน 90 วันหรือประมาณ 3 เดือน
- ก่อนทำการเจาะเลือดจะต้องทำความสะอาดมือทุกครั้ง และเช็ดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ก่อน จากนั้นรอให้แอลกอฮอล์แห้งก่อนจึงค่อยเริ่มทำการเจาะเลือด
- เลือกใช้ปากกาเจาะเลือดที่สามารถปรับระดับความลึกได้ เพราะการเจาะที่ลึกหรือตื้นไป ส่งผลต่อปริมาณตัวอย่างเลือดและการปนเปื้อน ซึ่งอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้
- เมื่อเจาะเลือดแล้ว ควรเช็ดเลือดหยดแรกทิ้งด้วยสำลีแห้งเสมอ เพราะเลือดหยดแรกอาจเกิดการปนเปื้อนได้
- สิ่งสำคัญ เมื่อเจาะเลือดแล้ว ต้องไม่บีบเค้นเลือดเด็ดขาด เพราะจะทำให้ได้น้ำเลือดหรือน้ำเหลือง ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคส ออกมามากกว่าปกติ
- ห้ามถู ป้าย หรือหยดตัวอย่างเลือดลงบนแผ่นทดสอบ ให้ใช้วิธีถือตัวเครื่องให้แผ่นทดสอบจ่ออยู่บนหยดเลือด แล้วแผ่นทดสอบจะทำการดูดตัวอย่างเลือดขึ้นมาเอง
- ทุกครั้งที่ใช้งาน ต้องเปลี่ยนเข็มเจาะเลือดและแผ่นทดสอบทุกครั้ง
- การตรวจในช่วงอดอาหาร 8 ชั่วโมงและหลังทานอาหาร มีผลทำให้ค่าระดับน้ำตาลที่วัดได้แตกต่างกัน
- อุณหภูมิขณะทดสอบเองก็มีผลต่อการอ่านค่าของเครื่องวัดระดับน้ำตาล ควรหลีกเลี่ยงการนำไปใช้งานในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแต่ละเครื่อง และควรจัดเก็บแผ่นทดสอบตามช่วงอุณหภูมิที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
สรุป
การตรวจน้ำตาลในเลือด หรือตรวจเบาหวาน เป็นเรื่องปกติที่ค่าระดับน้ำตาล จะไม่ได้เท่ากันเป๊ะ ๆ ทุกครั้ง ยิ่งเจาะเลือดโดยวิธีที่ต่างกัน ตัวอย่างเลือดมาจากหลอดเลือดคนละหลอด หรือคนละบริเวณ ก็ย่อมแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งการเจาะเลือดจากปลายนิ้วเหมือนกัน ก็ยังเกิดความแตกต่างกันได้ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของค่าระดับน้ำตาลนี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้อีกเช่นกัน เช่น ขั้นตอนการตรวจ ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เป็นต้น