ตะคริว เกิดจาก อะไร? ทำไมผู้สูงอายุมักเป็นตอนกลางคืน? รับมือได้ตามนี้เลย!

ตะคริว เกิดจาก

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         มีใครสังเกตเห็นผู้สูงอายุที่บ้านเป็นตะคริวบ่อย ๆ ไหมคะ? โดยเฉพาะตอนกลางคืน บางท่านถึงกับต้องตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะปวดตะคริวจนทนไม่ไหว ไม่ว่าจะตะคริวที่ขา น่อง หรือเท้า ต่างก็ปวดไม่แพ้กัน งสัยไหมคะว่า ตะคริว เกิดจาก อะไร? ถ้าไม่อยากให้ผู้สูงอายุทรมานบ่อย ๆ จะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง? ถ้าสงสัยอยู่ล่ะก็ มาทำความรู้จักกับตะคริวในผู้สูงอายุ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาที่น่ากวนใจนี้ เกิดขึ้นกับคนที่คุณรักค่ะ

ตะคริว เกิดจาก

สารบัญ

ตะคริว เกิดจาก อะไร? ทำไมผู้สูงอายุถึงชอบเป็นตอนกลางคืน?

ตะคริว (Muscle cramps) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง จนเกิดเป็นก้อนแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดขึ้นบริเวณน่องและขา ส่งผลให้เกิดอาการปวด หรือเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณนั้น โดยตะคริวจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่สามารถล่วงรู้หรือบังคับ ให้เกิดหรือไม่เกิดขึ้นได้ โดยตะคริวมักจะเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ ชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นอาการเจ็บปวดต่าง ๆ จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปเอง แต่ในบางรายก็ใช้ระยะเวลานานกว่าจะทุเลาลง หรือบางรายอาจจะเป็นตะคริวได้บ่อย จนทำให้เกิดความทรมานหรือรู้สึกหงุดหงิดได้

ตะคริว เกิดจาก

         ตะคริว เกิดจาก อะไร ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย หรืออาจเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี (อ้างอิงข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล) อีกทั้ง จากการศึกษาพบว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดตะคริวในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดตะคริวในตอนกลางคืน ดังนี้

  • ผู้สูงอายุอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้ขยับ
  • เซลล์กล้ามเนื้อเสื่อมถอย ตามอายุที่มากขึ้น
  • ขาดการออกกำลังกาย มวลกล้ามเนื้อจึงลดลง หรือออกกำลังกายโดยที่ไม่ได้มีการยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงเกินไป
  • ดื่มน้ำน้อย หรือดื่มแอลกอฮอล์ (ทำให้เพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ) ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
  • ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ จากอาการท้องเสีย อาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน หรืออากาศที่ร้อน

ตะคริว

อ่านบทความ : อาการโรคพาร์กินสัน ปัญหาทางด้านร่างกายที่ส่งผลกระทบถึงด้านจิตใจ

เมื่อผู้สูงอายุเป็นตะคริว จะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง?

เวลาที่เจอผู้สูงอายุที่บ้านเป็นตะคริว ผู้ดูแลหลายคนมักจะบรรเทาอาการปวดด้วยการบีบหรือนวดใช่ไหมล่ะคะ แต่บางครั้งบีบนวดไปเท่าไหร่ ผู้สูงอายุก็ยังปวดอยู่เหมือนเดิม งั้นลองมาดูวิธีรับมือกับอาการตะคริว ซึ่งเป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ผู้ดูแลสามารถทำได้ไม่ยาก หรือแม้แต่ผู้สูงอายุก็สามารถทำได้ด้วยตนเองค่ะ

นวดตะคริว

  1. เริ่มจากการพักการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวทันที โดยให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว
  2. ค่อย ๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวช้า ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าผู้สูงอายุเป็นตะคริวที่น่อง จะสังเกตเห็นปลายเท้าจิกชี้ลงพื้น ให้พยายามค่อย ๆ ดันปลายเท้าขึ้น แล้วกระดกช้าๆ
  3. ให้ใช้มือค่อยๆ นวดส่วนที่เป็นตะคริว เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ หากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งมาก ให้ใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็นตะคริว เพื่อช่วยบรรเทาอาการลง
  4. เมื่อตะคริวหายแล้ว แล้วพบว่าผู้สูงอายุยังมีอาการปวดอยู่ ซึ่งเกิดจากตอนที่เป็นตะคริวกล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ผู้สูงอายุกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล และช่วยทายานวด เพื่อบรรเทาอาการปวด
  5. หากพบว่าผู้สูงอายุเป็นตะคริวบ่อย จนรบกวนการนอนทำให้ต้องตื่นกลางดึก หรือนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางรักษา เพราะไม่อย่างนั้น จะทำให้ผู้สูงอายุพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนเกิดผลเสียทั้งทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจได้
อ่านบทความ : ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ตื่นตอนกลางคืน เป็นเรื่องปกติที่ควรปล่อยผ่านจริงเหรอ?
เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้สูงอายุ ช่วยป้องกันการมาเยือนของตะคริวได้!

แม้ตะคริวจะเป็นภัยที่เกิดได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่เราสามารถป้องกันได้ค่ะ แค่เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เป็นวิธีที่หากทำแล้วนอกจากจะช่วยป้องกันตะคริว ยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย มาดูกันเลย

แก้ตะคริว

เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า รุ่น Dali Low Entry สามารถปรับท่าทางให้อยู่ในลักษณะชันเข่าได้

ตะคริวตอนกลางคืน

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่นั่ง นอน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ ฝึกเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่หนักเกินกำลัง และที่สำคัญก่อนออกกำลังกายต้องยืดกล้ามเนื้อทุกครั้ง
  • ปรับพฤติกรรมการกิน โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ผู้สูงอายุที่มักเป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อย ๆ อาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น หรือดื่มนมก่อนเข้านอน จะช่วยลดการเกิดตะคริวได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นมาก ๆ

สรุป

จะเห็นได้ว่า โดยส่วนใหญ่ที่ผู้สูงอายุเป็น ตะคริว เกิดจาก ร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดตะคริว แม้ตะคริวจะไม่ได้เป็นโรคภัยที่ร้ายแรงมาก แต่ก็สร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้สูงอายุไม่น้อยเลยล่ะค่ะ อีกทั้งหากเป็นขึ้นมาอย่างกะทันหัน ก็เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด อย่างการสะดุดล้มหรือหกล้ม ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้ อาจนำไปสู่การบาดเจ็บที่ร้ายแรงได้เลยนะคะ ดังนั้น แม้อาการตะคริวในผู้สูงอายุ จะพบได้บ่อยจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามเลยล่ะค่ะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup